xs
xsm
sm
md
lg

Green Vision :พระมหากรุณาธิคุณด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีความรู้ความเข้าใจต่อปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดียิ่ง พระองค์ทรงเป็นปราชญ์ในเรื่องดิน น้ำ ลม ไฟทั้งหมด พระองค์ได้พระราชทานแนวพระราชดำริในการพัฒนาช่วยเหลือเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
โดยพระองค์ได้ทรงคิดค้น ดัดแปลง ปรับปรุงและแก้ไขให้การพัฒนาเป็นงานที่ดำเนินการไปได้โดยง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ทำสิ่งที่ยากให้กลายเป็นง่าย และสอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่และระบบนิเวศน์โดยส่วนรวม ตลอดจนสภาพทางสังคมของชุมชนนั้น โดยทรงให้ยึดหลักภูมิสังคม คือยึดหลักภูมิประเทศและยึดหลักวิถีชีวิตของคน อาทิ
การพัฒนาทรัพยากรดิน พระองค์ทรงมีความรู้เรื่องดินทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น ดินเปรี้ยว ดินเค็ม ดินพรุ ดินพังทลาย ฯลฯ ดังนั้นพระองค์จึงได้พระราชทานทฤษฎีวิธีการแนวทางแก้ไขปัญหาและที่แปลกที่สุดคือไม่มี ในตำรา เช่น ไปเจอดินเปรี้ยว ดินพรุ ตำราของกรมพัฒนาที่ดินให้ใส่ปูนขาวลงไปก็จะหายเปรี้ยว พระองค์รับสั่งว่าใช้ระบบซักผ้าสิเอาน้ำฝน เอาน้ำจืด เข้าไปชำระล้างเสร็จก็ถ่ายน้ำกร่อยออกไป น้ำเปรี้ยวออกไป สักระยะหนึ่ง ดินก็จืด สามารถทำการเพาะปลูกได้ เป็นวิธีการที่แปลกที่นักพัฒนา ผู้เชี่ยวชาญเรื่องดินเองก็งง แต่ที่น่าทึ่งที่สุดที่สำเร็จหาทางออกได้มีทางแก้สิ่งนั้นได้และสำหรับดินพังทลายพระองค์ทรงมีพระราชดำริให้นำหญ้าแฝกมาใช้ในแก้ปัญหาการพังทลายของดิน ซึ่งเวลานี้กระจายใช้ไปแล้วทั่วโลก
ในการพัฒนาทรัพยากรแหล่งน้ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสว่า “น้ำคือชีวิต” พระองค์จึงได้ทรงคิดหาวิธีบริหารจัดการ “น้ำ” อาทิ พระราชทานฝนเทียมหรือฝนหลวงในปี พ.ศ. 2512 พระราชทานพระราชดำริทำฝายเก็บกักน้ำ (ฝายชลอน้ำ) ตามแนวร่องหุบเขา ซึ่งเมื่อดินชุ่มชื้นก็ส่งผลให้ป่างอกงามเจริญเติบโตและเมื่อป่าอุดมสมบูรณ์ก็จะเกิดปรากฎการณ์น้ำฝนตกต้องตามฤดูกาล สำหรับในการแก้ปัญหาน้ำท่วม ในกรณีน้ำที่ถูกกักเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่หรือเขื่อนที่มีปริมาณน้ำมากเกินความจำเป็นจนทำให้อาจเกิดภาวะน้ำท่วม ทรงมีพระราชดำริให้ “ผันน้ำ” ที่มีปริมาณมากระบายสู่พื้นที่ลุ่มที่มีน้ำน้อยกว่า ขณะเดียวกันเมื่อพื้นที่ลุ่มมีปริมาณน้ำมากผนวกกับน้ำทะเลมีระดับสูงขึ้น ปริมาณน้ำจากแผ่นดินไม่สามารถไหลออกทะเลได้ จะทรงหาวิธีระบายน้ำส่วนเกินออกไปเก็บไว้ที่บ่อพักน้ำ เป็นวิธีที่ทรงเรียกว่า “แก้มลิง” เมื่อระดับน้ำทะเลลดต่ำลงจึงค่อยๆทยอยระบายออกไปทีหลัง สำหรับการป้องกันน้ำท่วมใหญ่ในระดับประเทศนั้นได้มีพระราชดำริดำเนินการหลายจุด เช่น พระราชดำริให้สร้างเขื่อนใหญ่ 3 เขื่อน คือ เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก เขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ และการก่อสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นต้น
สำหรับการบำบัดน้ำเสียพระองค์ทรงนำธรรมชาติเข้ามาแก้ไขธรรมชาติ ได้แก่ การใช้น้ำดีไล่น้ำเสียโดยการควบคุมระดับน้ำและอาศัยหลักการไหลของน้ำตามธรรมชาติ การใช้เครื่องกรองน้ำธรรมชาติ โดยการใช้วัชพืชอันได้แก่ ผักตบชวา มาทำหน้าที่ดูดซับความสกปรกและสารพิษ ทรงเรียกว่าเป็นวิธีการ “นำอธรรมสู้กับอธรรม” รวมทั้งการบำบัดน้ำเสียด้วยระบบบ่อบำบัดน้ำเสียและการใช้ป่าชายเลนบำบัดน้ำเสีย เช่น โครงการวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เป็นการบำบัดน้ำเสียโดยทรงนำเอาธรรมชาติเข้าแก้ไข น้ำเน่าเพชรบุรีถูกนำมาบำบัดที่นั่นก่อนที่จะปล่อยลงทะเลไป แหลมผักเบี้ยเป็นที่บำบัดน้ำเสียที่มีคนไปเที่ยวเป็นจำนวนมาก
ในปี พ.ศ. 2531 พระองค์ได้พระราชทานกังหันน้ำชัยพัฒนาสำหรับใช้บำบัดน้ำเสียในแหล่งน้ำธรรมชาติ และ “กังหันน้ำชัยพัฒนา”ได้รับรางวัล 5 รางวัล ในงานวันนักประดิษฐ์ของโลก ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม โดยทรงได้รับจาก The Belgium Chamber of Inventor ซึ่งเป็นองค์กรสิ่งประดิษฐ์ที่เก่าแก่ที่สุดของยุโรป จำนวน 5 รางวัล และได้มีการขอพระราชทานกังหันน้ำชัยพัฒนาไปตั้งที่สวนสาธารณะโวลูเว แซงค์ ปิแอร์ กลางกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เพื่อบำบัดน้ำเสีย
ด้านการพัฒนาทรัพยากรป่าไม้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานทฤษฎีการพัฒนา ฟื้นฟูป่าไม้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ แนวพระราชดำริในการอนุรักษ์และพัฒนาป่าทำให้สามารถฟื้นฟูสภาพป่าประเภทต่างๆ ให้กลับสมบูรณ์ดังเดิม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นต่อแผ่นดินไทยและประชาชนชาวไทย ทรงนำความเจริญก้าวหน้า ความมั่นคงและการพัฒนาที่ยั่งยืนมาสู่ประเทศชาติ สู่พสกนิกรของพระองค์ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยความผาสุกภายใต้ร่มพระบารมีของพระองค์ตลอดไป ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

“พระองค์ทรงเป็นปราชญ์ในเรื่องดิน น้ำ ลม ไฟทั้งหมด พระองค์ได้พระราชทานแนวพระราชดำริในการพัฒนาช่วยเหลือเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น”
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล
เลขาธิการ มูลนิธิชัยพัฒนา
กำลังโหลดความคิดเห็น