xs
xsm
sm
md
lg

“สามพรานโมเด็ล” เอาจริง ผสานมือพัฒนาโซ่อุปทานสินค้าเกษตรอินทรีย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อ.สามพราน ร่วมกับ อบต. 17 ตำบล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และภาควิชาการ ลงนามความร่วมมือ ในโครงการ สามพรานโมเดล  เพื่อร่วมกันก้าวข้ามการใช้สารเคมี สู่การทำเกษตรอินทรีย์ และร่วมกันพัฒนาโซ่อุปทานสินค้าเกษตรอินทรีย์  ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยเฉพาะผู้บริโภค ให้ตระหนักถึงพิษภัยของสารเคมี  ทั้งนี้ ทุกส่วนหวังพลิกฟื้น คืนชื่อเสียงอันลือเลื่อง ว่าสามพรานเป็นแหล่งปลูกและจำหน่ายพืชผักผลไม้คุณภาพดี
40 หน่วยงาน จ.นครปฐม และพื้นที่ใกล้เคียงผสานแรง เอาจริงเรื่องเกษตรอินทรีย์ หวังฟื้นชื่อเสียงอำเภอสามพรานในอดีต “แหล่งปลูกผักผลไม้คุณภาพดี” ให้กลับคืนมุ่งช่วยยกระดับเกษตรกรสู่การได้รับมาตรฐาน IFOAM มั่นใจสิ้นปีนี้กว่า 30 ราย ได้มาตรฐาน
มนู สร้อยพลอย
มนู สร้อยพลอย นายอำเภอสามพราน กล่าวว่า สามพรานนั้นเป็นพื้นที่เพาะปลูกและจำหน่ายผลไม้ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ ผลผลิตที่นี่เป็นที่ยอมรับเรื่องคุณภาพ แต่ปัจจุบันกระแสของการโฆษณาในเรื่องต่างๆ ทำให้เกษตรกรสำคัญผิดในเรื่องการเพิ่มคุณภาพ และปริมาณพืชผักผลไม้ด้วยสารเคมีทำให้มีต้นทุนสูง มีการใช้สารเคมีในการเกษตรกันอย่างแพร่หลาย ทางอำเภอตระหนักถึงพิษภัยของสารเคมี จึงได้ร่วมกับหลายภาคส่วนร่วมมือนำโมเดลที่เรียกว่า "สามพรานโมเดล"
“สามพรานโมเด็ล” ขับเคลื่อนโดยมูลนิธิสังคมสุขใจ ซึ่งมีคุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม เป็นประธานมูลนิธิฯ โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันวิชาการด้านสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(บางเขน) เพื่อสร้างความร่วมมือกับทั้งหน่วยงานราชการ ท้องถิ่น พลังชุมชน เกษตรกร และนักวิชาการ โดยช่วยกันปรับเปลี่ยนแนวคิดในการทำเกษตรตั้งแต่ต้นทาง ไม่ว่าจะเป็นตัวเกษตรกรผู้ปลูก เรื่องดิน เรื่องน้ำ ผลิตผล รวมถึงระบบการทำตลาด” เราจะทำแบบครบวงจร เพื่อให้การเกษตรของอำเภอสามพรานดำรงอยู่อย่างยั่งยืน"
แต่ยังพบว่าปัญหาใหญ่ของเกษตรกร คือเรื่องตลาดและราคา เกษตรกรที่ปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรแบบอินทรีย์ ยังไม่มีความมั่นใจในเรื่องการตลาดและการกำหนดราคา ในส่วนนี้ภาคเอกชนสามารถเข้ามาสนับสนุนได้ โดยเฉพาะโครงการ "สามพรานโมเดล" เชื่อว่าจะช่วยเชื่อมโยงเกษตรกรไปสู่การตลาดโดยสามารถกำหนดราคาสินค้าได้อย่างเป็นธรรม
อรุษ นวราช
ด้าน อรุษ นวราช เลขานุการมูลนิธิสังคมสุขใจ และกรรมการผู้จัดการสามพราน ริเวอร์ไซด์ เล่าถึงที่มาของโครงการ "สามพรานโมเดล" "เกิดจากแนวคิดที่อยากได้ผัก ผลไม้ ที่เป็นอินทรีย์ บริการกับลูกค้าที่มาใช้บริการของสามพราน ริเวอร์ไซด์ จึงเริ่มต้นด้วยการปลูกผักอินทรีย์ใน พื้นที่ 30 ไร่ตรงข้ามฝั่งแม่น้ำของสามพราน ริเวอร์ไซด์ เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบตามห้องอาหารของโรงแรม แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ต่อมามีเกษตรกรบางส่วนในพื้นที่ใกล้เคียงต้องการจะปรับเปลี่ยนการทำเกษตรแบบเคมีมาสู่อินทรีย์ แต่ยังขาดองค์ความรู้ และที่สำคัญที่สุดคือตลาด จึงเข้ามาร่วมกับสามพราน ริเวอร์ไซด์ เกิดขึ้นเป็นกลุ่มธุรกิจเชิงคุณค่าสามพราน
“4 ปีก่อน ผมเริ่มคุยกับเกษตรกรว่าอยากซื้อผลผลิตอินทรีย์ แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่อยากเปลี่ยนเป็นระบบอินทรีย์ เพราะคิดว่าทำยากให้ผลผลิตน้อย และไม่มีตลาดรองรับ ดังนั้นผมจึงเริ่มทำตลาดทางเลือกให้กับเกษตรกร คือ ตลาดสุขใจในปัจจุบัน เปิดดำเนินการมาแล้วเกือบ 4 ปี จำหน่ายพืชผักอินทรีย์และอาหารปลอดภัย โดยทางตลาดมีการตรวจสอบสารเคมีตกค้างเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ช่วงแรกตลาดยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักมีคนมาวันละไม่ถึง 100 คน แต่ปัจจุบันมีวันละประมาณ 1,000 คน เปิดขายเฉพาะวันเสาร์และวันอาทิตย์ มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 2.1 ล้านบาท"
จากจุดเริ่มต้นสร้างการเปลี่ยนแปลง จนสามารถสร้างความมั่นคงเป็นตลาดทางเลือกให้เกษตรกรได้ นำไปสู่การขยายผล พบว่าหัวใจสำคัญของการพัฒนาและขยายผลสู่ความยั่งยืน คือ จะต้องมีเครือข่ายมาร่วมด้วยช่วยกัน ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าภาพ โดยมูลนิธิสังคมสุขใจ ซึ่งผ่านประสบการณ์ในการทำเรื่องเกษตรอินทรีย์ จะเป็นพี่เลี้ยงช่วยเหลือให้คำแนะนำกับเกษตรกร
“ในห่วงโซ่อุปทาน ตลาดสุขใจ ทำหน้าที่เป็นจุดโชว์สินค้าและกระจายสินค้า แต่หากจะเปลี่ยนที่ต้นทาง ที่เป็นต้นน้ำ เราจะต้องได้ใจเกษตรกร มาช่วยสนับสนุน ซึ่งการจะเปลี่ยนเกษตรกรที่ใช้สารเคมีมานาน เราต้องเชื่อมโยงกับเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่การอบรมแค่หนเดียว สิ่งที่เราทำคือ ทีมเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิสังคมสุขใจ จะหมุนเวียนไปเยี่ยมแปลงของเกษตรกรเกือบทุกวัน พร้อมให้คำปรึกษา แนะนำ หากเขาต้องการความรู้เฉพาะทาง เราก็ประสานไปให้ ซึ่งเป็นที่น่าดีใจ ที่เกษตรกรมีการรวมกลุ่ม ช่วยเหลือกัน ทำให้ช่วยลดต้นทุนได้ด้วย คือบางคนทำปุ๋ย ทำน้ำหมัก หรือรวบรวมสินค้าไปส่ง ทำเป็นเชิงกลุ่ม เกษตรกรที่ทำธุรกิจเป็น จะมีการจดบันทึกซึ่งสำคัญมากในการทำเกษตรอินทรีย์ ทั้งนี้ เราต้องการให้เกษตรกรได้คือ มาตรฐาน IFOAM - International Federation of Organic Agriculture Movements ซึ่งคาดว่าจะมีเกษตรกรในโครงการฯได้รับรองมาตรฐานในปีนี้ประมาณ 30 ราย
จุดมุ่งหมาย "สามพรานโมเดล" 
ต้องการพัฒนาอำเภอสามพราน ให้เป็นอำเภอปลอดสารเคมี ให้เป็นแหล่งใหญ่ในการผลิตสินค้าอินทรีย์ อีกทั้งอยากให้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งการที่พัฒนาสินค้าอินทรีย์ ต้องพัฒนาไปทั้งโซ่อุปทาน ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ผู้บริโภค พัฒนาไปด้วยกัน ไม่ใช่ทำที่ใดที่เดียว การพัฒนาทั้งโซ่ โยงเกี่ยวกับภาคส่วนอื่นๆ ในพื้นที่ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเกษตรกรอย่างเดียว อย่างโรงงานที่เป็นเอกชนก็สามารถเข้ามาซื้อสินค้าอินทรีย์ได้ด้วย บริษัทห้างร้านก็สามารถช่วยได้ ที่สำคัญคือภาครัฐในท้องถิ่น ทั้งเกษตร สิ่งแวดล้อม สาธารณสุขเหล่านี้จะมาจับมือกัน ช่วยกันขับเคลื่อนในพื้นที่ไปด้วยกัน โดยแต่ละหน่วยงานทำในเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่อาจจะไม่ได้ประสานกัน
พยายามบูรณาการให้ทุกภาคส่วนขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน ตอนนี้มีการทำเกษตรอินทรีย์ในโรงเรียน และวัด ปลูกฝังวิถีอินทรีย์ ให้กับเด็กนอกเหนือจากการปลูกผักปลอดภัยไว้บริโภคเป็นอาหารกลางวัน คือวิถีอินทรีย์ยั่งยืนและเป็นผลดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม พอไปเชื่อมโยงกับทางวัดก็มีโครงการที่จะเชื่อมโยงกับชุมชนเป็นศูนย์กลางของชุมชนในต่างจังหวัด เรื่องคนชรา และคนพิการ ทำให้"สามพรานโมเดล" เริ่มขยายไปในท้องถิ่น เป็นการยกระดับเป้าหมาย คือชุมชนแห่งความสุข
กำลังโหลดความคิดเห็น