xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤต + CSR = โอกาส / ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ถ้าจะพูดถึงองค์กรที่เกิดจากการรวมตัวกันของกิจกรรมส่งเสริมสังคมให้เปลี่ยนแปลงไปในแนวทางที่ดี โดยเฉพาะเน้นในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยความถูกต้องและเป็นธรรม สอดคล้องกับกระแสโลกที่เห็นว่ามีปัญหาวิกฤตที่ต้องเร่งปฏิรูปและแก้ไข เช่น ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน

เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือ กลุ่ม SVN (Social Venture Network) เป็นองค์กรที่ผมเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวด้วยความสนใจว่าน่าจะจุดประกายความคิดดีทำดีให้ต่อเนื่อง
เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้มีโอกาสไปร่วมงานประชุมใหญ่ SVN Asia Thailand ที่สยามสมาคม มีการเสวนายั่วความอยากรู้ว่า “ปฏิรูปสังคมไทย ความท้าทายของนักธุรกิจ” ก็ได้พบปะนักบริหารผู้ใฝ่ดีที่ไปร่วมงานมากหน้าหลายตา
ย้อนอดีตตำนานการก่อตั้ง SVN เมื่อปี 2540 ช่วงนั้นการเรียกขาน CSR ยังไม่มีใครรู้จัก ปรีดา เตียสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ แพรนด้า จิวเวลลี่ นักธุรกิจ ซึ่งติดต่อธุรกิจกับต่างประเทศได้เห็นตัวอย่างกิจกรรมที่ดี และจากจุดเริ่มต้นที่ อาจารย์ สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ นำแนวคิด CSR มาแนะนำให้รู้เมื่อ 17 ปีที่แล้ว โดยไปเชิญชวนนักธุรกิจทั้งจากสหรัฐอเมริกา ยุโรป มาพบกับนักธุรกิจไทย นำไปสู่การก่อตั้งเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย นับเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชีย และต่อมาได้ขยายเครือข่าย SVN ไปถึงญี่ปุ่น เวียดนาม เป็นต้น
“ในช่วงแรกผมได้รับตำแหน่งประธานต่อเนื่อง 4 สมัยรวม 8 ปี โดยพยายามจะหาผู้สืบทอดมาตลอด ในยุคแรกๆ ซึ่งเป็นกรรมการหอการค้าด้วย เมื่อนำแนวคิด CSR ไปเผยแพร่ให้นักธุรกิจรับรู้ ใครๆก็คิดว่าเป็นเรื่องแปลกที่มาพูดให้รับผิดชอบต่อสังคมเหมือนว่ามาจากโลกพระจันทร์ ไม่ค่อยมีใครเข้าใจเพราะตอนนั้นยังไม่มีนิยามความหมาย CSR”
เครือข่าย SVN ในระดับสากลนั้นริเริ่ม โดยกลุ่มธุรกิจในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ราว 20 ปีที่ผ่าน โดยการสนับสนุนขององค์การสหประชาชาติ ซึ่ง ปรีดา มีความเห็นว่า ปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดกับโลกใบนี้ กลุ่มคนที่จะปฏิรูปโลกได้ คือ นักธุรกิจ เพราะมีพลังทางเศรษฐกิจหากผลักดันไปในแนวทางที่ดีก็จะมีคุณค่าต่อโลก
ส่วน สุทธิชัย เอี่ยมเจริญยิ่ง สะท้อนความพยายามของ SVN ในการสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ CSR ในยุคที่เขาเป็นประธานคนต่อมาว่า ธุรกิจส่วนใหญ่ก็ยังต้องแสวงหากำไรสูงสุด ส่วนใหญ่สนใจแต่การทำกิจกรรมที่เรียกว่า “คืนกำไรให้กับสังคม” ซึ่งเราพยายามบอกว่า มันไม่ใช่เรื่องการคืนกำไร ดังนั้น CSR จึงกลายเป็นเครื่องมือทางการตลาดแบบใหม่ ความพยายามของ SVN ในช่วงนั้นจึงมุ่งไปที่ความพยายามสร้างความเข้าใจให้ธุรกิจเห็นว่าทำไมต้องมี CSR ในการทำธุรกิจ
มีคำกล่าวที่ว่า “ธุรกิจไม่สามารถเติบโตได้ ภายใต้ในสังคมที่ล้มเหลว” ฉะนั้นคุณจะเอาตัวรอดในสังคมที่เน่าเฟะ มันก็ไม่ยั่งยืน
ขณะที่อีกแนวคิดที่ใช้เชิญชวนให้ธุรกิจมีจิตสำนึก สรุปเป็นสมการวิกฤต คือ Crisis+CSR = Opportunity) หรือ Opportunity-CSR = วิกฤติ นอกจากนี้ ยังพยายามให้ปรับความคิดว่า CSR ไม่ใช่เรื่อง “การคืนกำไร” เราจึงเน้นเสมอว่า “ CSR Concerns how to make Profit more than How to Spend Profit”
“เราสนใจว่าวิถีการทำกำไรของธุรกิจนั้น มาจากการเอารัดอาเปรียบใครหรือเปล่า มากกว่าจะสนใจว่าคุณเอากำไรไปทำอะไร เพราะถ้าทำเช่นนั้น มันเป็นเพียงส่วนเดียวของการดำเนินงานตามมาตรฐาน ISO 26000”


ขณะที่ วีระเดช สมบูรณ์เวชชการ ประธาน SVN คนต่อมา สะท้อนว่า ธุรกิจเล็กหรือใหญ่ก็สามารถมี CSR ได้ จึงมีการให้รางวัลองค์กรเล็ก ที่ทำดี จากการได้รับการเสนอชื่อให้รับรางวัล SVN Award 2551 ในวันนั้นก็ไม่รู้จัก SVN มาก่อน จนเมื่อประธานสุทธิชัย และคณะกรรมการ ได้ติดต่อ ว่าธุรกิจกาแฟดิโอโร่เป็นบริษัทที่เข้าข่ายของการดูแลรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จากวันนั้นถึงวันนี้ ก็ย่างเข้าสู่ปีที่ 6 แล้ว
“ผมได้รับตำแหน่งเป็นประธาน ในปี 2550 ก็ได้สานต่อเจตนารมณ์ ของ SVN ช่วงเวลานั้น คำว่า CSR เริ่มมีการกล่าวถึงค่อนข้างมาก ขณะเดียวกัน ก็มีประเด็นที่สังคมวิพากต์ CSR เทียม หรือ CSR ปลอม ผมจึงพยายามผลักดันให้ในภาคธุรกิจได้เห็น CSR ที่ถูกต้อง อย่างมีรูปธรรม บางครั้ง คนจะเข้าใจว่าการทำ CSR ต้องใช้เงินมาก ส่วนใหญ่กิจกรรม CSR จะมาจากแผนการตลาด ทุกองค์กรสามารถมี CSR ที่เกิดขึ้นได้ "
ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการในรุ่นนั้นจึงใส่ใจที่จะหาองค์กรต้นแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระดับใหญ่ หรือจะเป็นระดับเล็ก หรือแม้แต่เพียงร้านธรรมดาที่อยู่ริมถนน แต่มี CSR อยู่ในหัวใจ จึงเป็นที่มาของปี พ.ศ.2554-2555 มอบรางวัล SVN Award ที่มีนักธุรกิจระดับใหญ่ ระดับเล็ก ได้รับรางวัลมากกว่าที่เคยมี โดยรวบรวมทำเป็นหนังสือ “ ธุรกิจสร้างสรรค์พันธมิตรสังคม” องค์กรต่างๆ ได้เผยแพร่ วิธีการทำธุรกิจโดยใส่ใจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
คณะกรรมการ SVN อยากที่จะเผยแพร่แนวคิด CSR โดยใช้ประสบการณ์ของกรณีตัวอย่าง 15 องค์กร เป็นความรู้และแรงบันดาลใจได้เผยแพร่เข้าสู่ภาคการศึกษา ให้นิสิตนักศึกษาที่ใกล้จะจบจะได้เรียนรู้รูปแบบในธุรกิจคนที่ทำแล้ว ไม่ได้มุ่งแต่กำไรอย่างเดียว แต่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย
ส่วนประธานคนปัจจุบัน วัลลภ พิชญ์พงศา ได้เข้าร่วมกิจกรรมกับ SVN สมัยสุทธิชัย เป็นประธาน ในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา ก็ได้มีโอกาสฟังเสวนาและเยี่ยมชมองค์กรตัวอย่างหลาย ๆบริษัท ทำให้เห็นว่าการดูแลพนักงาน เช่น โครงการจัดการหนี้สินที่บริษัทแพนด้า ได้เรียนรู้การให้พนักงานปลดหนี้ ซึ่งเป็นความรับผิดชอบอย่างหนึ่งของผู้บริหารที่จะต้องดูแลชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นด้วย และมีความพยายามปลูกฝังให้พนักงานมีความซื่อสัตย์ มีความกตัญญู ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการทำให้ธุรกิจส่วนร่วมสร้างสรรค์สังคม หรือทำให้สังคมรวมทั้งพนักงานมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นได้

ข้อคิด...
เป็นความจริงที่การแสดงบทบาทส่งเสริม หรือช่วยเหลือสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นการแสดงออกให้สังคมรู้สึกดีว่ามี CSR มีผลให้ผู้เกี่ยวข้องฝ่ายต่างๆ รู้สึกเชื่อใจ และอยากคบ อยากค้าด้วย
ภาษาทางการตลาดจึงใช้คำสื่อสารว่า “คืนกำไรให้สังคม” ใน “กิจกรรมช่วยเหลือสังคม” เช่นเดียวกับ “การลดราคา” ทั้งๆ ที่ไม่ใช่
เพราะ CSR ควรเกิดจากพื้นฐานของจิตสำนึกในกระบวนการทำธุรกิจ (CSR-in-process) ด้วยการทำสิ่งที่มีคุณภาพ มีความถูกต้อง และเป็นธรรม เพื่อส่งมอบคุณค่าโดยไม่สร้างผลเสียต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ขณะเดียวกันก็มีความรับผิดชอบในการช่วยเหลือชุมชนและสังคม ในฐานะองค์กรที่มีความแข็งแรงกว่า ทั้งความชำนาญการเงิน และมีจิตอาสาในการดำเนินโครงการที่มีผลดีต่อชุมชนและสภาพแวดล้อม เพื่อให้องค์กรธุรกิจและสังคมก้าวหน้าไปด้วยกันอย่างยั่งยืน
ผมชอบใจการสรุปเป็นสมการที่ว่า วิกฤต + CSR = โอกาส เพราะแม้มีปัญหาวิกฤต (Crisis) แต่เมื่อมีความจริงใจ มีจิตสำนึกด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSR) ก็จะเท่ากับโอกาส (Opportunity) ในการแก้ไขและฟื้นฟูทุกอย่างให้ดีขึ้นได้ เป็นผลให้ได้พลิกวิกฤตเป็นศรัทธา
ในทางกันข้าม แม้มีโอกาสให้ได้มีอำนาจ หน้าที่ ได้ทำงาน หรือ ทำธุรกิจ แต่ขาดความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSR) ก็เท่ากับต้องเผชิญกับวิกฤตตามมาแน่
จากภาพใหญ่ความรับผิดชอบต่อโลก ย่อลงมาเป็นต่อประเทศ ต่อชุมชน ต่อองค์กร ต่อหน้าที่การงานของตน และต่อพันธสัญญาของตัวเองที่จะสร้าง “ผลงาน” ซึ่งจะส่ง “ผลลัพธ์” ส่งผลกระทบไปยังส่วนต่างๆ เป็นลำดับขึ้นไป ล้วนมีความสำคัญทุกระดับ การที่บุคคล หรือองค์กร จะโดยอิสระแต่ละส่วน หรือรวมกลุ่มกันทำหน้าที่ หากตระหนักในผลงานและผลลัพธ์ เมื่อคำนึงถึงผลดีต่อตนพร้อมกับต่อส่วนรวมไปด้วยกัน จึงเริ่มได้ที่ตนและกลุ่มที่ใกล้ชิดก่อนได้เลย
suwatmgr@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น