•ปลุกแนวร่วม“Active Citizen” ดึงทุกภาคส่วนร่วมสร้างสังคมไทยให้น่าอยู่
•ผู้ร่วมเสวนาประสานเป็นเสียงเดียว เร่งแก้ไข และสร้างความยั่งยืนที่ไม่แตกแยก
•กิจกรรม 4 วันเต็มๆ ดึงดูดประชาชนเข้าร่วมขบวนเปลี่ยนผ่านสู่สังคมไทยยุคใหม่
งาน “ต่างใจไทยเดียว” เมื่อวันที่ 14-17 กรกฎาคม ที่ผ่านมา บริเวณลานกิจกรรม ชั้น 1 เซ็นทรัลเวิล์ด จัดงานในรูปแบบที่ครบเครื่องซึ่งถือว่าสอดคล้องกับสถานการณ์ของบ้านเมือง โดยตั้งเป้าหมายช่วยการขับเคลื่อนสังคมไทยให้เดินหน้าต่อไปได้ และต้องการตอบโจทย์ให้แก่กลุ่มคนในภาคส่วนที่สำคัญของสังคม ซึ่งอาจจะพูดได้ “ต่างจิตต่างใจ” แต่เพื่อให้คนไทยเป็นน้ำหนึ่งเดียวกัน คือ “ไทยเดียว” ทุกส่วนในสังคมควรเข้ามามีส่วนร่วมช่วยกำหนดทิศทางในการพัฒนาประเทศร่วมกัน
รูปแบบการจัดกิจกรรมมีทั้ง “ฟัง” ความคิดเห็นของคนที่มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม จัดให้ “ชม” นิทรรศการการเรียนรู้ พร้อมการรับฟังความเห็นที่แตกต่าง ได้ “พบ” ความบันเทิงของดนตรีที่มีความต่างจากศิลปินที่ไม่เคยเล่นร่วมเวทีกันมาก่อน เช่น ศิลปิน ต้น AF8 กับวงดนตรีไทยหลวงประดิษฐไพเราะ (ศรศิลปะบรรเลง) ศิลปิน คุณชิ สุวิชาญ (ศิลปินปกาเกอะญอ) กับ แอน AF6 (เพลงสากล) ศิลปิน คุณเฮาดี้และทุกคนได้เข้าร่วม “ลงมือทำ” ผ่านกิจกรรมอาสามากมาย
ขณะที่บนเวทีจัดให้มีปาฐกถา และการเสวนาร่วมของกลุ่มคนในภาคส่วนต่างๆ ตลอด 4 วันจึงสามารถสะท้อนมุมมองจากหลากหลายคนที่มาร่วมให้ประสบการณ์ แนวคิด และการใช้ชีวิต รวมถึงข้อแนะนำเพื่อการปรับตัวให้สร้างสรรค์สังคมไทยที่น่าอยู่ขึ้น โดยเฉพาะจากข้อคิดดีๆ ของบุคคลเป็นที่ยอมรับในสังคมไทย
อย่างงานวันแรก วันที่ 14 ก.ค. ช่วงปาฐกถาไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในสมัยรัฐบาลชั่วคราวของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่ได้ชื่อว่าเป็นคนดีของสังคมไทย มีคุณหญิงชฎา วัฒนธรรมศิริธรรม ภรรยา และประธานมูลนิธิหัวใจอาสา ได้กล่าวนำเชิญชวนทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกันสร้างสรรค์ให้สังคมไทยน่าอยู่ พร้อมเข้ามาสร้างแรงบันดาลใจเพื่อให้ประชาชนเกิดการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน ซึ่งเวลานี้ยังไม่สายเกินไปถ้าทุกคนร่วมแรงร่วมใจ
ข้อคิดเห็นของ นพ.ประเวศ วะสี ประธานสมัชชาปฏิรูปประเทศ เป็นคนดีและเป็นที่ยอมรับของสังคมไทย ได้กล่าวว่า จากวิกฤตการเมืองที่ผ่านมาทำให้ประชาชนออกมาเรียกร้องความถูกต้องจำนวนมาก และเชื่อว่าสภาปฏิรูปที่จะเกิดขึ้นจะไม่มีความสำคัญ หากยังขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่เข้มแข็ง ถ้าประเทศไทยจะเดินหน้าปฏิรูป ควรตั้งภาคประชาชนขึ้นมาก่อน เพื่อสร้างสังคมให้เข้มแข็ง ที่ผ่านมาเป้าสนใจมักไปอยู่ที่กลไกทางการเมือง จึงไม่ได้ทำสังคมเป็นประชาธิปไตยแท้จริงซึ่งใหญ่กว่าการเมือง ส่วนการพัฒนาทั้งระบบกฌจะต้องเชื่อมโยงทุกคนเข้าด้วยกัน และอย่ามองข้ามการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ซึ่งในภาพรวมปัญหาข้อกฎหมายในอดีตมักแก้ไปกันด้วยการสร้างองค์กรใหม่ขึ้นมาแต่ไม่ได้ใช้กลไกไปแก้ไขที่ตัวปัญหาอย่างตรงประเด็น
ขณะที่ ประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นประเทศไทย กล่าวว่าคอร์รัปชั่นไทยยังมีอยู่มาก ต้องสร้างพฤติกรรมให้คนซื่อสัตย์สุจริตและปลูกจิตสำนึกมากขึ้น การต่อต้านคอร์รัปชั่นของไทยในขณะนี้มีรูปแบบที่แตกต่างและมีความหลากหลายแทรกไปทุกส่วนทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจแก่ประชาชน สร้างพฤติกรรมให้ประชนชนมีความซื่อสัตย์สุจริตมากยิ่งขึ้น และปลูกจิตสำนึกแก่คนรุ่นใหม่ เพราะถือว่าปัจจุบันกระแสสังคม เป็นตัวช่วยที่ดีอีกส่วน ควรสร้างองค์ความรู้ในการป้องกันการต่อต้านคอร์รัปชั่น อย่างการที่ประชาชนมีส่วนร่วมการตรวจสอบ สร้างจริยธรรมในสังคม สร้างเครือข่ายกลุ่มต่างๆ เพื่อเกิดความเข้มแข็ง ต้านการคอร์รัปชั่นได้ทุกรูปแบบ
ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี สมาชิกเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป กล่าวถึงจุดยืนของเครือข่ายฯ ในกระบวนการปฏิรูปนั้นเป็นองค์กรคู่ขนานของสภาปฏิรูป ดังนั้น กลไกการสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ ล่าสุดจึงได้จัดเวทีร่วมกับภาคีข้ามเครือข่ายเพื่อประมวลโจทย์และแนวทางปฏิรูปฉบับประชาชนขึ้นมาเป็นแผนที่ขับเคลื่อนงานปฏิรูปที่ลงมือทำได้ทันทีและนำเสนอต่อสภาปฏิรูปไปพร้อมกัน ซึ่งปรากฏว่าได้รับเสียงตอบรับอย่างดี แต่ละภาคีตื่นตัวอาสาเป็นเจ้าภาพในหัวข้อปฏิรูปประเด็นต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นปฏิรูปการต่อต้านคอร์รัปชันโดย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปเศรษฐกิจ โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ปฏิรูปการศึกษา โดยสมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษาและทีดีอาร์ไอ ปฏิรูปทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ปฏิรูประบบยุติธรรม โดย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ปฏิรูปการเกษตรโดยมูลนิธินโยบายสุขภาวะ และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น
ด้าน ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป (RNN) กล่าวเสริมว่า การปฏิรูปประเทศจะสำเร็จได้จะต้องมีส่วนร่วมจากคนทุกภาคส่วน ยิ่งเป็นการปฏิรูปท่ามกลางความขัดแย้งด้วยแล้ว ยิ่งต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้คนที่เห็นต่าง สามารถแสดงความคิดเห็นและร่วมลงมือทำได้ ดังนั้นการสร้างกลไกระดับชาติให้มีพลังเพียงพอเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้หวังว่างานที่มีขึ้นจะถูกใช้เป็นพื้นที่ให้คนได้เข้ามาร่วมคิด สนับสนุน และก่อให้เกิดการร่วมมือทำ เราหวังจะเห็นการปฏิรูป หวังที่จะให้ไม่มีการคอร์รัปชัน แม้เราจะแก้กฎหมายให้ดีให้เข้มงวดอย่างไร หากทัศนคติคนไทยยังเป็นเหมือนเดิมก็ช่วยอะไรไม่ได้ ซึ่งเวลานี้เป็นโอกาสดีที่เราจะช่วยกันขับเคลื่อนและเดินหน้าการปฏิรูปให้เกิดขึ้นให้ได้ ไม่อย่างนั้น 10ปีที่เราเสียเวลาไปจะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย
“ถึงแม้ทุกคนจะเห็นพ้องไปในแนวทางการปฏิรูปแต่ยังไม่สามารถลดความขัดแย้งได้นั้น ทุกฝ่ายจะต้องพยายามเอาคู่ขัดแย้งมาเจรจาและพูดคุยกันให้ได้ การหยุดความแข่งแย้งไม่ใช่หน้าที่ของทหารเพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนในชาติ ถ้าสามารถลดความขัดแย้งเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ การปฏิรูปด้านอื่นๆจะเดินหน้าไปได้อย่างอัตโนมัติ แม้จะอยู่บนความขัดแย้งแต่เราก็ยังมีความหวัง”
ทพ.กฤษ ดา เรืองอารีรัชต์ ผู้จัดการ สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)กล่าวว่า ขณะนี้เชื่อว่าทุกคนในสังคมต่างก็มีความตั้งใจที่อยากจะช่วยกันคิดและลงมือทำเพื่อนำพาประเทศให้พ้นจากวิกฤติ หลายปัญหามีความซับซ้อนต้องใช้ทั้งการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง ไปจนถึงการสร้างจิตสำนึกใหม่ของคนไทย ดังนั้น การจัดงาน "ต่างไทยใจเดียว" จะเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ของภาคประชาสังคมที่จะชวนกันออกไอเดียที่สร้างสรรค์ เพื่อประเทศของเราและถือเป็นการต่อยอดงานของเครือข่ายพลเมืองสร้างสรรค์ที่ มีอยู่แล้วจำนวนหนึ่ง
ดร.มานะ นิมิตรมงคล ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นฯ กล่าวถึงการทุจริต คดโกง เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการแตกแยกของคนในสังคม เพราะคนที่ทุจริตส่วนใหญ่มักเป็นคนที่ต้องการเดินเข้าสู่ระบบอำนาจ ซึ่งต้องหาแนวร่วม สร้างพรรคสร้างพวก แบบที่เรียกว่าผลประโยชน์ต่างตอบแทน ทำให้เกิดการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียม เกิดการเล่นพรรคเล่นพวก ดังนั้นถ้าเราสามารถกำจัดการทุจริตคอร์รัปชันได้ ย่อมช่วยสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นได้ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน จึงให้ความสำคัญกับการปลูกฝังค่านิยมไม่ยอมรับการโกงผ่านเครื่องมือต่างๆ
ขณะที่ วิเชียร พงศธร ประธานมูลนิธิเพื่อ “คนไทย" กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยตอนนี้หมดเวลากล่าวโทษผู้อื่น แต่เป็นสัญญาณเตือนให้คนไทยทุกภาคส่วนช่วยกันจัดการปัญหาด้วยตัวเอง ไม่ต้องรอผู้อื่น ชวนกันมีส่วนร่วมในการออกแบบ สร้างกฏ กติกา การอยู่ร่วม และมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ท้ายที่สุดจะกลายเป็นระบบนิเวศน์ใหม่ทางสังคมที่ทุกคนเป็นเจ้าของพื้นที่ เป็นเจ้าของปัญหา และพร้อมจะลุกขึ้นมามีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม "งานต่างใจไทยเดียว" เป็นเครื่องมือหนึ่งที่น่าจะสามารถตอบโจทย์ยากๆ อย่างสถานการณ์ตอนนี้ได้ โดยคาดหวังว่างานนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นการเชื่อมโยงเครือข่ายพลเมืองที่มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวมหรือ Active Citizenship ช่วยกันขับเคลื่อนงานปฏิรูปประเทศไทยให้เดินไปข้างหน้าได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว