แบงก์“ออมสิน” จัดงานปั่นจักรยานหารายได้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวที่เชียงราย ชมรมจักรยานพนักงานธนาคารออมสินร่วมกับชมรมจักรยานเชียงราย ร่วมรับบริจาคช่วยเหลือชุมชนที่วัดแม่สรวยหลวง ด้านธนาคารร่วมมอบเงินบูรณะซ่อมแซม และออกเยี่ยมลูกค้าที่ประสบภัยทั้งพักหนี้หรือกู้เพิ่มดอกเบี้ยต่ำ
นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในพื้นที่ภาคเหนือของไทยเมื่อ 5 พฤษภาคม 2557 วัด 6.3 ริกเตอร์ จังหวัดที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดคือจังหวัดเชียงราย โดยเฉพาะพื้นที่วัดแม่สรวยหลวง อำเภอแม่สรวย ที่พระพุทธรูปที่อยู่ด้านนอกอุโบสถพังลงมา สร้างความเศร้าใจให้กับคนไทยทั้งประเทศ ถึงวันนี้ก็ยังมีอาฟเตอร์ช็อกเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการให้ความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่าง ๆ เข้าไปในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย แต่การให้ความช่วยเหลือดังกล่าวก็ยังคงไม่เพียงพอ
กิจกรรมช่วยเหลือสังคมนับว่าเป็นอีกกระแสหนึ่งที่ภาคธุรกิจให้ความสำคัญ ดังนั้นในช่วงวันหยุดอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา ทางธนาคารออมสินภาค 9 จังหวัดเชียงราย ได้จัดงาน “ออมสินร่วมปั่น ปันน้ำใจ ช่วยผู้ประสบภัย” ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2557 โดยนายธัชพล กาญจนกูล รองผู้อำนวยการธนาคารออมสินอาวุโส รักษาการแทนผู้อำนวยการธนาคารออมสิน มาร่วมงาน
ทั้งนี้ชมรมจักรยานพนักงานธนาคารออมสินได้ร่วมกับชมรมจักรยานจังหวัดเชียงราย ร่วมใจกันปั่นจักรยานและมอบสิ่งของให้กับผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวที่วัดแม่สรวยหลวง
ในวันดังกล่าวผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมปั่นจักรยานได้ร่วมบริจาครวมกับประชาชนทั่วไปเป็นเงิน 379,494 บาทและเครือข่ายชมรมจักรยานเชียงรายอีก 1 หมื่นบาท โดยได้มอบให้กับทางวัดแม่สรวยหลวง
ขณะที่ธนาคารออมสินได้การสนับสนุนงบประมาณสมทบ กองทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวจังหวัดเชียงราย 1 ล้านบาท ที่วัดร่องขุ่น ร่วมสนับสนุนงบประมาณสมทบในการบูรณะซ่อมแซมวัดแม่สรวยหลวง อ.แม่สรวย จ.เชียงราย 500,000 บาท สนับสนุนงบประมาณสมทบในการจัดสร้างศาลาการเปรียญ สถานที่ปฏิบัติธรรม ณ ศูนย์วิปัสสนาสากล ไร่เชิญตะวัน (ว. วชิรเมธี) 100,000 บาท และสนับสนุนงบประมาณสมทบในการบูรณะซ่อมแซมศาลาการเปรียญ วัดดอยหม้อ 100,000 บาท
“จริง ๆ แล้วธนาคารออมสินได้เข้ามาช่วยเหลือทางวัดแล้วครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 โดย 2 ครั้งแรกได้ร่วมช่วยเหลือไปแล้ว 4 แสนบาท เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการซ่อมแซมวัดที่เสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว”
ก่อนหน้านี้ตั้งแต่เหตุแผ่นดินไหว ทางธนาคารได้ร่วมบริจาคเงินเพ่อซ่อมแซมและซื้อเครื่องมือแพทย์กับโรงพยาบาล 6 แห่ง รวม 400,000 กว่าบาท มอบเงินซ่อมแซมวัดและช่วยเหลือโรงเรียนอีก รวม 500,000 บาท มอบถุงยังชีพ 20,000 ชุดให้กับผู้ประสบภัย และยังมีมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินทั้งเรื่องการพักหนี้และให้กู้เพิ่มเติมในเงื่อนไขที่ผ่อนปรนให้กับลูกค้า
นอกเหนือจากวัดแม่สรวยหลวงที่เสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวแล้ว ลูกค้าจำนวนหนึ่งของธนาคารออมสินก็ได้รับความเสียหายเช่นกัน โดยทีมงานของธนาคารออมสินได้สำรวจและเยี่ยมลูกค้าของธนาคารที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวเพื่อให้คำแนะนำและความช่วยเหลือ
หนึ่งในลูกค้าของธนาคารออมสินที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้
นางสาวธิดารัตน์ สุวรรณการ คือหนึ่งในลูกค้าสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารออมสิน ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้ บ้านที่ตำบลธารทอง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย แตกร้าวเสียหายหลายจุดจากแรงสั่นสะเทือน
เธอเล่าให้ฟังว่า บ้านที่เธออยู่อาศัยนี้สร้างเสร็จได้ราวปีเศษ โดยได้ขอสินเชื่อจากธนาคารมาปลูกบ้าน 1.9 ล้านบาท เมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวสภาพบ้านของเธอแตกร้าวในหลายจุด มีการให้ความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐมอบเงินเบื้องต้นมา 33,000 บาท แต่นั่นย่อมไม่เพียงพอที่จะซ่อมแซม
เมื่อมีการสำรวจและตรวจสภาพบ้านแล้วพบว่า ต้องใช้งบประมาณในการซ่อมแซมราว 3 แสนบาท เธอจึงได้ขอสินเชื่อซ่อมแซมบ้านที่ธนาคารออมสินออกมาเพื่อช่วยเหลือลูกค้าของธนาคารในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ โดยก่อนหน้านี้ได้ผ่อนชำระไปจนเงินต้นลดลงไประดับหนึ่งแล้ว หนี้ก้อนใหม่ที่เข้ามาในครั้งนี้ทำให้ยอดการเป็นหนี้กลับมายืนที่เดิมคือ 1.9 ล้านบาท
เมื่อถามว่าพอใจกับมาตรการในการให้ความช่วยเหลือของธนาคารในครั้งนี้หรือไม่ เธอตอบว่า พอใจ เพราะเมื่อเกิดเหตุจนบ้านได้รับความเสียหายจากแรงแผ่นดินไหวได้แจ้งเรื่องไปที่ธนาคาร ทางผู้จัดการสาขาได้เข้ามาดูแลเป็นอย่างดีพร้อมทั้งหาแนวทางในการให้ความช่วยเหลือ
นอกจากนี้ในส่วนของเธอถือว่าโชคดีมาก เพราะเมื่อครั้งที่ขอสินเชื่อครั้งแรก นอกจากจะต้องทำประกันอัคคีภัยภาคบังคับแล้วแล้ว เธอยังได้ซื้อประกันเพิ่มเติมอีก เนื่องจากบริเวณบ้านของเธอติดกับพื้นที่ป่าที่มีเหตุไฟป่าเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และหนึ่งในนั้นจะมีการรวมภัยแผ่นดินไหวไว้ด้วย ขณะนี้อยู่ในระหว่างการรอค่าสินไหมทดแทนจากทางบริษัทผู้รับประกัน
“กรณีของคุณธิดารัตน์ถือว่าเป็นหนึ่งในลูกค้าน้อยรายมาก ที่มีการทำประกันภัยแผ่นดินไหวเอาไว้” หนึ่งในพนักงานธนาคารออมสินที่ลงมาเยี่ยมลูกค้ารายหนี้เล่าให้ฟัง
แม้กิจกรรมช่วยเหลือสังคมจะกลายเป็นกระแสที่เกือบทุกองค์กรให้ความสำคัญ โดยเฉพาะในภาคธุรกิจส่วนหนึ่งเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร รักษาฐานลูกค้าเอาไว้ อีกส่วนหนึ่งยังช่วยลดความเสียหายให้กับองค์กรไปในตัว การเลือกกิจกรรมในการให้ความช่วยเหลือต่อสังคมหรือผู้ที่ประสบเคราะห์กรรมต่าง ๆ จึงนับเป็นสิ่งที่สังคมไทยควรให้การสนับสนุน เพื่อช่วยเหลือคนไทยด้วยกัน