xs
xsm
sm
md
lg

Green Trend in 2020 : สีเขียวจะเป็นไลฟ์สไตล์ของโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


๐ ส่องโลกสีเขียว 7 ปีที่ผ่านมา เป็นการกระตุ้นให้ตื่นตัว แต่อีก 7 ปีต่อจากนี้ คือการลงมือทำที่จริงจัง
๐จับตาการก่อเกิด Green Industry, Green Product, Green Building, Eco Fashion, Urban Farming และLow Carbon Society จะเห็นชัดเจนในประเทศไทย
๐ เผยการผลิตแบบ Mass Customization, การรับรู้กับคำศัพท์ใหม่ๆ - เทคนิคขั้นสูงใหม่ๆ จะกลายเป็นเรื่องใกล้ตัว
ผศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต
แนวโน้มหรือทิศทางของกระแสการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่จะเห็นได้ในปี 2020 (Green Trend In 2020) หรือใน 7 ปีข้างหน้านับจากนี้ ผ่านมุมมองและการคาดการณ์ของ ผศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิชาเทคโนโลยีทางอาคาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม มองว่า เนื่องจากปัจจุบัน ด้วยแนวความคิด กระบวนการและกฎหมายต่างๆ ทำให้เห็นว่าเริ่มมีอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือผู้ประกอบการที่เป็น “Green Industry” มากขึ้น จากในอดีตไม่ค่อยเห็นโรงงาน หรือผู้ผลิตให้ความสำคัญกับเรื่องของสิ่งแวดล้อม
ประกอบกับกรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดตัวโครงการ “Green Industry Mark” ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่บ่งบอกว่าอุตสาหกรรมนั้นๆ ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม หมายความว่าภาครัฐจะหันไปเน้นที่ผู้ผลิต ไม่เน้นที่ผู้บริโภคอย่างในอดีต เพราะการเน้นที่ผู้บริโภคไม่ทำให้เกิด Green Industry
upcycling ในปัจจุบันจะไฮเทคขึ้นเรื่อยๆ
ที่ผ่านมา ผู้ผลิตผลิตสินค้าหรือชิ้นงานออกมาน้อยและมีราคาแพง แต่ในอนาคตจะเห็นผู้ผลิตผลิตสินค้าออกมาด้วยกระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยจะเห็นวัสดุที่เป็นเส้นใยธรรมชาติมากขึ้น เพราะคนจะเริ่มนำสิ่งเหล่านี้มาใช้มากขึ้น จะมีผู้ประกอบการที่นำเสนอ “Green Product” อย่างเป็นรูปธรรมมากมายมหาศาล
“การนำของเหลือทิ้งกลับมาทำจะไม่ใช่เรื่องแปลก หรือน่าตกใจอีกแล้ว แต่จะกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา โดยไม่มีการถามเรื่องความแข็งแรงอีกต่อไป แต่จะถามถึงราคา ความสวยงาม และการได้รับรางวัล”
ในอนาคตจะได้ยิน “คำศัพท์ใหม่ๆ” ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น Carbon Neutral คือการเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซโลกร้อน, Water Footprint ไม่ใช่แค่ Carbon Footprint ฯลฯ และจะมีฉลากสิ่งแวดล้อมมากมายบนผลิตภัณฑ์เพื่อจะบอกว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือรักษ์โลกแค่ไหน
ในปี 2020 จะเห็นการเป็น “Low Carbon Society”
นอกจากนี้ จะเห็น “การผลิตผลิตภัณฑ์” ที่ไม่ใช่การผลิตแบบ Mass Production แต่จะเป็น “Mass Customization” มากขึ้นเรื่อยๆ คือการผลิตแบบจำกัดปริมาณในแต่ละครั้งโดยสามารถผลิตซ้ำเรื่อยๆ ซึ่งไม่ใช่ Limited Edition
สิ่งเหล่านี้จะส่งเสริมให้เกิด “แรงกระเพื่อม” ในสังคม คือการออกแบบหรือสถาปัตยกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะมีมากขึ้น เพราะสิ่งต่างๆ ที่ผลิตจากโรงงานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
“จากสิ่งเล็กๆ เกิดการขยายผลใหญ่ขึ้น” จากการนำไปใช้ประกอบกัน เช่น รถยนต์ เครื่องบิน เรือยอช์ต บ้านพักอาศัย อาคารต่างๆ หรือแม้แต่วัดวาอารามในอนาคต น่าจะมีวัดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้น เช่น มีการติดแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคากุฎิ ฯลฯ
ต่อจากนี้ จะเห็นผลิตภัณฑ์หรือสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมที่มี “ความเป็นไฮเทค” กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา หรือการนำเศษวัสดุมาพัฒนาด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง"
วัสดุใหม่-Metile-Acacia
วัสดุใหม่-Metiles-Bamboo
การคัดแยกขยะจะมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะขยะคือขุมสมบัติ จะเห็น “การแก้ปัญหาขยะจากแหล่งใหม่ๆ” เช่น ขยะจากโรงพยาบาลซึ่งเดิมนำไปกำจัดทิ้งทั้งหมด แต่อนาคตจะมีการแยกขยะไม่ติดเชื้อมาใช้ประโยชน์ เช่น ในแผนกทันตกรรม แผนกศัลยกรรม เป็นต้น ยกตัวอย่าง ตามปกติอลูมิเนียมหลอมเหลวในอุณหภูมิ 600 องศาเซลเซียส ขณะที่ไม้เผาไหม้ที่อุณหภูมิ 150 องศาเซลเซียส ดังนั้น เมื่อเทอลูมิเนียมร้อนๆ ลงไปในไม้จะทำให้ไม้เผาไหม้ หรือหายไปในพริบตา แต่ขณะนี้มีการพัฒนาเทคนิคหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้กับการทำให้อลูมิเนียมประกอบเข้ากับวัสดุต่างๆ ได้ เช่น ไม้ไผ่ ผ้าไหม กระดาษ ฯลฯ เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่คือวัสดุตกแต่งผนังห้อง
“จะเห็นว่าแม้ใช้เศษวัสดุจากธรรมชาติ แต่มีกระบวนการแยบยลใหม่ๆ ซึ่งไม่เคยเห็นมาก่อนในโลกนี้ เกิดขึ้นเรื่อยๆ เช่น เดิมมีเพียงการผสมอลูมิเนียมกับแก้วซึ่งทนความร้อนสูง ไม่มีการผสมกับไม้ ผ้าไหม หรือกระดาษ แต่ตอนนี้เทคนิคใหม่เกิดขึ้นแล้ว คือการนำอลูมิเนียมมาอัดเข้าไปในเนื้อไม้”
นี่คือตัวอย่างว่าการ upcycling จะไฮเทคขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งต่อไปจะเห็นงานด้านวัสดุศาสตร์ใหม่ๆ มากมาย จะมีไฮเทคหรือเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้กับการ upcycling ไม่ใช่การใช้เพียงแนวทางเดิมๆ 3R  คือ reduce-reuse-recycle

นอกจากนี้ คาดว่าภายใน 5 ปีข้างหน้า จะเห็น “Green Building” เกิดขึ้นอย่างมากมาย เพราะในการสร้างตึกหรืออาคารต่างๆ ต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปีในการออกแบบ และอีก 2-3 ปีในการก่อสร้างจะมีการนำวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาเป็นองค์ประกอบหรือใช้ในอาคารมากขึ้น เช่น วัสดุกรุผนัง วัสดุกรุโต๊ะ หรือเคาน์เตอร์ เป็นต้น
จากเดิมเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นการแก้ปัญหาเล็กๆ ในระดับครัวเรือน แต่ต่อไปจะเป็นการแก้ปัญหาใหญ่ในระดับอุตสาหกรรม เป็นการแก้กระบวนการ ทั้งการคิด การผลิต เช่น จะเกิด “การทำสวนบนอาคารต่างๆ” มากขึ้น หรือที่เรียกว่า “urban farming 2.0” ซึ่งทำเป็นธุรกิจอย่างจริงจัง ไม่ใช่การปลูกเล่นๆ สนุกๆ เท่านั้น เพราะที่ผ่านมาคนเริ่มอิ่มตัวกับความรู้พื้นฐาน และมีการทำ Green Wall คือผนังต้นไม้เกิดขึ้นมากมายตามที่ต่างๆ ในเมือง เช่น อาคารสำนักงาน เสารถไฟฟ้าในย่านราชประสงค์ ซึ่งในเรื่องของพื้นที่สีเขียวมีตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น ในสิงคโปร์มีกฎหมายกำหนดว่าใครทำให้พื้นที่สีเขียวหายไป ต้องชดเชยกลับคืนมา หรือในฝรั่งเศสกำหนดให้มีผนังสีเขียวสำหรับตึกใหม่ๆ
อีกแนวโน้มหนึ่งคือ “Eco Fashion” จะเกิดขึ้นมาก จากปัจจุบันที่วงการแฟชั่นส่วนใหญ่ไม่ให้ความสนใจ มีเพียงบางส่วน เช่น ดาราฮอลลีวูดเริ่มนำเสนอเสื้อผ้าของตนเองว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้เส้นใยออร์แกนิกในการทอ ใช้สีธรรมชาติในการย้อม หรือจะเห็นการออกแบบแฟชั่นที่หรูหรา เช่น H&M, Hermes หรือการให้ความสำคัญกับโรงงานบำบัดน้ำเสีย การทำธุรกิจแบบแฟร์เทรด เป็นต้น
ทั้งนี้ เมื่อมองแนวโน้มการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในภาพรวมของประเทศไทยในปี 2020 จะเห็นการเป็น “Low Carbon Society” คือสังคมที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ โดยคนส่วนมากจะมองว่าเรื่องการใส่ใจในสิ่งแวดล้อมอยู่ในการใช้ชีวิตขั้นพื้นฐาน (basic lifestyle) อยู่ในอาหารที่ดี (good food) และเป็นเรื่องของเกษตรอินทรีย์ (organic)
JAVA MOSAICS ร้านกาแฟสตาร์บัคส์ นำกากกาแฟมาทำเป็นแผ่นปูพื้น เฟอร์นิเจอร์ และวัสดุตกแต่ง
นอกจากนี้ 3 กลุ่มหลักที่จะได้รับการกระตุ้นมากที่สุด และน่าจะเห็นการเติบโตมากขึ้นคือ “อาหาร, ยานยนต์, วัสดุก่อสร้างและตกแต่งอาคาร” โดยปัจจุบันมีธุรกิจในกลุ่มนี้ให้ความสำคัญและมีพัฒนาการที่น่าสนใจในด้านนี้ เช่น ฟาร์มโชคชัยทำโลว์คาร์บอนมิลค์ หรือสตาร์บัคส์เอากากกาแฟมาทำแผ่นพื้นปูเฟอร์นิเจอร์และวัสดุตกแต่งร้าน หรือเบียร์สิงห์เอากากข้าวบาร์เลย์ที่เหลือจากการหมักเบียร์มาทำครีมบำรุงผิว และหินเทียมหรือการทำแผ่นยางจากใยกันชงเพื่อปูบนรถไฟที่ญี่ปุ่น
ผศ.ดร.สิงห์ ทิ้งท้ายว่า ในวันนี้ประเทศไทยอยู่ในขั้นเริ่มต้นของการให้ความสำคัญกับการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 7 ปีที่ผ่านมานี้เป็นก้าวแรก เพราะเป็นการรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักหรือ awareness ซึ่งวันนี้ทุกคนเข้าใจแล้ว แต่ยังไม่ให้ความสำคัญ อย่างไรก็ตาม มองว่า 7 ปีต่อจากนี้ หรือภายในปี 2020 น่าจะเป็นขั้นของการลงมือทำของทุกคนทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิต
กำลังโหลดความคิดเห็น