xs
xsm
sm
md
lg

มจธ. ติดตั้ง “ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด” ให้กับ 3 อุทยานแห่งชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ระบบผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานชนิดเคลื่อนย้าย เลือกควบคุมการทำงานได้ 3 ลักษณะ คือ โซลาร์เซลล์ กังหัน และเครื่องยนต์ดีเซล
เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกันเปิดโครงการระบบผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานชนิดเคลื่อนย้ายได้ พร้อมติดตั้งและใช้จริงในเขตอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 3 แห่ง
ระบบผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานชนิดเคลื่อนย้าย เป็นระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดแบบผสมผสานที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ สามารถเลือกควบคุมการทำงานได้ 3 ลักษณะ คือ โซลาร์เซลล์ กังหัน และเครื่องยนต์ดีเซล ในรูปแบบของไฟฟ้ากระแสสลับ 3 เฟส 4 สาย 230/400 โวล์ท 50 เฮิร์ต ที่กำลังผลิตรวมไม่น้อยกว่า 39 กิโลวัตต์ สามารถผลิตพลังงานโดยระบบพลังงานสะอาดได้ประมาณ 25 กิโลวัตต์/ชั่วโมง/วัน ในการออกแบบมีความสะดวกในการขนส่ง ติดตั้ง และทดสอบการทำงานได้ภายใน 1 วัน
ในขณะนี้ระบบผลิตไฟฟ้าดังกล่าวได้นำไปติดตั้งและใช้จริงใน 3 พื้นที่ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติแม่เมย จังหวัดตาก อุทยานแห่งชาติตาดหมอก จังหวัดเพชรบูรณ์ อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อผลิตไฟฟ้าสำหรับใช้ในกิจการของอุทยานแห่งชาติเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตลอด 24 ชั่วโมง เช่น ระบบแสงสว่าง วิทยุรับส่ง การหุงอาหารของเจ้าหน้าที่และนักท่องเที่ยว เป็นต้น
เมื่อวันเปิดตัว -รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และ รศ.บุษยา บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มจธ. ร่วมด้วย นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดระบบและฝึกอบรมโครงการระบบผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานชนิดเคลื่อนย้ายได้ ณ ห้องประชุมสโรชา อาคารวิจัยพัฒนาและโรงงานต้นแบบ (EXC) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ดร.อุสาห์ บุญบำรุง หัวหน้าห้องปฏิบัติการการบูรณาการระบบพลังงานสะอาด นักวิจัย มจธ. บอกว่า เมื่อวันที่ 29 - 31 มกราคมที่ผ่านมา มจธ.ได้จัดฝึกอบรมความรู้ในการใช้งานและการบำรุงรักษาให้กับเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติแม่เมย จังหวัดตาก อุทยานแห่งชาติตาดหมอก จังหวัดเพชรบูรณ์ อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จังหวัดเลย และอุทยานแห่งชาติตระรุเตา จังหวัดสตูล เพื่อให้เกิดความเข้าใจระบบ และสามารถนำกลับไปใช้ในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน
"เป็นอีกตัวอย่างที่ตอบโจทย์ด้านการบริหารจัดการพลังงาน และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน"

ด้าน รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวถึงแนวทางการวิจัยของ มจธ. ว่าเน้นการทำงานวิจัยที่มีผลกระทบสูงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งจะเห็นจากการทำงานวิจัยที่ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนมาโดยตลอด ทั้งนี้ เพื่อให้งานสามารถตอบโจทย์ตามความต้องการใช้งานจริงของสังคม
สำหรับโครงการระบบผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานชนิดเคลื่อนย้ายได้ เป็นอีกตัวอย่างที่ตอบโจทย์ด้านการบริหารจัดการพลังงาน และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานทดแทนอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการใช้น้ำมันดีเซลในการผลิตไฟฟ้า และเชื่อว่าโครงการในลักษณะนี้จะได้รับการขยายผลไปยังอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในจังหวัดอื่นๆ ต่อไป

ขณะที่ ธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวถึงโครงการนี้ว่าเป็นการพัฒนาแหล่งผลิตไฟฟ้า โดย มจธ. ดำเนินงานให้กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ตามเขตอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าต่างๆ ทั่วประเทศ นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการสนับสนุนกิจกรรมการดูแลรักษาป่าและสัตว์ป่าภายในอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
“ไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็น แต่ด้วยหลายพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติมีอุปสรรคในการนำไฟฟ้าไปใช้ เช่น ความคุ้มค่าในการติดตั้งระบบสายส่งกำลัง บางพื้นที่อาจกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ พื้นที่เป็นเกาะ ภูเขาสูง หรือในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และอาจเป็นอันตรายต่อสัตว์ป่า ดังนั้น การมีระบบผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานชนิดเคลื่อนย้ายได้นั้น จึงเหมาะกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งเป็นระบบพลังงานไฟฟ้าที่เหมาะสมกับพื้นที่ป่าอนุรักษ์”
กำลังโหลดความคิดเห็น