xs
xsm
sm
md
lg

ฟันธง “กิจการเพื่อสังคม” หนทางลดความเหลื่อมล้ำทุกภาคส่วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อธิการบดี มศว. เผย กิจการเพื่อสังคม หรือ SE จะเป็นเครื่องมือที่ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้อย่างมีเหตุมีผล และยั่งยืน โดยที่ทุกภาคส่วนดำเนินการได้ แนะภาครัฐดึงเงินผู้ถูกสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ไม่ได้รับรางวัลมาเป็นทุนเริ่มต้น ขณะที่ภาคธุรกิจสามารถขยับขั้นจาก CSR พร้อมชูธงคณะสังคมศาสตร์ มศว.เป็นต้นแบบโรงเรียนผู้ประกอบการเพื่อสังคม
ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่าสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นเกือบทุกประเทศ เกิดจากความเหลื่อมล้ำทางการเมือง ฐานะทางเศรษฐกิจ โอกาสทางการศึกษา ซึ่งจะนำพาไปสู่ความเกลียดชังกัน และนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองอย่างยากที่จะปฏิเสธได้ ซึ่งทุกคนต้องช่วยกันคิดหาหนทาง โดยตนแนะนำว่าควรจะใช้การเจรจา อาจเป็นการสานเสวนา ซึ่งประเทศไทยตอนนี้อาจจะมีหนทางในการเจรจา เพราะทั้งสองฝ่ายต่างอยู่ในจุดด้อย ไม่มีใครเสียเปรียบใคร การมาร่วมเจรจาจึงควรทำในเวลานี้อย่างยิ่ง และเมื่อพ้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไปแล้ว ประเทศไทยต้องมาคิดว่าเราจะพ้นกับดักทางการเมืองได้อย่างไร เพื่อทำให้การเมืองมีความมั่นคง
“สิ่งหนึ่งที่ต้องเร่งทำ คือทำให้ความเหลื่อมล้ำของคนในชาติลดลง ซึ่ง Social Enterprise หรือที่เรียกว่า กิจการเพื่อสังคม หรือธุรกิจเพื่อสังคม จะเป็นเครื่องมือที่ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้อย่างมีเหตุมีผล และมีหลายแห่งที่ทำสำเร็จมาแล้ว เช่น อังกฤษซึ่งเป็นประเทศที่เจริญแต่ก็ยังมีความเหลื่อมล้ำทางสังคมและได้แก้ปัญหาด้วยธุรกิจเพื่อสังคม ในขณะที่ไต้หวันจะใช้ศาสนาเข้ามาขับเคลื่อนให้เกิดอาสาสมัครและขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งมศว จะนำองค์ความรู้เหล่านี้มาเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย”
ร้านดอยตุงไลฟ์สไตล์ เป็นกิจการเพื่อสังคม ผลิตภัณฑ์เป็นงานฝีมือที่มีการออกแบบอย่างมีเอกลักษณ์ ถ่ายทอดแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ เรื่องราวของชีวิตผู้คน และวัฒนธรรมอันหลากหลายแห่งชนเผ่าของชุมชนบนดอยตุง โครงการพัฒนาดอยตุง ซึ่งเป็นผลสำเร็จในการสร้างงาน สร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับผู้คนในชุมชน เพื่อแก้ปัญหาความยากจน และการปลูกพืชเสพติด
ทุกภาคส่วนเริ่มกิจการเพื่อสังคมได้
ทิศทางของกิจการเพื่อสังคมควรมีการพัฒนาในทุกภาคส่วน แล้วแต่ว่าภาคส่วนใดมีความพร้อม ไม่ว่าภาครัฐ เอกชน หรือภาควิชาการ การศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เราตั้งใจที่จะเป็นผู้ผลิตบุคลากรที่มีแนวคิดนี้ออกไปนำร่อง ชี้นำ ยืนหยัดในสถานการณ์จริงเพื่อให้มีสร้างกิจการเพื่อสังคมมากขึ้น
ธุรกิจที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสังคมเป็นหลัก โดยผลกำไรที่เพิ่มเกินขึ้นมาจะนำไปลงทุนเพื่อช่วยเหลือสังคมมากกว่าจะเป็นการทำกำไรสูงสุดขององค์กร และองค์กรที่จัดตั้งขึ้นก็เพื่อการพัฒนา ปรับปรุงสังคมที่ดีขึ้น โดยไม่คำนึงรูปแบบว่าเป็นธุรกิจประเภทใด
จะเห็นว่าปัจจุบันการประกอบธุรกิจเพื่อสังคม (Social Entrepreneurship) เป็นรูปแบบหนึ่งของการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักจริยธรรมและการกำกับกิจการที่ดีควบคู่ไปกับการใส่ใจและดูแลรักษาสังคม และสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ มี 4 รูปแบบหลักด้วยกัน
1.องค์การภาคสังคมที่ก่อตั้งเพื่อแสวงหากำไร
2.องค์การภาคธุรกิจที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อแสวงหากำไร
3.องค์การภาคสังคมที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม
และ 4.องค์กรภาคธุรกิจที่ก่อตั้งขึ้นแก้ไขปัญหาสังคม
ในภาคธุรกิจเพื่อสังคม ยังแยกตามลักษณะของการประกอบธุรกิจได้ 3 ประเภท คือ ธุรกิจที่เน้นด้านสินค้า ธุรกิจเน้นด้านบริการ และธุรกิจผสม โดยโมเดลทุกแบบขึ้นอยู่กับกิจการทางธุรกิจและโครงการทางสังคม
“กิจการเพื่อสังคม และธุรกิจเพื่อสังคม (Social Business) ผมถือเป็นเรื่องเดียวกัน เนื่องจากเป็นการจับจุดแข็ง จุดเด่นของภาคธุรกิจทางด้านประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ แต่ผลลัพธ์ที่ได้นั้นตกแก่บางกลุ่ม คือ ผู้ถือหุ้น และผู้บริหารกิจการ จึงก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม พอมารวมกับจุดเด่นที่ทำเพื่อสังคมอย่างภาครัฐบาล องค์กรสาธารณกุศล นับว่าเป็นนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation) ผลลัพธ์ ก็คือสามารถลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ถือว่าเป็นขั้นตอนต่อจากซีเอสอาร์ ที่เป็นการทำความดีของภาคธุรกิจในระดับพื้นฐาน” ผศ.นพ.เฉลิมชัย กล่าว และว่า
องค์กรทำซีเอสอาร์นั้น จัดสรรงบจากการ แบ่งกำไรส่วนหนึ่งคืนให้ชุมชนและสังคม โดยเลือกทำในบางระดับที่เป็นในเชิงสังคมสงเคราะห์ แต่กิจการเพื่อสังคม จะไม่มองว่าต้องได้กำไรก่อน ซึ่งถ้าการจัดการที่ดีแต่แรกกิจการก็สามารถทำกำไรได้ พร้อมกับช่วยแก้ไขวิกฤตทางสังคม โดยเฉพาะเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคม
สำหรับภาคเอกชนสามารถมองเป็นยุทธศาสตร์ที่มีเป้าหมายเดียวกัน แต่เส้นทางการดำเนินการอาจจะมีหลายช่องทาง โดยไม่มีข้อจำกัดว่าจะเป็นบริษัทใหญ่ข้ามชาติ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือธุรกิจขนาดย่อม (SMEs) ก็สามารถเป็นกิจการเพื่อสังคมได้หมด อย่างกรณีธุรกิจขนาดย่อม ช่วยได้ 2 ทาง ทางแรกก็ทำซีเอสอาร์ปกติ อีกทางทำในรายบุคคล มีการจัดตั้งกองทุน หรือออกโซเชียลบอนด์ เพื่อนำบอนด์ไปลงทุนในกิจการของตนเองด้วยดอกเบี้ยที่ต่ำ สมมติดอกเบี้ยปกติ 5% แต่เป็นโซเชียลบอนด์ 3% จะเห็นว่าส่วนต่าง 2% ซี่งเคยนำไปทำซีเอสอาร์ ก็นำมาซื้อบอนด์ ทำให้เกิดสเกลใหญ่มากขึ้น ส่วนบริษัทใหญ่ ยิ่งมีความสามารถในการพัฒนามากแต่ก็คงต้องอาศัยปัจจัยที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมมากระตุ้นมากขึ้น
WO-MANIS เป็นกิจการเพื่อสังคมที่ต้องการส่งเสริมรายได้แก่สตรีผู้ได้รับผลกระทบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยการตัดเย็บ/ปักผ้าฮิญาบและผ้าพันคอ ซึ่งออกแบบโดยแม่บ้านและคนในพื้นที่ตามแรงบันดาลใจซึ่งมีเฉพาะชิ้นงาน กำไรของการจำหน่ายสินค้า WO-MANIS มอบเป็นทุนการศึกษาแก่เด็กกำพร้าใน จ.ปัตตานี
ส่วนภาครัฐทำได้ในหลายรูปแบบ อย่างรูปแบบของอังกฤษที่เป็นรูปธรรม เขาใช้เงินภาษีของประชาชน จัดตั้งหน่วยงานรองรับ ชื่อว่า SEUK (Social Enterprise United Kingdom ) ผลักดันโดยการออกกฎหมาย เพื่อนำเงินจากบัญชีธนาคารที่ไม่ค่อยมีความเคลื่อนไหวมาใช้ ซึ่งของเมืองไทยก็มีไม่น้อย หรืออาจจะนำเงินจากสำนักงานสลากกินแบ่ง ที่มีผู้ถูกรางวัลแต่ไม่ได้มารับ โดยรัฐบาลออกกฎหมายรองรับ แล้วตั้งเป็นกองทุน ก็จะเป็นทุนต้นน้ำ ส่วนกลางน้ำ ควรจะต้องมีการฟูมฟัก ฝึกอบรมให้มีความรอบรู้ในธุรกิจก่อน แต่ที่ผ่านมาการปล่อยกู้ของบ้านเราไม่ได้มีการไต่ระดับจึงเกิดความเสียหายมาก ขณะที่อังกฤษ เขาเริ่มจากการให้เงินไม่เกิน 500 ปอนด์ พอทำได้จริงถึงขยายซึ่งก็จะได้ธุรกิจปลายน้ำที่มีประสิทธิผล

มศว.เปิดสอน “ผู้ประกอบการเพื่อสังคม”
ขณะนี้ มศว.เดินหน้าประกาศตัวเป็นมหาวิทยาลัยที่รับใช้สังคม ซึ่งสอดคล้องกับสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลก อาทิ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยสแตมฟอร์ท ที่สนใจและนำแนวคิดกิจการเพื่อสังคมมาปรับเข้ากับหลักสูตรการเรียนการสอน ซึ่งไม่เพียงแต่เปิดสอนเป็นรายวิชาหรือหลักสูตรอบรมเท่านั้น แต่บูรณาการแนวความคิดเข้ากับทุกภาคส่วน หรือเรียกว่า Socially Enterprising University
บริบทใหม่ของภาคการศึกษา อย่าง มศว. จึงเริ่มด้วยการเปิดการเรียนการสอนโรงเรียนผู้ประกอบการเพื่อสังคม โดยภาควิชาบริหารธุรกิจ คณะสังคมศาสตร์ โดยมีเนื้อหาในหลักสูตร ดังต่อไปนี้
การพัฒนาแนวความคิดในการทำธุรกิจเพื่อสังคม (Idea Development)
• การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change makers) การค้นหาแรงบันดาลใจและสรรสร้างโครงการ
• การค้นหาปัญหาที่แท้จริง และการกำหนดปัญหาที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลง (Theory of Change)
• วิธีคิดกระบวนระบบ (Systems Thinking)

การพัฒนาโมเดลทางธุรกิจ (Business Model Development)
• โมเดลทางธุรกิจ : Business Model Canvas
• แนวคิดเชิงกลยุทธ์ของผู้ประกอบการทางสังคม (Strategic Thinking for Social Entrepreneurs)
• การใช้ประโยชน์จากเครือข่ายเพื่อสังคม (Social Capital)
• การตลาดเพื่อสังคม (Marketing Strategies for SE)
• การหาเงินทุน และการจัดการธุรกิจไม่แสวงหากำไร (Fund Raising & Non-Profit Management)
• นวัตกรรมทางสังคม (Social Innovation)
• การฝึกฝนการทำ Business Model รายกลุ่ม
• การจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Management)
• การทำธุรกิจแฟรนไซส์สำหรับธุรกิจ (Social Franchising)
• การจัดการโครงการ การจัดการกระแสเงินสด (Project Management, Cash Flow Management)
• การฝึกงาน
• การนำเสนอ Business Model Canvas ของกลุ่ม

“เพื่อให้โอกาสแก่คนทุกเพศทุกวัยได้มาเรียนทำธุรกิจเพื่อสังคม ที่จะสร้างนักธุรกิจที่มองเห็นคุณค่าของมนุษย์ เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและมีคุณธรรมจริยธรรม เห็นความดีเป็นเรื่องสำคัญ ถือเป็นการจัดการเรียนการสอนรูปแแบบใหม่ โดยจะคัดนักเรียนม.6 มาเข้าเรียนโดยใช้วิธีการสัมภาษณ์ และไม่ดูคะแนนใดๆ ทั้งสิ้น แต่ดูอย่างเดียวคือแรงบันดาลใจ คาดว่าจะเปิดได้ในช่วงปี 2557 นอกจากนี้ยังจะมีการเปิดอบรมระยะสั้น 3-6 เดือนอีกด้วย”
อธิการบดีมศว ย้ำอีกว่า ธุรกิจเพื่อสังคมจะเป็นทางออกของประเทศที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำและตอบโจทย์ปัญหาประเทศได้อย่างครบวงจร ดังนั้นสถาบันการศึกษาต้องลุกขึ้นมาทำหลักสูตรลักษณะนี้ อย่าหวังแต่รัฐบาล เพราะรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้ มีแต่จะสร้างปัญหา พวกเราทุกคนเป็นเจ้าของบ้าน ส่วนรัฐบาลเข้ามาแต่ละชุดเป็นเพียงผู้เช่าบ้าน ดังนั้นเราต้องดูแลบ้านของเรา

SE เป็นได้ทั้งหากำไร และไม่หากำไร
Social Enterprise (SE) หรือ กิจการเพื่อสังคม ยังเป็นคำที่ไม่คุ้นเคยนักหากเปรียบเทียบกับคำว่า CSR (Corporate Social Responsibility) หรือ กิจการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งเป้าหมายนั้นยังอยู่ที่ “กำไรสูงสุด” ขณะที่กิจการยังให้ความใส่ใจต่อการช่วยเหลือสังคม จึงแบ่งสรรปันกำไรบางส่วนไปช่วยเหลือสังคมในด้านต่างๆ เช่น มอบเงินช่วยเหลือการจ้างแรงงานในพื้นที่
แต่ SE เป็นกิจการที่มีรายรับจากการขาย การผลิตสินค้า การให้บริการที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อเป้าหมายอย่างชัดเจนแต่แรก หรือมีการกำหนดเพิ่มเติม หรือปรับเปลี่ยนเป้าหมาย สำหรับการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก โดยไม่ได้มีเป้าหมายสร้างกำไรสูงสุดต่อผู้ถือหุ้นและเจ้าของเท่านั้น
ลักษณะของกิจการเพื่อสังคมจึงมีการดำเนินงานเพื่อผลประโยชน์ทางสังคม หรือสิ่งแวดล้อม มีแนวทางหารายได้ด้วยตนเองเพื่อหล่อเลี้ยงให้การดำเนินงานยั่งยืน โดยที่มาของรายได้อยู่ในรูปแบบของการขายผลิตภัณฑ์ บริการ การระดมทุนที่ให้ผลตอบแทนแก่ผู้ลงทุนด้วย จนถึงการขอรับบริจาค การได้รับการสนับสนุนทางการเงินเหมือนองค์การสาธารณประโยชน์ นอกจากนี้ กิจการยังอาศัยความร่วมมือได้อย่างกว้างขวาง รวมถึงมีการใช้นวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผลยั่งยืน และสามารถต่อยอดผลลัพธ์ได้อีกด้วย
ตัวอย่างกิจการเพื่อสังคมในต่างประเทศ เช่น ธนาคารกรามีน ของมูฮัมหมัด ยูนูส ที่บังกลาเทศ ให้เงินกู้ขนาดย่อมสำหรับแม่บ้านเพื่อลงทุนสร้างกิจการของตนเอง หรือการสร้างปั๊มน้ำที่ใช้พลังงานจากเครื่องเล่นเด็กของบริษัท Playpumpa ในประเทศแอฟริกาใต้ ส่วนในประเทศไทย เช่น มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ โรงเรียนชาวนาและมูลนิธิข้าวขวัญ เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น