xs
xsm
sm
md
lg

Green vision : ในหลวงต้องการให้พวกเราคิดดี และทำจริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"พระองค์ไม่ได้เพียงแค่พูดแต่กระทำจริง ดังนั้น การทำโครงการใด พระองค์จึงมีการวางรากฐานทางความคิดอย่างเป็นระบบ ทำให้ถึงแก่น"
หากพูดถึงเรื่องการรับรู้ในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ อย่างการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การประหยัดพลังงาน และการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เราอาจจะฟังแล้วยังไม่เข้าใจลึกซึ้งว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องการให้พสกนิกรของท่านได้ตระหนัก รับรู้ และการนำไปปฏิบัติให้เป็นกิจวัตรประจำวันอย่างแท้จริง
ถ้าสังเกตพระราชจริยวัตร หรือสิ่งใดก็ตามที่พระองค์ท่านทรงปฏิบัติเป็นกิจวัตร เช่น ดินสอที่เขียนจนเหลือเพียงแท่งเล็กๆ หรือยาสีฟันที่บีบใช้จนแทบหมด ซึ่งแสดงให้พวกเราเห็นว่า พระองค์ไม่ได้เพียงแค่พูดแต่กระทำจริง ดังนั้น การทำโครงการใด พระองค์จึงมีการวางรากฐานทางความคิดอย่างเป็นระบบ ทำให้ถึงแก่น
อย่างโครงการชั่งหัวมัน ที่บ้านหนองคอกไก่ ตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี คุณดิสธร วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวัง ได้กรุณาให้ข้อมูลถึงที่มาของโครงการชั่งหัวมันว่า “ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปประทับที่พระราชวังไกลกังวล ทรงมีพระราชประสงค์ให้นำมันเทศที่ชาวบ้านนำมาถวายวางไว้บนตาชั่งแบบโบราณ แล้วพระองค์เสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯ”
โครงการนี้เป็นการบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่ามากที่สุด เป้าหมายต้องการให้เป็นศูนย์รวมพืชเศรษฐกิจของ อ. ท่ายาง เพชรบุรี โดยเลือกพันธุ์พืชท้องถิ่นที่ดีที่สุดเข้ามาปลูกแล้วให้ภาครัฐและชาวบ้านร่วมดูแลด้วยกันเพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิด พร้อมคาดไว้ด้วยว่าอนาคตจะเป็นแหล่ง เรียนรู้ให้กับประชาชนโดยทั่วไปได้เข้าชม

อีกเรื่องสำคัญที่พวกเราควรปฏิบัติตามได้ทันที คือ การดำเนินชีวิตตามหลักการเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมี4 ส่วน คือ อาหาร ที่อยู่อาศัย แหล่งน้ำ ที่ทำกิน อย่างการปลูกข้าวเพิ่มรายได้ ถ้ามองถึงสิ่งจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตของคน เราอาจจะคิดว่าสมถะ ซึ่งก็ไม่ใช่เสียทีเดียว เพราะสามารถนำไปใช้ในธุรกิจการค้าขายที่เป็นภาพใหญ่ระดับประเทศก็ได้ ตรงกับและใช้ได้ดีกว่าด้วย ถ้าใช้ให้เป็น
เศรษฐกิจสีเขียว แปลตรงตัวคือ เศรษฐกิจที่สร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทำให้เกิดความทัดเทียมกันทางสังคม และการลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญของความเสี่ยงทางธรรมชาติและการขาดแคลนทรัพยากรทั้งหมดนี้มีความต่อเนื่องมาจากหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ที่ประกอบไปด้วยความสมดุลย์ ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียง 

เป็นหลักการเดียวกับ Eco ทั้งหลาย ไม่ได้กีดกัน นวตกรรม เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า หรือการเพิ่มรายได้ เพียงแต่ต้องมีความโปร่งใสทางความคิด ซึ่งเข้าไปสู่หลักธรรมาภิบาลของสังคมที่เรามักมองแค่ในกระแสแต่ไม่ได้ลงลึก ดังนั้น หากว่าเรานำความรู้มาประยุกต์ใช้ ไม่ว่าในหลักสูตรทางการศึกษา เศรษฐกิจเชิงนิเวศน์ จะเห็นว่าเศรษฐกิจพอเพียงล้วนใช้เป็นพื้นฐานในการปฏิบัติในการดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นสุข
สถาบันฯ จึงมุ่งส่งเสริมให้การพัฒนาในระดับประเทศและการประกอบการในระดับองค์กรได้รับการขับเคลื่อนบนพื้นฐานของการประหยัดทรัพยากรและลดปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านมลพิษและของเสียหรือมีการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีในการดำเนินงาน ซึ่งอยู่ภายใต้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมีส่วนร่วมวิจัยและปฏิบัติงานด้านการพัฒนาขีดความสามารถให้องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายพัฒนาในระดับมหภาคและการประกอบการในระดับจุลภาคมีแนวทาง ระบบ กระบวนการ เครื่องมือและฐานข้อมูลในการประเมินและพัฒนาการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในกรอบการพัฒนาประเทศและการประกอบการ
อย่างที่ภาคใต้ ที่พังงา สถาบันฯ แนะนำในเรื่องการทำกระปิ หอยกระป๋อง โดยสอนให้รู้จักเพิ่มมูลค่าตัวสินค้า พร้อมมีกติกาที่ขายแล้วกันเงินรายได้ส่วนหนึ่งเข้ากองทุนกลางเพื่อนำมาใช้ฟื้นฟูป่าชายเลน แหล่งที่อยู่ของกุ้ง หอย ที่ใช้เป็นวัตถุดิบ
สิ่งที่พระองค์ท่านทำทั้งหมดจึงเป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมคนได้ โดยยกพฤติกรรมของพระองค์เองเป็นตัวตั้งให้เห็น เพราะแม้กระทั่งเมนูที่เสวย ก็เหมือนคนเราปกติ ดังนั้น ถ้าเราทราบถึงคุณค่าทรัพยากร คุณค่าของระบบนิเวศน์ ในหลวงก็บอกถึงวิธีการทำ และนำไปปฏิบัติในหลายระดับซึ่งบอกไว้อย่างชัดเจน
ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์
ผู้อำนวยการ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์

กำลังโหลดความคิดเห็น