xs
xsm
sm
md
lg

CSR Report : เยียวยา กรณีท่อส่งน้ำมันรั่ว วัดประสิทธิภาพ ซีเอสอาร์ ปตท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เวลาที่ผ่านมา 1 เดือน กลุ่มปตท. และ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC เจ้าของท่อน้ำมัน ได้พยายามกู้สถานการณ์ให้กลับคืนมาเป็นปกติ ทั้งการเข้าดูแลคนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ท่อส่งน้ำมันดิบรั่ว และการดำเนินงานอื่นๆ เพื่อลดผลกระทบต่อธุรกิจและภาพลักษณ์


เหตุท่อน้ำมันรั่วดิบในทะเล (เมื่อเช้าตรู่วันที่ 27 ก.ค.2556) อยู่ห่างจากชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 20 กิโลเมตร ทำให้น้ำมันดิบรั่วไหลออกมาประมาณ 50,000 ลิตร กลุ่มปตท. และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC เจ้าของท่อน้ำมัน พยายามดูแลคนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
ปัญหาและการแก้ไขจำเป็นจะต้องใช้เวลาฟื้นฟูและเยียวยาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมในทะเลอย่างปะการังที่ได้รับความเสียหาย และอาจจะทำให้สภาพสมดุลในทะเลบริเวณเกาะเสม็ดเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับผู้คน ชุมชนที่ประกอบอาชีพประมง และท่องเที่ยว
สิ่งที่น่าห่วง ในระยะยาวผลกระทบดังกล่าวทำให้ชาวประมงที่เคยไปจับสัตว์น้ำในระยะทางต้องไประยะทางไกลกว่าเดิม ทำให้เสียทั้งเวลา และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ส่วนผู้ประกอบอาชีพท่องเที่ยว โรงแรม รีสอร์ต หรือแม้กระทั่ง รถรับจ้าง หมอนวดตามชายหาด ก็ได้รับผลกระทบทันทีเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวได้ลดหดหายไป และก็ยังไม่รู้ด้วยว่าอีกจะนานเท่าไร
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารระดับสูง กลุ่มปตท. ได้ออกมาชี้แจงอยู่เป็นระยะ พร้อมขอรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่บอกว่าเป็นอุบัติเหตุ รวมถึงแสดงสปิริตในการชดใช้ความเสียหายด้านต่างๆ ทั้งหมด

“กลุ่ม ปตท. ขอโทษและรู้สึกเสียใจต่อเหตุการณ์ท่อส่งน้ำมันรั่วดังกล่าว และขอยืนยันความพร้อมในการดำเนินการแก้ไขสถานการณ์และปฏิบัติการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องจนกว่าพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจะกลับคืนสู่สภาพสมบูรณ์ดังเดิม” ดร. ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แสดงความรับผิดชอบ พร้อมขอบคุณทุกแรงกายแรงใจจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานราชการ เอกชน และประชาชน ที่ให้การสนับสนุนการปฏิบัติการต่างๆ และขอน้อมรับคำแนะนำจากทุกภาคส่วน เพื่อจัดทำแผนฟื้นฟูโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรอิสระ อย่างบูรณาการ
กลุ่มปตท.แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ในฐานะเป็นองค์กรที่มีซีเอสอาร์ระดับแถวหน้า และเป็นที่ยอมรับกันในวงกว้างของวงการซีเอสอาร์บ้านเรา
ในเบื้องต้น การฟื้นฟู-เยียวยา กลุ่มปตท. และ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ตั้งโต๊ะรับเรื่องร้องเรียน และยินดีจ่ายเงินเยียวยาแก่คนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบ อย่างเมื่อวันบิ๊กคลีนนิ่ง ที่อ่าวพร้าว (9 ส.ค.2556) มีการจัดพิธีทางพรามหม์แสดงความขอโทษต่อพระแม่คงคา พร้อมขออภัยต่อเหตุการณ์ ขณะเดียวกันเป็นวันที่นัดชาวบ้านที่เดือดร้อนมารับเงินเยียวยาในรอบแรก ประกอบด้วย กลุ่มค้าขายหาบเร่ ค้าขายทั่วไป ขายของชำ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง กลุ่มให้เช่าห่วงยาง และเตียงผ้าใบ ซักรีด รถบริการน้ำจืด ครูสอนดำน้ำ รถยนต์โดยสาร เพนต์สี เพนต์เล็บ สักลาย หมอนวดชายหาด ขายผ้า อู่ซ่อมรถจักรยานยนต์ มือถือ เรือกล้วย ขายหนังสือ เจ็ตสกี เรือโดยสาร เรือเช่าทำกิจกรรม หาสัตว์ทะเล และกลุ่มอาชีพประมง รวม 532 ราย เป็นเงิน 12 ล้านบาท ซึ่งต่อมาก็นัดจ่ายในเบื้องต้นเป็นรอบที่สองให้กลุ่มประมง (21 ส.ค.)
ตั้งแต่เกิดเหตุดังกล่าว ทางกลุ่มปตท.ไม่ได้กีดกันสื่อมวลชนเข้าไปทำข่าวในพื้นที่แต่อย่างใด เช่นเดียวกับผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ก็ไม่มีเหตุการณ์ที่แสดงถึงความไม่พึงพอใจที่มากมาย ถึงแม้เอ็นจีโอ ยังตั้งข้อสงสัยถึงความเป็นจริงจากเหตุการณ์นี้อยู่ก็ตาม

.....เป็นอุบัติเหตุหรือไม่ หรือเกิดจากอะไรกันแน่ จำนวนน้ำมันรั่วที่แน่ชัดเท่าไร สาเหตุที่แท้จริงเกิดจากอะไร ท่อหมดอายุหรือไม่ และถ้าไม่ใช่อย่างที่สังคมตั้งข้อสงสัยไว้ ปตท.ก็ควรชี้แจงให้ชัดเจนว่าเพราะอะไร... ข้อกังขาเหล่านี้ ผู้คนยังรู้สึกคลางแคลง
จากที่สังเกต รวมถึงการได้สอบถามผู้ประกอบอาชีพที่รับผลกระทบ ทั้งชาวประมง และท่องเที่ยว ส่วนมากพอใจต่อการจ่ายเงินเยียวยา แต่ยังอดเป็นห่วงว่า ในระยะยาวอาจจะกระทบต่อรายได้ที่ลดลงเนื่องจากนักท่องเที่ยวลดลง และการออกเรือไปหาปลาที่ไกลกว่าเดิมซึ่งไม่รู้ว่าอีกเมื่อใดจะกลับมาเหมือนเดิม
สำหรับแผนฟื้นฟูที่มีการดำเนินการอย่างบูรณาการโดยทางจังหวัดระยองจัดตั้งขึ้น ทางกลุ่ม ปตท. จำเป็นจะต้องแสดงความชัดเจนในความร่วมมือกับคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อการเยียวยา ประกอบด้วย ภาครัฐ เอกชน และ ผู้ได้รับผลกระทบ โดยครอบคลุมทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้คำมั่นสัญญาของผู้บริหาร ปตท. ที่ว่าจะทำให้ เกาะเสม็ดกลับมาสมบูรณ์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำของภาคตะวันออกที่ยั่งยืนเป็นความจริง
กำลังโหลดความคิดเห็น