“ภายในปีนี้จะ ยกระดับมาตรฐานให้เป็นสากลมากขึ้นเพื่อมุ่งให้เกิดการนำมาใช้จริง และขยายผลในเชิงพาณิชย์ และการเป็นมาตรฐานชี้วัดในระดับสากล ซึ่งทางศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้เอ็มเทค ได้พัฒนาระบบฉลากสิ่งแวดล้อมแบบรับรองตนเอง หรือ "ฉลากรักษ์โลก"( Eco Product) อ้างอิงตามมาตรฐาน ISO 14021”
ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่าฉลากรักษ์โลก มีแนวทางในการรับรองด้านสิ่งแวดล้อมทั้งหมด 14 ประเด็น คือ 1. ย่อยสลายได้ 2. แตกสลายได้ 3.ออกแบบเพื่อให้ง่ายต่อการแยกชิ้นส่วน 4.มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน 5.พลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ 6.สามารถแปรสภาพใช้ใหม่ได้ 7.มีส่วนประกอบจากวัสดุแปรสภาพใช้ใหม่ 8.ลดการใช้พลังงานในช่วงการใช้งาน 9.ลดการใช้ทรัพยากร 10.ลดการใช้น้ำ 11.ใช้ซ้ำและ เติมใหม่ได้ 12.ลดของเสีย 13.วัสดุหมุนเวียน และ 14.ใช้พลังงานหมุนเวียนได้
ทั้งนี้ การแสดงข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมทั้ง 14 ประเด็น ผ่านระบบ "ฉลากรักษ์โลก" นอกจากจะช่วยผู้ประกอบการในการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต ยังช่วยกีดกันสินค้าคุณภาพต่ำ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมในประเทศ พร้อมยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
และยังแสดงข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมอีก 2 ประเด็น คือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และความยั่งยืนซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมพร้อมกับแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม และอยู่ร่วมกับชุมชนได้
ผลการประกวด Thailand EcoDesign Award 2012
สำหรับงานประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงนิเวศเศรษฐกิจแห่งประเทศไทย ประจำปี 2555 (Thailand EcoDesign Award 2012) ณ โถงกิจกรรมศูนย์การค้า The Mall งามวงศ์วาน เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา จัดเป็นครั้งที่ 4 พร้อมการยกระดับฉลากรักษ์โลก โดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมี ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผอ.สวทช. มาเป็นประธานเปิดงาน และ รศ. ดร. วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผอ.เอ็มเทค มอบรางวัลให้กับผู้ชนะการประกวด
รางวัลชนะเลิศ คือ ผลงานเครื่องทำน้ำร้อนฟรีจากแอร์ เจ้าของผลงาน นายซะรอ บู่ซัน นายประณิธาน วารีกุล รองชนะเลิศ มี 2 รางวัล คือ ผลงานบรรจุภัณฑ์ส้มโอขาวแตงกวาชัยนาท ของนายฉัตรชัย ระเบียบธรรม และผลงาน SEED ของนายนวพล จิตตอารี และนายศุภลักษณ์ เขื่อนเพชร รางวัลชมเชย 1 รางวัล คือ ผลงานเส้นด้ายและผ้าผืนผสมใยนุ่น และ รางวัล Popular Vote 2 รางวัล คือ ผลงาน 3 BOX และ ผลงานอุปกรณ์บังพริกไม่ให้กระเด็นออกจากครก
การออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงนิเวศเศรษฐกิจ หรือ เรียกว่า “การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตื่นตัวและรับองค์ความรู้ทางด้านการประกาศค่าด้านสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ และการบริการ การปรับปรุง และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นผลิตภัณฑ์และการบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลภายใต้ระบบฐานข้อมูลที่เว็ปไซต์ www.thaiecoproducts.com
การประกวด Eco Design Award นั้นเป็นการสร้างความตระหนักในการรักษาสิ่งแวดล้อม ผ่านการออกแบบที่คำนึงถึงวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์และการบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ โดยเน้นการออกแบบด้วยแนวคิด "3R” คือ Reduce-ลดการใช้ Reuse-นำกลับมาใช้ใหม่ Recycle-นำไปผ่านกระบวนการเพื่อให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้
"ตลอด 3 ปี ที่จัดงานนี้เรามุ่งไปที่การสร้างความตระหนักรู้และเข้าใจแก่นักเรียน นักศึกษา นักออกแบบ และผู้ประกอบการทั่วไป ในการรักษาสิ่งแวดล้อมโดยใช้แนวทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งสามารถชี้วัดและเปรียบเทียบความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นระบบ และมีมาตรฐานเดียวกัน” ทวีศักดิ์ กล่าว
ข้อสังเกต Eco Product หรือ ฉลากรักษ์โลก
ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะต้องประกอบด้วยหลักการ 4R ได้แก่ การลดของเสีย (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) การนำมาปรับใช้ใหม่ (Recycle) และการซ่อมบำรุง (Repair) ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตให้พอดีกับความต้องการของผู้บริโภค ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดสารพิษไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสัตว์ ผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้พลังงานในการผลิตน้อยไม่ทิ้งกากของเสียทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้รับความสนใจและเป็นที่ต้องการในตลาดโดยเฉพาะตลาดต่างประเทศโดยฉลากผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของโลก แบ่งเป็น 3 ประเภทหลัก คือ
1.ฉลากให้การรับรองโดยสถาบัน หรือ องค์กรภาครัฐในระดับประเทศ โดยอ้างอิงหลักเกณฑ์ตาม ISO 14024 เช่น ฉลากเขียวของไทย, EU Flower ของกลุ่มประเทศ EU, Green Seal ของสหรัฐอเมริกา หรือฉลาก Eco Mark ของญี่ปุ่น
2.ฉลากให้การรับรองโดยบริษัท หรือ ยืนยันผลิตภัณฑ์ของตนเอง โดยอ้างอิงหลักเกณฑ์ตาม ISO 14021 เช่น ฉลาก SCG eco value ของเอสซีจี, ฉลาก eco ของฮิตาชิ, ฉลาก eco ideas ของพานาโซนิค กรุ๊ป
3.ฉลากให้การรับรอง หรือยืนยันผลิตภัณฑ์โดย Third Party โดยดูทั้งวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์โดยอ้างอิงหลักเกณฑ์ตาม ISO 14025 เช่น ฉลาก Eco Leaf ของญี่ปุ่น, ฉลาก EPD ของสวีเดน และฉลาก EDP ของเกาหลี