xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์จุฬาฯ แนะวัคซีนป้องกันโรคไอกรน ลดความเสี่ยงติดเชื้อในทุกวัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“โรคไอกรน” เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียของระบบทางเดินหายใจ ทำให้มีภาวะ ไอรุนแรง ไอนานต่อเนื่อง โดยมีความรุนแรงมากในกลุ่มเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 6 เดือน สำหรับในเด็กโต วัยรุ่น และผู้ใหญ่ เคยได้รับวัคซีนมาแล้ว อาการจึงไม่รุนแรงนัก อย่างไรก็ตาม ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนไม่ได้สูงอยู่ตลอดชีวิต จึงมีคำแนะนำให้พิจารณารับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน
 
ปัจจุบันพบว่า โรคไอกรนกำลังกลับมาระบาดในบางพื้นที่ ศ.พญ.ธันยวีร์ ภูธนกิจ หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ และหัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิจัยโรคติดเชื้อเด็กและวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรคไอกรน โดยการใช้วัคซีนสำหรับคนกลุ่มต่างๆ ทั้งเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ และหญิงตั้งครรภ์
 
●วัคซีน Tdap: เกราะป้องกันโรคไอกรน

●แนวทางการรักษาเมื่อเป็นโรคไอกรน

●แนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันการติดเชื้อและแพร่กระจายโรคไอกรน

ศ.พญ.ธันยวีร์ ภูธนกิจ
วัคซีน Tdap: เกราะป้องกันโรคไอกรน

โรคไอกรนเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Bordetella pertussis ซึ่งสามารถติดต่อได้ง่ายผ่านละอองฝอยจากการไอหรือจาม ส่งผลให้เกิดการไอรุนแรง ไอต่อเนื่องนานเกิน 2 สัปดาห์ วัคซีนมี 2 ชนิด ได้แก่

• วัคซีนไอกรนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในเด็ก เป็นวัคซีนที่เด็กควรได้รับจำนวน 5 เข็ม โดยใน 6 เดือนแรกได้รับ 3 เข็ม หลังจากนั้นมีการให้กระตุ้นในช่วงอายุ 1-2 ปี และ 4-5 ปีตามลำดับ ภูมิจะสูงเพียงพอในการป้องกันโรค วัคซีนชนิดนี้มักเป็นวัคซีนรวม ควบคู่ไปกับโรคอื่นๆ เช่น คอตีบ และบาดทะยักในเข็มเดียวกัน

• วัคซีนไอกรนเข็มกระตุ้น Tdap สำหรับวัยรุ่น ผู้ใหญ่ และหญิงตั้งครรภ์ เป็นการให้วัคซีนไอกรนลดขนาดเพื่อกระตุ้นภูมิให้กับวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ใหญ่ที่เคยได้รับวัคซีนมาแล้ว เพื่อกระตุ้นภูมิเพื่อป้องกันโรคไอกรนให้สูงขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโดยเฉพาะเมื่อมีการระบาด สำหรับหญิงตั้งครรภ์ แนะนำให้ฉีดทุกการตั้งครรภ์ เพื่อส่งผ่านภูมิคุ้มกันต่อโรคไอกรนไปปกป้องทารกในระยะหลังคลอดจนถึงอายุ 6 เดือน


ศ.พญ.ธันยวีร์ แนะนำให้ผู้ปกครองของเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี กลับไปทบทวนประวัติวัคซีนไอกรนของเด็ก ให้ได้รับครบถ้วน 5 เข็ม ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันโรค หากได้รับวัคซีนครบตามวัยเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ไม่มีความจำเป็นต้องได้รับวัคซีนอีก สำหรับวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่อาจพิจารณารับวัคซีนไอกรนเข็มกระตุ้น Tdap เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันในช่วงที่มีการระบาด หากเคยได้ฉีดวัคซีน Tdap มาแล้ว แนะนำเว้นระยะอย่างน้อย 10 ปี

แนวทางการรักษาเมื่อเป็นโรคไอกรน

สำหรับผู้ป่วยเป็นโรคไอกรน การรักษาจะใช้ยาปฏิชีวนะจำนวน 5 วัน เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ทำให้อาการทุเลาลง และตัดวงจร ลดการแพร่กระจายของเชื้อสู่คนในครอบครัว และผู้ใกล้ชิด

อย่างไรก็ตามเนื่องจากผู้ที่ติดเชื้อไอกรนสามารถส่งต่อเชื้อให้กับผู้สัมผัสใกล้ชิดได้ ตั้งแต่เริ่มป่วย และต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนานถึง 3 สัปดาห์ ดังนั้นผู้สัมผัสใกล้ชิดหรือคนในบ้านเดียวกันมีโอกาสได้รับเชื้อในช่วงเวลาดังกล่าว จึงแนะนำให้ผู้สัมผัสใกล้ชิดไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับยาปฏิชีวนะรับประทานเพื่อฆ่าเชื้อ ก่อนจะเริ่มแสดงอาการของโรคไอกรน


แนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันการติดเชื้อและแพร่กระจายโรคไอกรน

การรักษาสุขอนามัยและการป้องกันการรับเชื้อโรคระบบทางเดินหายใจ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรียไอกรน หรือเชื้อโรคต่างๆ ที่มาในช่วงฤดูหนาวเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการล้างมือบ่อย ๆ เพื่อลดการรับเชื้อเข้าสู่ตนเอง การสวมหน้ากากอนามัยเมื่อมีอาการไอ จาม น้ำมูก เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อไปสู่คนใกล้ชิด รวมทั้งพิจารณาใส่หน้ากากอนามัยเมื่อต้องไปในพื้นที่แออัด

นอกจากนี้ศ.พญ.ธันยวีร์ ยังเน้นว่า โรคไอกรนซึ่งเป็นโรคที่มีวัคซีนป้องกันได้ แนะนำให้รับวัคซีนให้ครบถ้วนเหมาะสมตามวัย ทั้งวัคซีนของเด็กเล็ก และวัคซีนเข็มกระตุ้นสำหรับวัยรุ่นและผู้ใหญ่ Tdap เป็นส่วนสำคัญในการช่วยปกป้องตัวเราเองและครอบครัวจากโรคไอกรน

ทั้งนี้สำหรับบุคลากรจุฬาฯ สามารถเฝ้าระวังสุขภาพของตนเอง และหากมีอาการต้องสงสัย เช่น ไอต่อเนื่องเกิน 2 สัปดาห์ หรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคไอกรน สามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองและรับคำปรึกษาจาก ศูนย์บริการสุขภาพ จุฬาฯ เพื่อรับการดูแลอย่างทันท่วงทีและลดการแพร่เชื้อแก่ผู้อื่น




กำลังโหลดความคิดเห็น