การมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง เกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คืออาหารการกิน หลายคนจึงเลือกกินอาหารเป็นยา ก่อนจะถึงจุดสายเกินไปที่ต้องกินยาเป็นอาหาร
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะนำ 20 ผักพื้นบ้านที่ได้ยินสรรพคุณแล้ว ต้องรีบไปตลาดหาซื้อมาติดมื้ออาหาร โดยผักพื้นบ้านเหล่านี้มีสารอาหารที่สำคัญสองชนิดคือ “เบต้าแคโรทีน” และ “วิตามินซี”
ทั้งนี้ สำนักโภชนาการ กรมอนามัย ระบุว่า เบต้าแคโรทีน มีบทบาทในการกระตุ้นเซลล์ภูมิต้านทานในร่างกายที่ชื่อว่า “ที-เฮลเปอร์” ให้ทำงานต้านสิ่งแปลกปลอมได้ดีขึ้น ให้ผลดีกับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อมะเร็ง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์และนักโภชนาการ แนะนำว่าเราควรรับประทานเบต้าแคโรทีนเข้าสู่ร่างกายโดยการบริโภคผักสดและผลไม้สด แต่ก่อนทานควรล้างให้สะอาดเสียก่อน
ในส่วนของวิตามินซีนั้น นอกจากจะช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว บทบาทสำคัญอีกอย่างหนึ่งของวิตามินซี คือการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความเสื่อมของเซลล์ และช่วยป้องกันการถูกทำลายจากอนุมูลอิสระที่อาจจะเข้าไปทำร้ายเซลล์ปกติให้เสียหายจนกลายเป็นเซลล์ชนิดร้ายหรือเซลล์มะเร็ง
สรุปแล้วก็คือ ทั้งเบต้าแคโรทีนและวิตามินซี เป็นสารอาหารที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ ลดการอักเสบ เสริมสร้างภูมิต้านทานโรคในร่างกาย ทำให้ร่างกายแก่ชราช้าลงด้วย และนี่ก็คือผักพื้นบ้าน 20 ชนิดที่มีสารอาหารสุดเด็ดสองชนิดนั้น
10 อันดับ ผักที่มีเบต้าแคโรทีนสูง
อันดับ 1. ยอดลำปะสี 15,157 ไมโครกรัม
อันดับ 2. ผักแมะ 9,102 ไมโครกรัม
อันดับ 3. ยอดกะทกรก 8,498 ไมโครกรัม
อันดับ 4. ใบกะเพราแดง 7,875 ไมโครกรัม
อันดับ 5. ยี่หร่า 7,408 ไมโครกรัม
อันดับ 6. หมาน้อย 6,577 ไมโครกรัม
อันดับ 7. ผักเจียงดา 5,905 ไมโครกรัม
อันดับ 8. ยอดมันปู 5,646 ไมโครกรัม
อันดับ 9. ยอดหมุย 5,390 ไมโครกรัม
อันดับ 10. ผักหวาน 4,823 ไมโครกรัม
10 อันดับ ผักที่มีวิตามินซีสูง
อันดับ 1. ดอกขี้เหล็ก 484 มิลลิกรัม
อันดับ 2. ดอกผักฮ้วน 472 มิลลิกรัม
อันดับ 3. ยอดผักฮ้วน 351 มิลลิกรัม
อันดับ 4. ฝักมะรุม 262 มิลลิกรัม
อันดับ 5. ยอดสะเดา 194 มิลลิกรัม
อันดับ 6. ผักเชียงดา 153 มิลลิกรัม
อันดับ 7. ดอกสะเดา 123 มิลลิกรัม
อันดับ 8. ผักแพว 115 มิลลิกรัม
อันดับ 9. ผักหวาน 107 มิลลิกรัม
อันดับ 10. ยอดกะทกรก 86 มิลลิกรัม
ทั้งนี้ นายแพทย์สมยศ ดีรัศมี สมัยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมอนามัย ได้กล่าวไว้ว่า การนำผักพื้นบ้านประจำถิ่นมาปรุงประกอบอาหาร นับได้ว่าเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทยในการสร้างเสริมสุขภาพและรักษาโรคโดยไม่ต้องพึ่งยาและสารเคมีในแต่ละภาคของประเทศไทยมีผักพื้นบ้านสามารถเลือกรับประทานได้ตลอดปีและประชาชนควรเพิ่มการกินผักพื้นบ้านให้มากขึ้น เพราะนอกจากจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์ผักพื้นบ้านให้ลูกหลานรู้จักและบริโภคต่อได้
Ref : https://mgronline.com/qol/detail/9550000000642