ก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 3 ของการก่อตั้งคณะการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต และเติบโตขึ้นมาเป็นวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งหากย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว จุดเริ่มต้นนั้นมาจากวิสัยทัศน์ของ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยรังสิต ที่เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งคณะการแพทย์แผนตะวันออก ดังที่ได้มอบพรอันเป็นสิริมงคลให้กับวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567 ความว่า
“เนื่องในโอกาสครบรอบการเข้าสู่ทศวรรษที่ 3 ที่มหาวิทยาลัยรังสิตได้บุกเบิกฟื้นฟูภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและผนึกพลังกับการแพทย์แผนจีนและอินเดียรวมพลังและตั้งเป็น "การแพทย์แผนตะวันออก" Oriental Medicine เป็นครั้งแรกในโลกด้วยการปรึกษาหารือและสนับสนุนจากรัฐมนตรีสาธารณสุขจีน มหาวิทยาลัยการแพทย์จีนและรัฐบาลอินเดีย และได้ก่อตั้ง วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออกขึ้นในมหาวิทยาลัยรังสิต ได้นำเอาภูมิปัญญาทางการแพทย์ของบรรพบุรุษที่มีคุณค่ายิ่งต่อมนุษยชาติมาสืบสานศึกษาวิจัยต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อไปอย่างแท้จริงอย่างหาค่ามิได้
วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออกได้ดำเนินการ ส่งเสริมเผยแพร่ต่อยอดภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์แผนตะวันออกได้สำเร็จลุล่วงไปอย่างน่าภาคภูมิใจในระยะเวลาไม่นานนัก ได้สร้างความยั่งยืนมั่นคงแก่ชีวิตผู้คนในด้านสุขภาพและเป็นพลังอำนาจละมุนที่แปรเป็นพลังทางเศรษฐกิจและสังคมแก่ชาติไทยเป็นอย่างมาก
ในโอกาสอันเป็นมงคลนี้ ขอให้วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออกจงมุ่งมั่นดำเนินภาระกิจนี้ให้สำเร็จยิ่งขึ้นต่อไป เป็นคุณประโยชน์และคุณูปการต่อมนุษยชาติและสังคมตลอดไป”
จุดเริ่มต้นของวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก ได้ก่อร่างสร้างตัวด้วยคณะบุคลากรที่เป็นเภสัชกรแผนปัจจุบันเป็นฐานหลักสำคัญ ทำให้การเรียนการสอน เครื่องไม้เครื่องมือ งานวิชาการ ตลอดจนการให้บริการวิชาการจึงทำให้ความรู้ในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษในอดีตได้ถูกรื้อฟื้น ฟื้นฟู และนำมาวิจัย พัฒนาในรูปแบบที่เป็นวิทยาศาสตร์ยุคใหม่มากขึ้นมาเป็นลำดับ
แม้ว่าในประเทศไทยยังไม่ได้มีกฎหมายรองรับสำหรับวิชาชีพการแพทย์แผนตะวันออก คงมีแต่กฎหมายรองรับเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนไทยประยุกต์ การแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์แผนจีน แต่ด้วยปรัชญาที่เล็งเห็นความสำคัญของการแพทย์แผนตะวันออก จึงทำให้การเรียนการสอน การวิจัย และการให้บริการวิชาการ จะต้องบูรณาการความรู้หลายอย่าง เข้าด้วยกันเพื่อประโยชน์สูงสุดให้กับวงการสุขภาพของประชาชนทั้งในประเทศและทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์อายุรเวทอินเดีย ธรรมชาติบำบัด โภชนาการบำบัดจากงานภูมิปัญญาสู่งานวิจัย ฯลฯ
ด้วยเหตุผลนี้ทำให้การเรียนการสอนในวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มีเอกลักษณ์ที่อาจจะไม่เหมือนที่อื่น เช่น การเรียนการสอนประกาศนียบัตรการแพทย์แผนไทย ประเภท ก. ที่มีการเรียนการสอนการทำแลปทางวิทยาศาสตร์ภายในมหาวิทยาลัยด้วย ต่างจากการเรียนการสอนโรงเรียนสอนแพทย์แผนไทยทั่วประเทศ ทำให้สามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรยุคใหม่ได้ และเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ ปี 2566 มีอัตราการสอบผ่านภาคปฏิบัติใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมไทย และอัตราการสอบผ่านภาคปฏิบัติใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมไทยได้ 100%
หรือแม้แต่การเรียนการสอนแพทย์แผนไทยบัณฑิตในมหาวิทยาลัยรังสิต ที่แม้จะมีการเรียนการสอนแบบวิทยาศาตร์ยุคใหม่จำนวนมากคล้ายกับการแพทย์แผนไทยประยุกต์ แต่กลับมีการเรียนการสอนกรรมวิธีการรักษาแบบภูมิปัญญาเข้ามาบูรณาการอย่างเต็มที่เพื่อให้มีความเข้าใจรากฐานของกรรมวิธีต่างๆมาประยุกต์ในสถานการณ์ที่เหมาะสมและปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นการเผายา การนาบยา การสุมยา การรมยา การกอกเลือด ฯลฯ
เช่นเดียวกับการเรียนการแพทย์แผนจีนบัณฑิต ที่มหาวิทยาลัยรังสิต ที่จะได้รับการเรียนการสอนทั้งในประเทศและได้มีโอกาสไปศึกษาต่อการแพทย์แผนจีนบัณฑิต ที่มหาวิทยาลัยนานกิง ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนแห่งแรกของประเทศจีน เมื่อจบการศึกษาก็จะทำให้ได้ 2 ปริญญาบัตรแพทย์แผนจีนบัณฑิต ทั้งจากมหาวิทยาลัยรังสิต และมหาวิทยาลัยนานกิงในเวลาเดียวกัน
นอกจากนั้นวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก ยังได้มีการจัดหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขานวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อทำให้การเรียนการสอนทำให้เกิดเป็นผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยเฉพาะ ทั้งการสอบได้ใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรแผนไทย การเรียนทางด้านธุรกิจ การออกแบบและทำบรรจุภัณฑ์ การทำการตลาดทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ยุคใหม่ อีกด้วย
ปัจจุบันวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยลัยรังสิต ยังได้ร่วมกับภาคเอกชนในการจัดการเรียนการสอนสำหรับการได้รับใบอนุญาต ผู้ดำเนินการสปามา 8 รุ่นแล้ว และหมายความว่าการบูรณาการหลายศาสตร์จะนำไปสู่การทำให้เกิดการสร้างบุคลากรด้านเวลเนส และทางการแพทย์แผนตะวันออกอย่างรอบด้าน
และล่าสุดวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ยังได้ลงนามความร่วมมือกับ ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ในการทำงานด้านวิชาการและวิจัย และเริ่มจากการเปิดเผยความจริงและวิจัยแนวทางการรักษาภาวะลองโควิด-19 และ ผลกระทบจากวัคซีน ซึ่งเป็นโรคที่ทำร้ายสุขภาพของประชาชนจำนวนมากทั่วโลก
ในโอกาสการก้าวขึ้นสู่ทศวรรษที่ 3 ของวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก จึงได้มีการจัดทำตราสัญลักษณ์ใหม่ ที่มีองค์ประกอบที่แสดงถึงการเป็นขุมพลังแห่งปัญญาในแพทย์แผนตะวันออกอย่างรอบด้านทั้งการแพทย์แผนไทย การแพทย์อายุรเวทอินเดีย การแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์แผนจีน และธรรมชาติบำบัดที่วิจัยและพัฒนาให้เป็นสากล
ขอขอบคุณ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่ได้มีวิสัยทัศน์ในการก่อตั้งองค์กรนี้ขึ้นมาให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน และขอขอบคุณผู้บริหารมหาวิทยาลัยรังสิต ที่ได้มอบความไว้วางใจให้ผมมาทำหน้าที่ในช่วงเวลาอันสำคัญที่จะก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 3 ของวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิตแห่งนี่้
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต