xs
xsm
sm
md
lg

บริโภค “กัญชา” อย่างไร ให้ลดความเสี่ยงเบาหวานและมะเร็ง / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตามที่ รศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ หน่วยเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เขียนบทความเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2566 เรื่อง คนไทยทุกบ้าน ควร “ปลูกกัญชา” เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง [1]

โดยสาระสำคัญส่วนหนึ่งของบทความนี้พยายามอธิบายด้วยงานวิจัยหลายประการ เช่น

“กัญชา” ช่วยทำให้ตับหายอักเสบ และฟื้นฟูตับให้กลับมาทำหน้าที่ “ทำลายสารพิษ” ก่อมะเร็งต่าง ๆ ต่อได้

คนที่ใช้ “กัญชา” ช่วยลดความเสี่ยงโรคเบาหวานไปได้ 2.7 เท่าตัว หรือ 270% เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้ใช้กัญชา และคนที่เป็นโรคเบาหวานจะเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งมากกว่าคนที่ไม่เป็นโรคเบาหวาน

กัญชา จะมีบทบาทสำคัญในการลดหรือเลิกบุหรี่และเหล้า ซึ่งเหล้าและบุหรี่เป็นยาเสพติดตัวจริง และเป็นสาเหตุที่ก่อมะเร็งตัวจริง

“คนใช้กัญชา” เป็น “โรคมะเร็งทางเดินปัสสาวะ” ได้แก่ มะเร็งไต และมะเร็งต่อมลูกหมาก “น้อยกว่า” คนที่ไม่ได้ใช้กัญชา “2 เท่า” หรือ “200%”

“กัญชา” ช่วยยับยั้งไม่ให้เซลล์มะเร็งแพร่กระจายได้

โดย รศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ ให้คำแนะนำว่าการกิน “กัญชาสด” โดยการปั่นกิน พร้อมกับผักผลไม้ปลอดสารพิษ มีสรรพคุณดูแลสุขภาพได้ดี โดยไม่ทำให้เมา [1]

ย้อนกลับไปที่งานเขียนอีกชิ้นหนึ่งก่อนหน้านี้ของ รศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ ซึ่งได้เผยแพร่เอาไว้เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2565 ในหัวข้อเรื่องประโยชน์ของการกินกัญชาสด ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านถึงวิธีการบริโภคกัญชาแบบทั้งปลอดภัย ไม่ออกฤทธิ์จิตประสาท โดยบทความบางตอนได้อธิบายไว้ดังนี้

...แต่ความรู้ใหม่ที่กำลังพูดถึงกันมากในขณะนี้ คือ “การกินกัญชาสด” และวิธีการกินที่ได้ผลดีที่สุด คือ การนำใบหรือดอกกัญชามา “ปั่น” หรือ “คั้น” รวมกับผักผลไม้อื่น ๆ เพราะพบว่ามีสรรพคุณช่วยรักษาบรรเทาและป้องกันโรคต่าง ๆ อย่างได้ผลดี “โดยไม่ทำให้เมา”

ผู้นำของโลกเรื่องนี้ นพ.วิลเลียม คอร์ทนีย์ แห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เผยแพร่เรื่องนี้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2553 หรือ เมื่อ 12 ปี มาแล้ว

นพ.วิลเลียม เป็นสมาชิกคนสำคัญของสมาคมที่ศึกษาวิจัยเรื่องกัญชาทางการแพทย์หลายสมาคม และเป็นวิทยากรเดินสายบรรยายเรื่องนี้ให้กับหลายหน่วยงาน

โดย รศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ ได้ยกตัวอย่างหลายกรณีศึกษาของ นพ.วิลเลียม เช่น การกินน้ำกัญชาปั่นสดแล้วรักษาผู้ป่วยโรคพุ่มพวงที่ป่วยเรื้อรังมาหลายปีได้ จากเดิมที่ถูกวินิจฉัยว่าจะมีบุตรไม่ได้ แต่ก็ได้คลอดบุตรสาวมาได้ในที่สุด

นอกจากนั้นยังได้มีกรณีศึกษาเด็กอายุ 2 ขวบป่วยเป็นโรคเนื้องอกสมอง ภายหลังจากรักษาด้วยการคีโมและฉายแสงแล้วเนื้องอกโตต่อไป แต่เมื่อบริโภคน้ำผลไม้ด้วยใบกัญชาดิบวันละ 2-3 มิลลิตรทุกวัน เป็นเวลา 1 เดือนผลปรากฏว่าเนื้องอกมาขนาดเล็กลงอย่างน่าทึ่ง

รวมไปถึงกรณีศึกษาผู้ป่วยที่ทุกข์ทรมานเรื้อรังโรครูปมาตอยด์ที่ดื่มน้ำคั้นกัญชาสดอาการดีขึ้นจนถึงขั้นลดยาลง และอีก 10 เดือนต่อมาก็สามารถหยุดยาแผนปัจจุบันทั้งหมดได้


รศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ ได้อธิบายปรากฏการณ์ของกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นได้ดังนี้

“กัญชาสดเป็นสารอาหารชั้นยอด อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็น ได้แก่ กรดอะมิโนที่จำเป็น เส้นใย เอนไซม์ วิตามิน แร่ธาตุ ฟลาโวนอยด์ แคโรทีนอยด์ เทอร์ปีนส์และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือมี “กรดไฟโตแคนนาบินอยด์”

“กรดไฟโตแคนนาบินอยด์” เช่น ทีเอชซีเอ (THCA), ซีบีดีเอ (CBDA), ซีบีจีเอ (CBGA) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ไม่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท (ไม่ทำให้เมา) แต่มีสรรพคุณทางการแพทย์หลายประการ ได้แก่ “ฤทธิ์แก้ปวด” “แก้อาเจียน” “ปกป้องเซลล์ประสาท” “ต่อสู้กับการกลายพันธุ์ของเซลล์เนื้องอก” และที่น่าสนใจมาก คือ“มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ” ได้ดีกว่ากัญชาสกัด 2 ถึง 4 เท่า”

รศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ ได้เขียนคำแนะนำในการกินน้ำกัญชาสด “ปั่น” ความว่า ถ้ามีดอกกัญชาผสมอยู่ด้วย ให้เริ่มจากปริมาณน้อย ๆ เสียก่อน 1-3 มิลลิกรัมต่อวันเท่านั้น เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีอาการแพ้หรือเมา ใช้เวลา 3 – 7 วัน เมื่อคุ้นเคยกับขนาดยานี้แล้ว ค่อย ๆ เพิ่มปริมาณจนได้ขนาด 10 ถึง 15 กรัมต่อวัน

ถ้ามีแต่ใบกัญชา สามารถกินได้ประมาณ 30 กรัมต่อวัน ปรับแต่งรสชาติให้น่ากิน โดย ผสมกับผักผลไม้อื่น ๆ เช่น น้ำมะนาว โยเกิร์ต น้ำมันจากเมล็ดกัญชา ผักและผลไม้สด หอม กระเทียม ขมิ้น และเครื่องเทศอื่น ๆ ใส่น้ำแข็งด้วย เพื่อไม่ให้กัญชาถูกความร้อนขณะที่ “ปั่น” จนกลายเป็นสารเมา ดื่มน้ำปั่นกัญชา วันละ 5 – 6 ครั้ง ๆ ละประมาณ 60 – 100 มิลลิลิตร

จากข้อมูลของ นพ.คอร์ทนีย์ พบว่า ผลการรักษาบางอย่างจะดีขึ้นหลังจากดื่มครั้งแรก ประมาณ 3 วัน แต่ต้องบริโภคน้ำกัญชาดิบ “ปั่น” เป็นเวลาประมาณ 4 ถึง 8 สัปดาห์จึงจะสังเกตเห็นคุณสมบัติอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ เนื่องจาก “ไฟโตแคนนาบินอยด์” จะถูกสะสมอย่างช้า ๆ ในเนื้อเยื่อไขมัน เช่นเดียวกับวิตามินที่ละลายในไขมัน (ได้แก่ วิตามินเอ, ดี, อี, เค)

รศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ ยังได้ให้ความเห็นปิดท้ายเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า พืชกัญชารับใช้มนุษยชาติมามากกว่าหนึ่งหมื่นปี ชาวบ้านไทยแต่เดิมก็กิน ใบสดอ่อนหรือใบเพสลาด เป็นผัก กินกับน้ำพริกหรือใส่ข้าวยำ

การปลดล็อกกัญชาจากกฎหมายยาเสพติด จึงเป็นเสมือนการเอาหินที่กดทับออกกัญชาพร้อมจะกลับมารับใช้ผู้คนและสังคมอีกครั้ง การกินกัญชาสด “ปั่น” เป็นทางเลือกที่ดีมากอันหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยม เพราะได้ผลดี และ “ไม่มีฤทธิ์เมา”

ที่สำคัญมาก คือ “ทำให้ชาวบ้านพึ่งตนเองได้” มากขึ้น

ถ้าท่านผู้อ่านแล้วเห็นว่าบทความนี้เป็นประโยชน์ ก็ช่วยกันสร้างบุญกุศลด้วยแชร์บทความและบทความอ้างอิงเพื่อเผยแพร่ให้เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยและประชาชนทั่วไปต่อไป

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต


.......................................
อ้างอิง
[1] รศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์, คนไทยทุกบ้านควร “ปลูกกัญชา” เพื่อ“ป้องกัน” โรคมะเร็ง, ผู้จัดการออนไลน์, 15 เมษายน 2566
https://mgronline.com/qol/detail/9660000035041
[2] รศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์, ประโยชน์ของการกินกัญชาสด, ผู้จัดการออนไลน์, 20 พฤศจิกายน 2565
https://mgronline.com/qol/detail/9650000110641


กำลังโหลดความคิดเห็น