ในสถานการณ์ที่ยังไม่มีพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ. ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯได้นำเสนอเป็นวารที่ ๒ ของสภาผู้แทนราษฎร ยังไม่แล้วเสร็จ หรืออาจถูกฝ่ายการเมืองอภิปรายจนยืดเยื้อและมีความเสี่ยงที่จะยังไม่แล้วเสร็จในสภาผู้แทนราษฎรในขณะนี้ แต่ก็มีเรื่องที่น่าพิจารณาดังต่อไปนี้
ประการแรก ผลการศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ระยะที่สอง รายงานโดยศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติดสำรวจพบว่า มีประชาชนที่ส่วนใหญ่จะใช้กัญชาอย่างผิดกฎหมายหรือใช้ในโรคที่กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ประกาศ แต่มีผู้ป่วยที่มีอาการหลังใช้กัญชาแล้วอาการของโรคต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้นดีขึ้นหรือดีขึ้นรวมกันมากถึงร้อยละ ๙๓ โดยในจำนวนนี้มีอาการดีขึ้นร้อยละ ๕๔.๘ มีอาการดีขึ้นมาก ร้อยละ ๓๘.๖ [1]
ประการที่สอง ผลการศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ระยะที่สอง รายงานโดยศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติดสำรวจพบว่าสามารถเลิกยาแผนปัจจุบันได้ร้อยละ ๓๑.๗ ลดยาแผนปัจจุบันได้ร้อยละ ๒๖.๓ รวมทั้งลดหรือเลิกยาแผนปัจจุบันรวมกันมากถึงร้อยละ ๕๘ [1]
สำหรับกรณีการใช้ยาและลดหรือเลิกการใช้ยาแผนปัจจุบันนี้เป็นไปตามผลการศึกษาในต่างประเทศในปี ๒๕๖๕ ดังต่อไปนี้
วารสารห้องสมุดสาธารณะทางด้านวิทยาศาสตร์ PLoSOne ได้เผยแพร่บทความวิจัยในเรื่องผลกระทบของการให้กัญชาเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายในสหรัฐอเมริกาต่อกลุ่มธุรกิจยา โดยเผยแพร่เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๕ โดยเป็นวิจัยในมลรัฐในสหรัฐอเมริกาที่ทำให้กัญชาถูกกฎหมาย (ทั้งทางการแพทย์และนันทนาการ) ในช่วง๒๒ ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ - ๒๕๖๒ พบว่า “ยอดขายยาโดยรวมลดลง”
โดยกฎหมายที่ทำให้กัญชาถูกกฎหมายในสหรัฐอเมริกาจะส่งผลทำให้ยอดขายต่อปีของผู้ผลิตยา “ลดลง”ประมาณ ๓ พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปีโดยเฉลี่ย และยังคาดการณ์อีกด้วยว่า ๑๖ มลรัฐที่เหลือที่ยังไม่ได้ทำให้กัญชาถูกกฎหมายหากทำให้กัญชาถูกกฎหมายแล้วจะทำให้ค่าใช้จ่ายยาแผนปัจจุบันต่าง ๆ ลดลงไปประมาณร้อยละ ๑๑ [2]
เช่นเดียวกับวารสารเศรษฐกิจสุขภาพ Health Economics ฉบับตีพิมพ์เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๖๕ ในการสำรวจการจ่ายยาในมลรัฐของสหรัฐอเมริกาหลังได้ดำเนินการให้ “การนันทนาการเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย” พบว่ามี การลดการจ่ายยาต่าง ๆ ลง คือประชากรใช้ยาแก้อาการซึมเศร้าลดลงไปร้อยละ ๑๑.๑, ประชากรใช้ยาแก้วิตกกังวลลดลงไป ๑๒.๒, ประชากรลดการใช้ยาแก้ปวดไปร้อยละ ๘, ประชากรลดการใช้ยาโรคลมชักไปร้อยละ ๙.๕, ประชากรลดยาโรคจิตไปร้อยละ ๑๐.๗, ประชากรลดการใช้ยานอนหลับไปร้อยละ ๑๐.๘ [3]
ประการที่สาม ผู้รับเข้าบำบัด “ยาบ้า” ในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยการใช้กัญชาสามารถถอนอาการลงแดงจากยาบ้าได้ หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า “Harm Reduction”
ก่อนหน้านี้เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๖๒ คุณไพศาล พืชมงคล อดีตกรรมการผู้ช่วย รองนายกรัฐมนตรี ได้เคยโพสต์เฟซบุ๊ก “Paisal Puechmongkol “ ระบุว่า “กัญชามายาบ้าหมด ประเทศไทยจะหายจนประชาชนจะหายป่วย” [4]
ในเวลานั้นหลายคนที่ยังไม่เข้าใจก็กลับมองเรื่องการโพสต์นี้ว่าเป็นเรื่องมุกตลกขำขัน หรือเป็นไปไม่ได้ แต่ความจริงแล้วหลักคิดนี้เป็นกลยุทธ์ในการลดปัญหายาเสพติดในหลายประเทศที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว
โดยเฉพาะกรณีศึกษาในประเทศไทย ที่จังหวัดขอนแก่น ของนายพงษ์พัฒน์ นามูลน้อย (ไก่ เดินวนฟาร์ม) ผู้ที่หายจากการติดยาบ้าด้วยการสูบกัญชาและเลิกการใช้กัญชากลับมาเป็นพลเมืองดี และทำให้คนอื่น ๆ ที่ติดยาบ้าสามารถเลิกยาบ้าด้วยการสูบกัญชาทดแทนยาบ้า (ทดแทนหมายถึงไม่ได้ใช้ร่วมกัน) และสามารถเลิกได้ทั้งยาบ้าและกัญชาในที่สุด [5]
กรณีศึกษาในประเทศไทยนี้ สะท้อนให้เห็นถึงหลักคิดของกัญชาที่ใช้เป็นยาอ่อนสามารถนำมาสู่การลดเลิกยาเสพติดที่มีความรุนแรงหรือเพื่อลดปัญหายาเสพติดรุนแรงแบบสมัครใจได้ดีกว่า เช่น ยาบ้า ยาไอซ์ ยาอี เฮโรอีน แอลกอฮอล์ บุหรี่ ฯลฯซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วในหลายประเทศ เช่น แคนนาดา เนเธอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา [6]
ตัวอย่างเช่น ผลการศึกษาวารสารสาธารณสุขของอเมริกัน ชื่อ American Journal of Public Health (AJPH) ได้เผยแพร่งานวิจัยเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม ๒๕๖๔ในการศึกษาที่เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนนาดาระหว่างเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙-๒๕๖๑ พบว่าร้อยละ ๒๕ ของผู้ที่ใช้กัญชานั้นเพื่อลดยาที่อันตรายหรือรุนแรงอย่างอื่นที่เรียกว่า “Harm Reduction” (เช่น เฮโรอีน, ฝิ่น, โคเคน, ยาบ้า, หรือแอลกอฮอล์) และพบเหตุผลที่มากที่สุดคือใช้กัญชาเพื่อทดแทนยาเสพติดที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาทถึงร้อยละ ๕๐ และการทดแทนกลุ่มฝิ่นหรือโอปิออยด์ที่ผิดกฎหมายอีกร้อยละ ๓๑ [7]
หัวหน้าคณะวิจัยชาวแคนนาดาคนเดียวกันนี้ ได้วิจัยต่อเนื่อง และ ได้ทำงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารกัญชาและสารสกัดจากกัญชาในปีต่อมาชื่อ Cannabis and Cannabinoid Research [8] เผยแพร่เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ในการศึกษาเรื่องกัญชาแบบไปข้างหน้า (Cohort Study) ในการเฝ้าสังเกตการณ์กลุ่มประชากร ๕,๗๐๖ คน พบว่าการใช้กัญชาได้ประสบความสำเร็จในการทดแทนกลุ่มประชากรที่ใช้ยาที่รุนแรง โดยเฉพาะ “ยาบ้า” (Metamphetamine) และทำให้ต้องมองกัญชาเป็น “ยุทธศาสตร์” ที่จะนำมาใช้เพื่อลดปัญหาผู้ที่ใช้ยาเสพติดมากขึ้น [8]
สำหรับประเทศไทยปีงบประมาณ ๒๕๖๒ ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการเปิดให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ มีผู้ป่วยซึ่งเสพติด “ยาบ้า” ได้เข้ารับการบำบัดรักษาทั้งสิ้น ๒๐๖,๔๔๔ คน แต่เมื่อกัญชามีการใช้กันอย่างกันอย่างกว้างขวางในปี ๒๕๖๕ ปรากฏว่ามีผู้ป่วยติดยาบ้าลดลงเหลือเพียง ๑๐๐,๔๕๔ คน [9] ซึ่งแปลว่ามีผู้ป่วยยาบ้าที่เข้ารับการบำบัดในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ “ลดลง” จากปี พ.ศ. ๒๕๖๒ จำนวนมากถึง๑๐๕,๙๙๐ คน [9] คือลดยาบ้าไปแล้วครึ่งหนึ่งหรือคิดเป็นร้อยละ ๕๑.๓๔
และนี่คือหนึ่งในสาเหตุที่ราคายาบ้าซึ่งมีกำลังการผลิตมากขึ้น ต้นทุนถูกลง การขนส่งสะดวกขึ้น [10] แต่การที่ผู้ที่เสพยาบ้าต้องเข้ารับการบำบัดลดลงอย่างมากถึงครึ่งหนึ่งนั้น [9] สะท้อนให้เห็นว่าคนเสพยาบ้าลดลงด้วยอย่างแน่นอน จึงเป็นผลทำให้ยาบ้าซึ่งเคยมีราคาขายเม็ดละ ๑๐๐-๓๐๐ บาท ปัจจุบันมีราคาเพียง ๑๐-๓๐ บาทเท่านั้น
และถ้ามองการบำบัดสารเสพติดหรือสารออกฤทธิ์ทางจิตประสาทโดยรวม อันได้แก่ ยาบ้า เฮโรอีน กัญชา ฝิ่น ยาไอซ์ สารระเหย กระท่อม ฯลฯ พบว่าเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๒ นั้นมีประชากรที่เข้ารับการบำบัดทั้งสิ้น ๒๖๔,๑๗๗ คน แต่เมื่อสิ้นปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ปรากฏว่ามีผู้เข้ารับการบำบัดยาเสพติดทุกประเภทเหลือเพียง๑๒๖,๐๑๔ คน หรือลดลงไปเมื่อเทียบกับปี ๒๕๖๒ มากถึง ๑๓๘,๑๖๓ คน หรือลดลงไปกว่าครึ่งหนึ่งเช่นกัน คิดเป็นร้อยละ ๕๒.๒๓ คน
แต่สำหรับผู้ที่พยายามไม่ยอมรับผลดังกล่าวนี้มักจะกล่าวอ้างว่า เพราะเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๓-๒๕๖๔ การใช้ยาบ้าลดลงเพราะผลกระทบของโรคโควิด-๑๙ แต่ในความเป็นจริงในปี พ.ศ. ๒๕๖๕ นั้นโรคโควิด-๑๙ ในประเทศไทย เป็นโรคที่คนไทยส่วนใหญ่รับมือได้แล้ว สามารถรักษาตัวเองให้หายได้โดยไม่ต้องปิดสถานประกอบการที่ใดเลย สามารถมาทำงานค้าขายเป็นปกติ ตัวเลขผู้บำบัดยาเสพติดในปีงบประมาณ ๒๕๖๕ จึงย่อมไม่น่าจะเกี่ยวกับอิทธิพลจากการระบาดของโรคโควิด-๑๙ แล้ว
สำหรับพิษเฉียบพลันของผู้ที่ใช้กัญชามือใหม่ที่เพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยจาก ๒๐ กว่าคนเป็น ๖๙ คนโดยการเทียบจากเดือนสิงหาคมปี พ.ศ. ๒๕๖๓ กับปี พ.ศ. ๒๕๖๔ [11] พบว่ายังมาจากประวัติโดยส่วนใหญ่ไม่ใช่มาจากการตรวจหาสาร THC ว่าพิสูจน์ได้ว่าเป็นผลมาจากกัญชาจริง ๆหรือไม่ ซึ่งอาจมีปัจจัยเบี่ยงเบนจากผู้ที่ใช้สารเสพติดอย่างอื่นให้ข้อมูลอันเป็นเท็จว่าใช้กัญชาเพราะเห็นว่ากัญชาเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายแล้ว จึงจะไม่ถูกเสี่ยงบังคับบำบัดหรือถูกติดตามผลให้ยุ่งยากจากคดีต่อเนื่อง
คำว่าพิษเฉียบพลันแม้จะฟังดูน่ากลัว แต่เมื่อพิจารณาอาการของพิษเฉียบพลันจากกัญชาตามที่มีการรายงานนั้น ได้แก่ หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น ความดันโลหิตสูง (เช่นเพราะตกใจ) มึนศีรษะ ง่วงซึม อาเจียน คลื่นไส้ ฯลฯ [11] ซึ่งความจริงแล้วอาการเหล่านี้เกิดขึ้นได้ และเป็นอาการธรรมดาสำหรับผู้ที่ใช้กัญชาเกินขนาดสำหรับตัวเอง โดยอาการเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นอาการชั่วคราวซึ่งสามารถหายเองได้ที่บ้าน ยกเว้นคนที่ตื่นตระหนกในครั้งแรก ๆ อาจจะคิดว่าต้องใช้บริการโรงพยาบาลเท่านั้น และก็ยังไม่พบว่าใครที่ใช้กัญชาอย่างเดียวจะเกิดอาการพิษเฉียบพลันจนเสียชีวิตเช่นกัน
แต่ “กฎกัญชา” ซึ่งเป็นธรรมชาติของพืชชนิดนี้ได้ทำให้ผู้ที่ใช้กัญชาเกินขนาดได้รับผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ดังที่กล่าวข้างต้น ส่งผลทำให้หลายคนลดขนาดการบริโภคลง หรือเลิกการใช้กัญชาไปก็มีมากด้วยเช่นกัน
นอกจากนั้นคนส่วนใหญ่ที่ใช้กัญชาที่มีผลข้างเคียงดังกล่าวนั้นมีสัดส่วนที่น้อยมากเทียบกับคนที่ไม่มีผลข้างเคียงดังกล่าว ปรากฏตามผลการศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ระยะที่สอง ในการสำรวจปี พ.ศ. ๒๕๖๓-๒๕๖๔ เปิดเผยโดยศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ในปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ที่ระบุว่าผู้ที่ใช้กัญชาส่วนใหญ่หรือร้อยละ ๘๖.๔ ไม่เคยได้รับผลกระทบใด ๆ จากกัญชา, เคยมีอาการเมาร้อยละ ๙.๓, อาการแพ้ร้อยละ ๒ [1]
แต่ข้อสำคัญจำนวนที่เกิดขึ้นที่เรียกว่าพิษเฉียบพลันในประเทศไทย ก็ยังเทียบน้ำหนักไม่ได้ต่อจำนวนประชากรที่ใช้กัญชาและได้รับประโยชน์ทางการแพทย์เกือบทั้งหมด ลดหรือเลิกการใช้ยาแผนปัจจุบันไปกว่าครึ่งหนึ่ง ลดปัญหายาเสพติดโดยรวมในประเทศไทยดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
ข้อสำคัญคือปัญหากัญชาสังเคราะห์ทางเคมี เลียนแบบกัญชาธรรมชาติด้วยราคาที่ถูกกว่า ได้ส่งผลเสียอย่างยิ่งต่อสุขภาพของคนไทย โดย รศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ จากคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เผยแพร่ข้อมูลอันตรายที่เกิดขึ้นจาก กัญชาสังเคราะห์ หรือสารกัญชาที่มนุษย์สร้างขึ้น นอกจากจะได้ผลประโยชน์ทางการแพทย์น้อยแล้ว ยังก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้ใช้ด้วย [12]
มิพักต้องพูดถึงยาฆ่าหญ้าไปฉีดใส่กัญชาธรรมชาติแล้วเป็นผลทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง [12]
กัญชาสังเคราะห์ และสารพิษปนเปื้อนกัญชาใต้ดิน อาจจะทำให้เกิดพิษเฉียบพลันได้อันตรายเสียยิ่งกว่ากัญชาธรรมชาติที่ปราศจากสารพิษปนเปื้อน ดังนั้นหลักประกันซึ่งเป็นวิธีที่ปลอดภัยสำหรับประชาชนที่จะรอดพ้นจากกัญชาสังเคราะห์ หรือสารพิษจากกัญชาใต้ดิน ก็คือการเปิดโอกาสให้พ่อบ้านแม่เรือนมีกัญชาเป็นสมุนไพรประจำบ้านเพื่อการพึ่งพาตัวเอง
ส่วนถ้าห่วงปัญหาเด็กและเยาวชน และต้องการบทลงโทษที่แรงกว่าในปัจจุบัน ก็ควรจะช่วยกันเรียกร้องบทลงโทษรุนแรงด้วยการให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาหยุดเล่นการเมือง ถ่วงเวลา แล้วหันมาร่วมแรงร่วมใจในการเร่งรัดให้ ร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง ให้เร็วที่สุด
ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
โฆษกคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาอย่างเข้าใจ กระทรวงสาธารณสุข
๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๕
............................................
[1] สาวิตรี อัษณางค์กรชัย และคณะ. การศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ระยะที่สอง. ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก). ๒๕๖๕
[2] Ziemowit BednarekI, et al., U.S. cannabis laws projected to cost generic and brand pharmaceutical firms billions, plos one, Published: August 31, 2022
https://journals.plos.org/plosone/article/file?id=10.1371/journal.pone.0272492&type=printable
[3] Shyam Raman, Ashley C. Bradford, Health Economics, Recreational cannabis legalizations associated with reductions in prescription drug utilization among Medicaid enrollees First published: 15 April 2022 https://doi.org/10.1002/hec.4519
https://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1002/hec.4519
[4] ผู้จัดการออนไลน์, “ไพศาล”เชื่อกัญชามายาบ้าหมด ประเทศจะหายจน- ปชช.จะหายป่วย, ผู้จัดการออนไลน์, ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๕
https://mgronline.com/uptodate/detail/9620000111297
[5] ผู้จัดการออนไลน์, เปิดอก “ไก่ ขอนแก่น” หนุ่มวัย ๓๓ ปีเลิกยาบ้าได้เด็ดขาดเพราะกัญชา, Todayline, ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๕, เวลา ๑๔.๐๖ น.
https://today.line.me/th/v2/article/mW30nJW
[6] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, หลักคิด“Harm Reduction” ทำไม “กัญชา” จะมาช่วยลดยาบ้า เหล้าและบุหรี่ได้?, ผู้จัดการออนไลน์, ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๕
https://mgronline.com/daily/detail/9650000103228
[7] Janice Mok, et al, Use of Cannabis for Harm Reduction Among People at High Risk for Overdose in Vancouver, Canada (2016–2018), American Journal of Public Health (AJPH) May 2021,
https://ajph.aphapublications.org/doi/abs/10.2105/AJPH.2021.306168?journalCode=ajph
[8] Janice Mok, et al., Use of Cannabis as a Harm Reduction Strategy Among People Who Use Drugs: A Cohort Study, Cannabis and Cannabinoid Research, Published Online 31 May 2022
https://doi.org/10.1089/can.2021.0229
https://www.liebertpub.com/doi/10.1089/can.2021.0229
[9] ฐานข้อมูลการบำบัดรักษายาเสพติดทั่วประเทศของกระทรวงสาธารณสุข, ๒๗ธันวาคม ๒๕๖๕
[10] เดลินิวส์ออนไลน์, ป.ป.ส. เฉลยสาเหตุทำไม ‘ยาบ้า’ ราคาถูก พบลักลอบผ่านบริษัทขนส่งปรับ ๕ หมื่น, ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๕
https://www.dailynews.co.th/news/1684530/
[11] ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล, ข้อมูลผู้เจ็บป่วยที่มีประวัติสัมผัสกัญชา และปรึกษามายังศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี (เดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๕), ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๕
https://www.rama.mahidol.ac.th/poisoncenter/sites/default/files/public/กรณีผู้ป่วยสัมผัสกัญชาศูนยย์พิษวิทยา%20มิย%20ถึง%20สค%2065%2022Dec2022.pdf
[12] รศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์, “หมอปัตพงษ์” เตือนประชาชนระวังอันตรายจากกัญชาสังเคราะห์, ผู้จัดการออนไลน์, ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๕
https://mgronline.com/qol/detail/9650000122714