xs
xsm
sm
md
lg

ถอดบทเรียนจากแคนาดา “กัญชา” ใช้เพื่อลด ละ เลิก “ความรุนแรงจากยาเสพติด” / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประเทศแคนาดาคือประเทศหนึ่งมีการเปิดโอกาสให้มีการใช้กัญชาทางการแพทย์ และกัญชาเพื่อนันทนาการ “อย่างมีการควบคุม” ทั้งนี้ไม่ใช่เพียงเพราะว่ากัญชาเสพติดยากกว่าเหล้าและบุหรี่เท่านั้น ไม่ใช่เพียงเพราะว่ากัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้น ไม่ใช่ว่ากัญชาจะมีประโยชน์ในฐานะส่งเสริมสุขภาพ ลดความเสี่ยงเบาหวาน มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งไต หรือลดใบสั่งยา ลดการใช้ยาแผนปัจจุบันเท่านั้น แต่กัญชายังมีบทบาทอย่างย่ิงในการลดปัญหายาเสพติดอย่างอื่นที่รุนแรงและเป็นอันตราย หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า “Harm Reduction” อีกด้วย

โดยวารสารเกี่ยวกับการลดความรุนแรงจากยาเสพติดโดยตรงที่เรียกว่า Harm Reduction Journal ฉบับเผยแพร่เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๒ นั้นคณะวิจัยชาวแคนาดาได้ทำการสำรวจประชากรชายและหญิงประมาณ ๓,๑๑๐ คน อายุเฉลี่ย ๔๐ ปี โดยเป็นผู้ป่วยที่มีอาการปวดหรือมีปัญหาทางสุขภาพจิต ๑,๗๐๐ คน หรือประมาณร้อยละ ๘๓.๗

โดยกลุ่มประชากรกลุ่มนี้ประมาณ ๑,๕๑๕ คน หรือประมาณร้อยละ ๗๔.๖ ได้ใช้กัญชาทุกวันประมาณ ๑.๕ กรัม ประชากรส่วนใหญ่ ๙๕๓ คนใช้เพื่อแทนใบสั่งยาร้อยละ ๖๙.๑ ซึ่งรวมถึงการลดยาในกลุ่มฝิ่นหรือโอปิออยด์, รองลงมาอีก ๕๑๕ คนหรือประมาณร้อยละ ๔๔.๕ ใช้เพื่อทดแทนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, โดยอีกจำนวน ๔๐๖ คน หรือประมาณร้อยละ ๓๑.๑ ใช้เพื่อทดแทนบุหรี่ และยังมีประชากรอีก ๑๓๖ คน หรือประมาณร้อยละ ๒๖.๖ใช้เพื่อทดแทนยาเสพติดที่ผิดกฎหมายอื่น ๆ

งานวิจัยชิ้นนี้ได้พบข้อมูลการสำรวจว่าการใช้กัญชามีบทบาทในการมาทดแทนยากลุ่มฝิ่นหรือโอปิออยด์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาเสพติดอื่น ๆ และยังเห็นว่างานวิจัยกำลังมีมากขึ้นที่กำลังจะแนะนำว่าการเพิ่มขึ้นในการเข้าถึงกัญชาทั้งทางการแพทย์และนันทนาการอย่างมีการควบคุมให้เหมาะสม สามารถส่งผลทำให้ลดความรุนแรงจาก โอปิออยด์, แอลกอฮอล์ บุหรี่ และยาเสพติดอื่น ๆ ได้[1]

ต่อมาวารสารสาธารณสุขของอเมริกัน ชื่อ American Journal of Public Health (AJPH) ได้เผยแพร่งานวิจัยเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม ๒๕๖๔ การสำรวจงานวิจัยไปข้างหน้า ๓ ชิ้น ในการสำรวจประชากรที่ใช้ยาเสพติดในเมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ระหว่างเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙ ถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ เพื่อดูพฤติกรรมการใช้กัญชาเพื่อลดความรุนแรงจากยาเสพติดในกลุ่มผู้ใช้ยาเเสพติด โดยให้หมายรวมถึงการใช้กัญชาเพื่อมาทดแทนหรือเลิกยาเสพติดหลายชนิดทั้งที่ผิดกฎหมายและถูกกฎหมาย เช่น เฮโรอีนหรือยากลุ่มฝิ่นโอปิออยด์อื่นๆ, โคเคน, ยาบ้า หรือแอลกอฮอล์


ความน่าสนใจคือผลการสำรวจนี้ทำให้เห็นว่า มีผู้ที่ใช้ยาเสพติดที่ใช้กัญชาเพื่อทดแทนหรือเลิกยาเสพติดเดิมอย่างน้อยหนึ่งครั้งมีมากถึงร้อยละ ๒๕

โดยเหตุผลที่มีความถี่มากที่สุด คือ

มากถึงร้อยละ ๕๐ ระบุว่าใช้กัญชาเพื่อทดแทนยาเสพติดในกลุ่ม “กระตุ้นประสาท”

รองลงมาอีกร้อยละ ๓๑ ระบุว่าใช้กัญชาเพื่อทดแทนยากลุ่มฝิ่นหรือโอปิออยด์ที่ผิดกฎหมาย ใช้กัญชาเพื่อลดการใช้ยาอื่น ๆ ร้อยละ ๒๕

ใช้กัญชาเพื่อทดแทนยาเสพติดที่ถูกกฎหมายร้อยละ ๑๕

ใช้กัญชาเพื่อบำบัดในการเลิกยาเสพติดร้อยละ ๑๕


บทสรุปของงานวิจัยครั้งนั้นได้ระบุว่าการใช้กัญชาเพื่อลดความรุนแรง เป็นกลยุทธ์ปกติระหว่างผู้ที่มีการใช้ยาเสพติดในเมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา แต่ก็ต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อชั่งนำ้หนักระหว่างผลดีและผลเสียของกัญชาต่อไป[2]

หัวหน้าคณะวิจัยชาวแคนาดาคนเดียวกันนี้ ได้วิจัยต่อเนื่อง โดยอีก ๑ ปีต่อมาได้ทำงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารกัญชาและสารสกัดจากกัญชาชื่อ Cannabis and Cannabinoid Research เผยแพร่เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ในการศึกษาเรื่องกัญชาแบบไปข้างหน้า (Cohort Study) ในการเฝ้าสังเกตการณ์กลุ่มประชากร ๕,๗๐๖ คน พบว่าการใช้กัญชาได้ประสบความสำเร็จในการทดแทนกลุ่มประชากรที่ใช้ยาที่รุนแรง โดยเฉพาะยาบ้า (Metamphetamine) และทำให้ต้องมองกัญชาเป็น “ยุทธศาสตร์” ที่จะนำมาใช้เพื่อลดปัญหาผู้ที่ใช้ยาเสพติดมากขึ้น[3]

ยิ่งเมื่อได้ทราบกรณีศึกษาในประเทศไทยว่ามีผู้ที่ติดยาบ้าสามารถใช้กัญชาลดอาการลงแดงยาบ้าได้สำเร็จในระยะเวลาอันสั้น และสามารถเลิกใช้กัญชาได้โดยไม่มีอาการลงแดงด้วยแล้ว[4] เป็นไปอย่างสอดคล้องกับงานวิจัยของแคนาดาอย่างชัดเจน[3]

แต่แน่นอนว่า “กัญชา” ขัดขวางผลประโยชน์ของคนหลายกลุ่ม ท่านผู้อ่านก็ลองคิดดูว่าคนที่ออกมาต้านกัญชาสูญเสียรายได้จากการปลดล็อกกัญชา หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับธุรกิจอื่นอันเนื่องมาจากการปลดล็อกกัญชาหรือไม่?

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต
โฆษกคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาอย่างเข้าใจ กระทรวงสาธารณสุข


.....................................
อ้างอิง
[1] Lucas, P., Baron, E.P. & Jikomes, N. Medical cannabis patterns of use and substitution for opioids & other pharmaceutical drugs, alcohol, tobacco, and illicit substances; results from a cross-sectional survey of authorized patients. Harm Reduct J 16, 9 (2019). https://doi.org/10.1186/s12954-019-0278-6
https://harmreductionjournal.biomedcentral.com/articles/10.1186/s12954-019-0278-6

[2] Janic Mok, et al, Use of Cannabis for Harm Reduction Among People at High Risk for Overdose in Vancouver, Canada (2016–2018), American Journal of Public Health (AJPH), Published Online: May, 2021
https://ajph.aphapublications.org/doi/abs/10.2105/AJPH.2021.306168?journalCode=ajph

[3] Janice Mok, et al., Use of Cannabis as a Harm Reduction Strategy Among People Who Use Drugs: A Cohort Study, Cannabis and Cannabinoid Research, Published Online 31 May 2022
https://doi.org/10.1089/can.2021.0229
https://www.liebertpub.com/doi/10.1089/can.2021.0229

[4] ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์, บรรยายเสวนาเรื่อง การใช้กัญชาตามภูมิปัญญาไทย, ในงานมหกรรม “เดินหน้า…กัญชาเสรี แก้เจ็บแก้จน” และการอบรมเรื่อง การเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวที่ดีของพืชกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการส่งออก, ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพ, วันที่ 15 มิถุนายน 2565, Facebook กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข, คลิปวีดีโอชั่วโมงที่ 1:11:42 -1:12:60
https://www.facebook.com/dtam.moph/videos/760289735130337



กำลังโหลดความคิดเห็น