xs
xsm
sm
md
lg

ประเทศไทยจะโชคดี จนถึงขั้นไม่มีการระบาดรอบใหม่หรือไม่? / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากกราฟรายงานงานสถานะของแต่ละประเทศ/ดินแดนตามระยะของการระบาด ณ วันที่ 14 มิถุนายน 2563 อันเป็นการรายงานสถานะโดยประมาณของแต่ละประเทศ/ดินแดนจากข้อมูลการติดเชื้อโดย ศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์และการวิจัยพัฒนา สำนักงานวิจัยแห่งชาติ (ว.ช) ทำให้เห็นได้ว่าประเทศไทยได้เข้าสู่การพ้นระยะการบาดโรค COVID-19 ในระยะแรกแล้ว

ทั้งนี้ การประมาณดังกล่าวข้างต้นได้มีความเชื่อว่าการระบาดโรคในครั้งนี้จะถูกแบ่งออกเป็น 3 รอบ คือการระบาดรอบแรกที่ระบาดมากที่สุด หลังจากนั้นก็มีความเชื่อว่าจะมีการระบาดรอบถัดไปตามมาอีก 2 ลูกคลื่น แต่ 2 ลูกคลื่นหลังนี้อาจจะมีการระบาดไม่มากเท่ากับลูกคลื่นแรก เพราะเชื่อว่าแต่ละประเทศย่อมมีประสบการณ์มากขึ้นในการรับมือดีกว่าการเกิดขึ้นของคลื่นลูกแรก

กราฟดังกล่าวรายงานว่าประเทศที่เข้าสู่การระบาดคลื่นลูกที่สามคือไม่ถึงขั้นมีการระบาดใหญ่คือ ฮ่องกง และไต้หวัน ส่วนประเทศที่กำลังเข้าสู่การควบคุมโรคในคลื่นลูกที่สองคือสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

จากรายงานดังกล่าวระบุแสดงอีกด้วยว่าประเทศที่เดินหน้าไปก่อนประเทศไทยแล้ว คือกลุ่มประเทศที่พ้นการระบาดรอบแรกไปแล้วแต่กำลังมีการระบาดรอบใหม่คือจีน ในขณะที่กลุ่มประเทศที่พ้นการระบาดรอบแรกไปแล้วแต่ยังไม่ปรากฏว่าจะเกิดการระบาดรอบที่สองให้เห็นได้ชัดคือ นิวซีแลนด์ ลาว ไอซ์แลนด์ เวียดนาม

ส่วนประเทศไทยนั้นถูกประเมินว่าพ้นระยะการระบาดรอบแรกในลักษณะเดียวกันกับออสเตรเลีย

ในขณะที่กลุ่มประเทศซึ่งพ้นจากการระบาดรอบแรกไปแล้วได้แก่ มาเลเซีย สเปน เยอรมนี อิตาลี สหราชอาณาจักร ตุรกี สหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์ อิรัก อิหร่าน อินโดนีเซีย

ส่วนกลุ่มประเทศซึ่งกำลังระบาดหรือระบาดรอบแรกมากขึ้นเรื่อย ๆ ได้แก่ แอฟริกาใต้ อินเดีย บราซิล เนปาล บังคลาเทศ เม็กซิโก ในขณะที่รัสเซียกำลังระบาดสูงสุดหรือเริ่มผ่านจุดสูงสุด ส่วนประเทศที่เลือกแนวทางปล่อยให้ติดเชื้อจำนวนมาก (Herd immunity) ที่กำลังระบาดปล่อยให้ติดเชื้อจำนวนมากคือสวีเดน

คำถามคือประเทศไทยซึ่งได้ชื่อว่าพ้นการระบาดระยะแรกแล้ว อีกทั้งยังได้ถูกจัดอันดับว่ามีการฟื้นตัวจากการระบาดรวดเร็วเป็นอันดับที่สองของโลกนั้น จะสามารถรักษาสถานภาพนี้ได้อีกนานเท่าไหร่

เพราะประเทศอื่น ๆ อย่างเช่น ฮ่องกง จีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ซึ่งมีตัวเลขที่ดีกว่าประเทศไทยมาก่อน ต่างก็มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ปรากฏให้เห็นอยู่ ทั้ง ๆ ที่ประเทศเหล่านี้มีสัดส่วนจำนวนการตรวจต่อประชากรหนึ่งล้านคนมากกว่าประเทศไทย และดินแดนเหล่านี้เคยปลอดผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่าประเทศไทย ดังนั้นบทเรียนจากประเทศเหล่านี้สอนให้รู้ว่าประเทศที่ปลอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อเนื่องเกิน 20 วันอย่างประเทศไทย ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะไม่เกิดผู้ติดเชื้อรายใหม่เกิดขึ้น หากเกิดความประมาท การ์ดตก

ในความโชคร้ายของประเทศไทยที่ว่ารัฐบาลอาจจะตัดสินใจช้าหรือบกพร่องในช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่การปรับตัวและแก้ไขสถานการณ์ที่ตัดสินใจยากเช่นนี้ ก็ต้องถือได้ว่าประเทศไทยยังทำได้ดีกว่าอีกหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะความร่วมมือร่วมใจของประชาชน การทำงานอย่างเข้มแข็งของบุคคลากรทางการแพทย์ สภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมที่ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อให้น้อยลง ตลอดจนปัจจัยที่อาจมองไม่เห็นหรือพิสูจน์ได้ในวันนี้คือการรับประทานอาหารและสมุนไพรที่อาจช่วยบรรเทาการติดเชื้อหรือความรุนแรงของโรคให้น้อยลง

ความจริงแล้วก็เคยเกิดโรคระบาดซาร์สเมื่อ 17 ปีที่แล้ว (ซึ่งถือว่าเป็นไวรัสที่มีความใกล้เคียงกับ COVID-19 มากที่สุด) โดยในครั้งนั้นปรากฏตัวเลขผู้ติดเชื้อคนสุดท้ายในประเทศไทยคือวันที่ 27 พฤษภาคม 2546 แต่สำหรับ COVID-19 รอบนี้ผู้ติดเชื้อคนสุดท้าย “ภายในประเทศ” จนถึงวันที่เขียนบทความนี้ ก็อยู่ในเวลาใกล้เคียงกันคือวันที่ 24 พฤษภาคม 2563 ถ้าเชื่อว่าโรคนี้เกิดขึ้นโดยอาศัยฤดูกาลและสภาพแวดล้อมแล้ว ประเทศไทยก็ควรจะมีหวังว่าเราอาจไม่มีการระบาดรอบที่สองได้ ถ้าประเทศไทยการ์ดไม่ตกต่อเนื่อง (คัดกรองวัดไข้ ล้างมือ สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง) และยังไม่เปิดรับชาวต่างประเทศที่ยังมีความเสี่ยงอยู่ หรือหากจะเปิดรับก็ต้องมีมาตรการที่เข้มข้นและรัดกุมเพียงพอที่จะรักษาสถิตินี้ต่อไป

และถ้าประเทศไทยทำได้ดีจนไม่ปรากฏตัวเลขระบาดรอบที่สอง จนได้รับฉันทานุมัติจากทั่วโลกว่าประเทศไทยปลอดเชื้ออย่างแน่นอนแล้ว ถึงเวลานั้นชาวต่างชาติที่มาจากประเทศซึ่งปลอด COVID-19 ย่อมอยากเดินทางมาประเทศไทยด้วยอย่างแน่นอน

การเปิดคลายล็อกอย่างเป็นขั้นเป็นตอน แม้จะไม่ถูกใจอีกหลายฝ่ายว่าดูไม่สมเหตุสมผลไปบ้าง หรือล่าช้าไปบ้าง ก็เพื่อรักษาสถิติให้ดีดังที่ผ่านมา และผลสำเร็จมากหรือน้อยก็ปรากฏตัวเลขอย่างที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าประเทศไทยังดีกว่าอีกหลายประเทศ

เหลือเพียงการเยียวยา และการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจครั้งมโหฬาร ที่จะต้องเร่งดำเนินการ ปรับปรุงแก้ไข และทำให้เกิดประสิทธิภาพและความโปร่งใสให้ดีที่สุด ประเทศจึงจะรอดพ้นทั้งในมิติทางสาธารณสุขและเศรษฐกิจไปพร้อมกัน

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต



กำลังโหลดความคิดเห็น