xs
xsm
sm
md
lg

ผลกระทบต่อร่างกาย ที่เกิดจาก "ความเครียด"

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ความเครียดถือเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ซึ่งความเครียดมีสาเหตุมาจาก 2 ปัจจัย ทั้งจากปัจจัยภายนอก เช่น ครอบครัว สิ่งแวดล้อม ปัญหาด้านการเงิน ความกดดันในที่ทำงาน เหตุการณ์บ้านเมือง ฯลฯ และจากปัจจัยภายใน ที่อาจเกี่ยวข้องกับอุปนิสัย ความคิด เช่น มีความคาดหวังสูง ต้องการความสำเร็จสูง มีความอ่อนไหวง่าย เป็นคนปรับตัวยาก ฯลฯ เป็นต้น

ความเครียด แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่


1. Acute Stress เป็นความเครียดที่เกิดขึ้นทันทีและร่างกายตอบสนองต่อความเครียดนั้นทันที โดยมีการหลั่งฮอร์โมนความเครียด เมื่อความเครียดหายไปร่างกายและฮอร์โมนจะกลับสู่ปกติ

2. Chronic Stress เป็นความเครียดที่เกิดขึ้นทุกวันและร่างกายไม่สามารถตอบสนองหรือแสดงออกต่อความเครียดนั้น เมื่อนานวันเข้าความเครียดนั้นก็จะสะสมเป็นความเครียดเรื้อรัง


ผลพวงจากความเครียด มีอะไรบ้าง?

1. การแสดงออกทางด้านจิตใจและอารมณ์ เช่น วิตกกังวล ตัดสินใจไม่ดี ขี้ลืม สมาธิสั้น ไม่มีความคิดริเริ่ม ความจำไม่ดี ไม่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หงุดหงิดง่าย โกรธง่าย ฉุนเฉียวง่าย โมโหร้าย ระงับอารมณ์ไม่ค่อยอยู่ ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ เบื่อซึม ท้อแท้ มองโลกในแง่ร้าย เป็นต้น

2. การแสดงออกทางด้านพฤติกรรม เช่น กัดเล็บ ดึงผม แยกตัว ไม่เข้าสังคม พูดจาก้าวร้าวขึ้นหรือพูดน้อยลง เป็นต้น

3. การแสดงออกทางร่างกาย โดยเมื่อเกิดภาวะเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนสารทุกข์ออกมาคือ อะดรีนาลิน สตีรอยด์ เมื่อฮอร์โมนเหล่านี้เข้าสู่กระแสหมุนเวียนเลือดจะนำไปสู่อวัยวะสำคัญต่าง ๆ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงการทำงานของอวัยวะสำคัญๆ แปรปรวนไป เช่น นอนไม่หลับหรือนอนหลับยาก อ่อนเพลีย กินเก่งหรือเบื่ออาหาร ท้องผูก สมรรถภาพทางเพศลดลง ปวดท้อง ปวดตามกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ปวดศีรษะ มึนงง หัวใจเต้นเร็ว หูอื้อ คลื่นไส้อาเจียน หายใจไม่อิ่ม ฯลฯ

โดยความเครียดอาจนำไปสู่โรคต่างๆ ได้ เช่น โรคทางเดินอาหาร โรคไมเกรน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด โรคมะเร็ง เป็นต้น

วิธีขจัดความเครียดด้วยตัวเอง

- ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ
- ออกไปพบปะสังสรรค์กับเพื่อน หรือพูดคุยกับครอบครัว
- ผ่อนคลายความเครียดด้วยตัวเอง เช่น ฝึกสมาธิ ออกเดินทางท่องเที่ยว
- หางานอดิเรกทำในยามว่าง เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง ดูหนัง ฯลฯ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

ทั้งนี้ หากคุณรู้สึกว่าความเครียดเริ่มมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต เช่น การนอน การรับประทานอาหาร การงาน และความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับคนรอบข้าง ควรเข้าพบและปรึกษาจิตแพทย์เพื่อจะได้รับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป เพราะผู้ที่เกิดความเครียดเรื้อรังเป็นเวลานาน หากไม่ได้รับการรักษาอาจส่งผลให้มีปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมาได้


ข้อมูลอ้างอิงประกอบ


https://www.honestdocs.co
https://www.pobpad.com
https://www.siamhealth.net/



กำลังโหลดความคิดเห็น