xs
xsm
sm
md
lg

วิตามินชนิดไหนเพิ่มความเสี่ยงมะเร็ง? / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

พืชผักและผลไม้ถ้ารับประทานเป็นอาหารก็ไม่เกิดโทษใดๆ มากนัก เพราะคนทั่วไปที่กินพืชเป็นอาหารก็มักจะรับประทานอาหารที่หลากหลายโดยธรรมชาติอยู่แล้ว การได้สารอาหารหรือแร่ธาตุก็มีความแตกต่างกันไปตามอาหารที่รับประทานนั้น

แต่คนในยุคหลังเรามีการให้ความสำคัญกับ “สารสำคัญ” ทั้งที่ได้มาด้วยการสกัดหรือการสังเคราะห์มากขึ้น เพราะความเชื่อที่ว่านั้นมีงานวิจัยว่าสารสำคัญเหล่านั้นมีกลไกทำงานอย่างไร หรือออกฤทธิ์อย่างไร องค์ความรู้ที่พัฒนามากขึ้นทำให้เรามี “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” (Food Supplement) ทั้งในรูปของวิตามิน แร่ธาตุชนิดต่างๆ ที่ขายกันเกลื่อนกราด และมีมูลค่าในตลาดอย่างมหาศาล

หลายคนที่รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจำนวนมากทั้ง วิตามิน แร่ธาตุ ด้วยความคาดหวังว่าจะสามารถทำให้เจ็บป่วยได้ยากขึ้น แข็งแรงขึ้น อายุยืนขึ้น ฯลฯ อย่างไรก็ตามคำว่า “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นเพียงแค่การเสริมอาหาร ไม่ใช่เป็นอาหารหลัก จริงหรือไม่?

อาหารหลักที่เรารับประทานอยู่ทุกวันก็คือแหล่งพลังงานหลักที่ร่างกายได้นำไปใช้ หากรับประทานอาหารหลักได้ดีพอ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเลย ในทางกลับกันต่อให้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดีเพียงใด แต่ถ้ากินอาหารแย่ๆ ก็ไม่สามารถทำให้สุขภาพดีขึ้นได้

สำหรับคำว่าอาหารแย่ๆนั้นได้แก่ การบริโภคแป้งขัดขาวมาก กินน้ำตาลมาก ดื่มเหล้ามาก กินไขมันผัดทอดด้วยไขมันไม่อิ่มตัวมาก กินไขมันทรานส์มาก กินเนื้อแดงแปรรูปมาก กินอาหารสุกๆ ดิบมีพยาธิมาก กินอาหารที่มีสารพิษหรือยาฆ่าแมลงมาก ดื่มน้ำน้อย ต่อให้รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมาโดยตลอด ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะมีสุขภาพที่ดีได้

นอกจากนั้นแล้วยังมีปัจจัยในเรื่องพฤติกรรมการใช้ชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ทำให้สุขภาพเสื่อมโทรม เช่น สูบบุหรี่จัด นอนดึกพักผ่อนน้อย ขาดการออกกำลังกาย อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีมลพิษมาก เครียด ฯลฯ ต่อให้รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจำนวนมาก สุขภาพก็ไม่อาจจะดีขึ้นได้

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 วารสาร Annal of Internal Medicine ได้ตีพิมพ์ในการศึกษาในเรื่องความสัมพันธ์การบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร การโภชนาการ กับการเสียชีวิตของผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปในประเทศสหรัฐอเมริกาจำนวน 30,899 คน ทั้งกลุ่มประชากรที่ตอบแบบสอบถามว่ารับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร กับกลุ่มประชากรที่ตอบแบบสอบถามว่ามีการควบคุมโภชนาการควบคู่ไปกับการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยสำรวจสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด รวมถึงโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคมะเร็ง ในช่วง 10 ปี ในกลุ่มประชากรที่ใช้ระหว่างพ.ศ. 2542-2553

ผลงานวิจัยการสำรวจข้างต้นได้ติดตามค่ากลางในการติดตามผล 6.1 ปี มีผู้เสียชีวิตรวม 3,613 คน รวมถึงการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจ 945 คน และเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง 805 คน ผลปรากฏว่าการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่ได้สัมพันธ์กับการเสียชีวิตใดๆ ซึ่งต่างจากการบริโภคในรูปของอาหารโภชนาการที่มีวิตามินและแร่ธาตุอย่างเพียงพออันได้แก่ วิตามินเอ วิตามินเค แมกนีเซียม ซิงค์ (สังกะสี) ทองแดง พบว่าจะช่วยลดสาเหตุการเสียชีวิตโดยรวมทั้งหมด โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจ งานวิจัยช้ินนี้จึงสรุปว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่ได้มีประโยชน์ในการลดสาเหตุการเสียชีวิตลงได้แต่ประการใด [1]

ในทางตรงกันข้ามงานวิจัยดังกล่าวข้างต้นนี้ยังพบว่าการบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เกินพอดีอย่าง “แคลเซียม” กลับสัมพันธ์เพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งมากขึ้นอีกด้วย [1]

โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ระหว่าง “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกับมะเร็ง” นั้นมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อวารสารเกี่ยวกับการศึกษาประชาสังคมอเมริกันทางด้านโรคมะเร็งทางคลินิกหรือที่เรียกว่า “American Society of Clinical Oncology Educational book” เมื่อปี พ.ศ. 2557 ได้กล่าวถึงรายงานที่ปรากฏมาก่อนหน้านี้เกี่ยวกับความเสี่ยงในการบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกับโรคมะเร็ง พบว่า สารเบต้าแคโรทีนเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งปอดและมะเร็งกระเพาะอาหาร วิตามินอีเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมากและมะเร็งลำไส้ แม้แต่ซีเลเนียมจะช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งกระเพาะอาหารและมะเร็งปอดเมื่อใช้ปริมาณต่ำเท่านั้น แต่ถ้ารับประทานซีเลเนียมในปริมาณที่มากแล้วกลับเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งมากขึ้น นอกจากนั้นยังพบว่าทั้งเบต้าแคโรทีนและวิตามินอีในรูปผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพิ่มความเสี่ยงสาเหตุการเสียชีวิตโดยรวม

รายงานฉบับดังกล่าวข้างต้นยังพบว่า แม้วิตามินอี และเบต้าแคโรทีน จะช่วยลดความเป็นพิษจากการฉายรังสีหรือฉายแสงในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งศีรษะและคอ แต่กลับพบว่ามันเพิ่มความเสี่ยงที่มะเร็งการกลับมามากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้สูบบุหรี่ [2]

อย่างไรก็ตาม วารสารเกี่ยวกับทางด้านสารอาหารที่ชื่อว่า Nutrients ได้เผยแพร่งานทบทวนวรรณกรรมฉบับวันที่ 29 มีนาคม 2562 รายงานว่าการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตทั่วโลก ทั้งการสูบบุหรี่และคนข้างเคียงที่ได้รับควันบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหืดหอบและโรคมะเร็งปอด และโรคหืดหอบนั้นก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะพัฒนาไปสู่โรคมะเร็งปอดได้ทั้งคนสูบบุหรี่และไม่สูบบุหรี่

แม้ในทุกวันนี้ การศึกษาทางคลินิกแบบสุ่มตัวอย่างระหว่างผลิตภัณฑ์อาหารเสริมกับความเสี่ยงมะเร็งปอดในผู้ใหญ่ระหว่างคนสูบบุหรี่กับไม่สูบบุหรี่นั้นยังถือว่าผลของงานวิจัยยังมีความขัดแย้งกัน แต่มีการศึกษาบางชิ้นพบว่าการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิดหากรับประทานในปริมาณที่มากต่อเนื่องในระยะยาวจะเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งปอดในกลุ่มประชากรที่เคยสูบบุหรี่มาก่อนหรือยังคงสูบบุหรี่อยู่ ได้แก่ เรตินอล, เบต้าแคโรทีน, วิตามินบี และวิตามินอี

โดยปกติแล้วผู้ป่วยโรคมะเร็งมักจะขาดวิตามินดี ซึ่งจากการศึกษาพบว่าการวิจัยทางคลินิกแบบสุ่มตัวอย่างมีหลักฐานอย่างจำกัดพบว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เป็น “วิตามินดี” นั้นช่วยเพิ่มการทำงานของปอดและช่วยลดความเสี่ยงโรคหืดหอบในคนที่เคยสูบและยังคงสูบบุหรี่อยู่ [3]

ดังนั้น การบริโภควิตามินและแร่ธาตุผ่านในรูปของอาหารนั้นจะช่วยลดความเสี่ยงในการได้รับวิตามินและแร่ธาตุเกินขนาดได้ อีกทั้งยังทำให้มีความหลากหลายของแร่ธาตุในอาหารอีกด้วย และอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มากเกินพอดี ซึ่งหากจะเลือกผลิตภัณฑ์เสริมอาหารก็อาจจะเป็นสมุนไพรที่มีแร่ธาตุที่หลากหลายหรือหากปรุงเป็นตำรับยาแบบภูมิปัญญาไทยก็อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เช่นเดียวกับวิตามินดีนั้นสามารถที่จะหาได้ด้วยการออกกำลังกายกลางแจ้งสัมผัสแสงแดดก็จะทำให้ร่างกายเรานำคอลเตอรอลมาสังเคราะห์เป็นวิตามินดีตามธรรมชาติได้ โดยไม่ต้องเสียเงินแต่ประการใด
ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต
อ้างอิง
[1] Fan Chen, et al., Association Among Dietary Supplement Use, Nutrient Intake, and Mortality Among U.S. Adults: A Cohort Study, Annal of Internal Medicine, 7 May 2019
[2] Harive M., Nuitritional Supplements and Cancer:potential benefits and proven harms. American Society of Clinical Oncology Educational book, 2014:e478-86. Doi: 10.14694/EdBook_AM.2014.e478
[3] Naser A. Alsharairi, The Effects of Dietary Supplements on Asthma and Lung Cancer Risk in Smokers and Non-Smokers: A Review of the Literature, Nutrients 2019, Published: 28 March 2019, 11(4), 725; https://doi.org/10.3390/nu11040725


กำลังโหลดความคิดเห็น