xs
xsm
sm
md
lg

“น้ำเต้าหู้” เครื่องดื่มมีประโยชน์ แต่ดื่มมากไปก็ไม่ดี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

“น้ำเต้าหู้” ทำมาจาก “น้ำนมถั่วเหลือง” เป็นแหล่งอาหารที่มีคุณค่าทางอาหารสูง อุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน โปรตีน แมกนีเซียม รวมทั้งมีวิตามินแร่ธาตุต่างๆ มากมาย ได้แก่ วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 6 วิตามินบี 12 วิตามินซี วิตามินดี วิตามินอี ไนอาซิน และเลซิทิน อีกทั้งยังหารับประทานได้ง่าย ราคาไม่แพง จึงเป็นเครื่องดื่มยอดฮิตสำหรับผู้ที่รักสุขภาพอย่างมาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น น้ำเต้าหู้ถึงมีประโยชน์มากเพียงใด แต่ใช่ว่าจะไม่มีโทษเลย มาส่องประโยชน์และโทษของน้ำเต้าหู้กัน

ประโยชน์ของ น้ำเต้าหู้ ต่อสุขภาพ

1.น้ำเต้าหู้เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาในเรื่องการแพ้นมวัว หรือดื่มนมวัวแล้วย่อยไม่ดี ท้องเสีย หรือดื่มนมวัวไม่ได้ เนื่องจากไม่มีน้ำตาลแลกโตส (lactose) และกรดอะมิโนเคซีน (casein) เหมือนในน้ำนมวัว


2.น้ำเต้าหู้ช่วยบำรุงกระดูก ป้องกันกระดูกพรุนได้ เพราะมีสารไอโซฟลาโวนอยด์ที่มีส่วนช่วยลดการสลายกระดูก ทำให้มวลกระดูกหนาแน่นขึ้น และยังช่วยเพิ่มปริมาณวิตามินดีในกระดูกของผู้หญิงวัยทองอีกด้วย ซึ่งมีงานวิจัยในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนชาวสเปน พบว่าการบริโภคน้ำนมถั่วเหลืองช่วยเพิ่มปริมาณวิตามินดี และช่วยลดกระบวนการสลายกระดูก นอกจากนั้น การบริโภคสารไอโซฟลาโวนจากถั่วเหลืองเพิ่มเติม อาจช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของกลุ่มตัวอย่างได้ และช่วยเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูกได้อีกด้วย

3.มีใยอาหารสูง ช่วยให้ระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายดีขึ้น แถมยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ได้ด้วย

4.มีส่วนช่วยบำรุงสมอง ทำให้ความจำดี เนื่องจากน้ำเต้าหู้มีสารเลซิทินมีสรรพคุณช่วยบำรุงสมองและระบบประสาท

5.น้ำเต้าหู้ช่วยลดความอ้วน ลดน้ำหนัก และลดไขมันได้ เนื่องจากในน้ำเต้าหู้อุดมไปด้วยไขมันไม่อิ่มตัวสูง และกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกายอยู่สูง มีคอเลสเตอรอลต่ำ ซึ่งจะส่งผลดีคือไม่ทำให้อ้วน โดยมีการทดลองเปรียบเทียบประสิทธิผลของน้ำเต้าหู้กับนมวัวขาดมันเนยกับระดับไขมันในเลือดและการทำปฏิกิริยากับผนังเซลล์ไขมัน (Lipid Peroxidation) ในผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง ผลลัพธ์ชี้ว่าน้ำเต้าหู้มีส่วนช่วยในการลดระดับไขมันในเลือดและลดการเกิดปฏิกิริยาที่สารอนุมูลอิสระทำปฏิกิริยากับกรดไขมันไม่อิ่มตัวในผนังเซลล์ ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้ป่วยภาวะไขมันในเลือดสูง

6.ช่วยลดความดันโลหิต และลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ พบว่าการดื่มน้ำเต้าหู้มีส่วนช่วยในเรื่องความดันโลหิตขณะที่หัวใจบีบตัวและคลายตัวได้ และยังพบว่าทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ร่วมกับการเป็นโรคไตนั้นสามารถควบคุมระดับความดันโลหิตได้ โดยมีการทดลองที่ศึกษาผลลัพธ์จากการบริโภคน้ำเต้าหู้ที่สัมพันธ์กับระดับความดันโลหิตในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีภาวะไตผิดปกติร่วมด้วย พบว่าการบริโภคน้ำเต้าหู้มีผลต่อการควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ดีขึ้น

ดื่มน้ำเต้าหู้มากเกินไป...ก็เกิดโทษ

-การดื่มน้ำเต้าหู้มากเกินไปจะส่งผลให้เกิดโรคมะเร็งเต้านมกับผู้หญิงได้ เนื่องจากโปรตีนที่มีมากในถั่วเหลืองซึ่งเป็นส่วนผสมสำคัญของน้ำเต้าหู้ ถ้าร่างกายได้รับมากเกินจำเป็นก็สามารถทำให้เซลล์มะเร็งเติบโตอย่างรวดเร็วได้


-หากมีโรคประจำตัวแต่ต้องการดื่มน้ำเต้าหู้ ควรปรึกษาแพทย์เสียก่อน เนื่องจากโรคบางโรคมีข้อจำกัดและอาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้ เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมหรือโรคมะเร็งเยื่อบุมดลูก เพราะในถั่วเหลืองมีสารไอโซฟลาโวนที่คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนนั่นเอง

-อาจมีผลทำให้เกิดความเสี่ยงหรืออาการกำเริบมากขึ้น เช่น โรคไต โรคนิ่วในไต โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ โรคเบาหวาน โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ หรือแม้แต่ผู้ที่แพ้นมวัวก็อาจแพ้น้ำเต้าหู้ได้

-นอกจากนี้แล้ว ผู้ป่วยไทรอยด์ไม่ควรรับประทานถั่วเหลือง เนื่องจากการดื่มน้ำเต้าหู้มากเกินไปอาจส่งผลต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์จากการที่ถั่วเหลืองเข้าไปกั้นไอโอดีนที่จำเป็นต่อต่อมไทรอยด์ ทำให้เกิดอาการอารมณ์แปรปรวน ร่างกายอ่อนเพลีย และน้ำหนักลดลง นอกจากนี้ โปรตีนในถั่วเหลืองอาจเกิดการจับตัวเป็นก้อนได้ ซึ่งจะทำให้การทำงานของเม็ดเลือดไม่มีประสิทธิภาพ

-การดื่มน้ำเต้าหู้ที่ผสมน้ำตาลในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดโรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงได้ ทางที่ดีควรเลือกดื่มแบบไม่ใส่น้ำตาลหรือน้ำตาลน้อยจะดีกว่า


วิธีการเลือกซื้อและการดื่มน้ำเต้าหู้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

- น้ำเต้าหู้ที่ดีควรมีลักษณะของน้ำที่ไม่ใสจนเกินไป และต้องไม่มีกลิ่นเปลี่ยนไปจากเดิม

- อาจเติมธัญพืชต่างๆ ลงไป เช่น ลูกเดือย ถั่วเหลือง ถั่วแดง เม็ดแมงลัก ฯลฯ เพราะช่วยเพิ่มความอร่อยและเพิ่มคุณประโยชน์มากขึ้นกว่าเดิม

- ไม่ควรเติมความหวานมากเกินไป หรือถ้าดื่มแบบไม่เติมความหวานได้จะดีต่อร่างกายมากกว่า

- ดื่มในปริมาณที่พอเหมาะ ซึ่งปริมาณที่แนะนำคือ 1-2 แก้วต่อวัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นควรเลือกรับประทานอาหารหลากหลายให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วน

ข้อมูลประกอบบางส่วน
www.honestdocs.co
www.pobpad.com



กำลังโหลดความคิดเห็น