xs
xsm
sm
md
lg

“กัญชา” ใช้เป็น เกิดประโยชน์ ใช้มั่ว เกิดโทษ / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

กัญชาเป็นพืชสมุนไพรที่คนไทยและชาวเอเชียรู้จักการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์มาเป็นเวลานาน ซึ่งแน่นอนว่าพืชสมุนไพรนั้น ไม่เพียงแต่การปรุงเป็นตำรับยาเท่านั้น แต่ถูกนำมาปรุงเป็นอาหารได้ด้วย กัญชาก็เป็นพืชสมุนไพรที่เคยถูกนำมาประกอบอาหารเช่นเดียวกัน

คนไทยในอดีตไม่เคยมีความทุกข์ยากจากสมุนไพรในการปรุงอาหารเลย ในทางตรงกันข้ามกลับทำให้รสชาติอาหารดีขึ้น เจริญอาหารขึ้นเสมือนเป็นผงชูรส ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะปริมาณสารสำคัญในระดับการปรุงอาหารไม่ได้ออกฤทธิ์ทางจิตประสาทเหมือนกับการสกัดสารสำคัญแบบเข้มข้นเหมือนในยุคปัจจุบัน

ถ้าใครคิดว่าจะเกิดการเสพติด “น้ำมันกัญชา” อาจจะต้องคิดใหม่ เพราะเอาเข้าจริงแล้วคนที่บริโภคน้ำมันกัญชาในปริมาณมากๆ ไม่ได้มีความสุข สนุก เคลิบเคลิ้มรูปแบบของการเสพด้วยการสูบกัญชาเลย แต่คนที่ใช้น้ำมันกัญชาในปริมาณมากๆกลับมีอาการจิตประสาท ภาพซ้อน มึนเมา หัวใจเต้นเร็ว หรือวูบจากน้ำตาลตก หวาดกลัว ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่ได้ทำให้ผู้ที่ใช้นำ้มันกัญชามีความสุขได้เลยหากใช้ปริมาณเกินพอดี

สิ่งที่ผู้ใช้น้ำมันกัญชาพึงจะต้องรู้ก็คือ “ความเข้มข้นที่มากที่สุด” อาจไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด เพราะต่อมรับหรือ Receptor กลุ่มสารแคนนาบินอยด์ของแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนต้องใช้ปริมาณน้อยนิดก็เกิดอาการข้างเคียงมาก บางคนต้องใช้ปริมาณมากกว่าคนอื่นจึงจะได้ผลดี

เอาเข้าจริงๆ แล้ว คนในยุคนี้ที่ต้องการใช้กัญชาอย่างมากมายมหาศาลในขณะนี้ อาจไม่ได้ป่วยร้ายแรงเพื่อที่ต้องการใช้จริงๆ แต่คนจำนวนไม่น้อยต้องการจะทดลองดู และสิ่งที่ต้องการจะทดลองเป็นส่วนใหญ่คือต้องการสัมผัสความรู้สึกหลับลึก ว่าเป็นอย่างไร แต่เมื่อมีคนใช้น้ำมันกัญชามากเกินแล้ว กลับไม่มีความสุขเมื่อตื่นขึ้นมาเพราะเกิดอาการมึนงง และไม่ได้มีความสดชื่นเหมือนดังที่คาดหวังไว้ หลายคนขยาดไม่กล้าใช้น้ำมันกัญชาอีกเลยก็มีไม่น้อย

จริงอยู่ที่ว่าสารสกัดกัญชานั้นมันสามารถเข้าไปเติมต่อมรับกัญชาในร่างกายมนุษย์ได้ และมีส่วนช่วยปรับสมดุลของร่างกาย แต่เอาเข้าจริงแล้วคนในวงการแพทย์แผนไทยที่เข้าใจในเรื่องรสยา เขาจะเห็นผลเสียของกัญชาที่มีต่อหัวใจ หรือที่ในวงการแพทย์แผนไทย เรียกว่า “แสลงกับหัวใจพิการ”

อีกทั้งยังมีผลเสียที่ทำให้ทางเดินอาหารเคลื่อนตัวช้าลง คนที่ใช้น้ำมันกัญชาจำนวนหนึ่งจึงรู้สึกท้องอืด หรือถึงขั้นท้องผูกขึ้นก็มี ยิ่งหากใช้ร่วมกับพืชที่ฤทธิ์เย็นอย่างใบบัวบก ย่านาง ก็อาจยิ่งทำให้เกิดภาวะเย็นเกินจนไม่สามารถขับถ่ายของเสียได้ และด้วยเหตุผลนี้ตำรับยาไทยจึงต้องมีพริกไท ดีปลี ขิงแห้ง ฯลฯ ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรฤทธิ์ร้อนสุขุม เพื่อเพิ่มการเคลื่อนไหวของลำไส้ และแก้ปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารที่เคลื่อนตัวช้าลงของระบบทางเดินอาหาร

นอกจากนั้นประเด็นที่มีที่งานวิจัยยังไม่เพียงพอต่อเรื่องระบบภูมิคุ้มกัน เพราะคนที่นอนไม่หลับนั้นระบบภูมิคุ้มกันจะตก การนอนหลับได้จะช่วยทำให้ระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้น แต่งานวิจัยเกี่ยวกับกัญชานั้นยังมีข้อสงสัยจากงานวิจัยบางชิ้นที่ระบุว่า สารสกัดกัญชาอาจมีผลต่อการกดระบบภูมิคุ้มกันได้ด้วย

ด้วยเหตุผลนี้ ตำรับยาไทยที่มีการเสริมฤทธิ์ร้อนเช่น พริกไทย นั้นจะทำหน้าที่ทดแทนระบบภูมิคุ้มกันที่อาจตกลงได้ ด้วยเหตุผลนี้คนในยุคนี้จึงควรหันกลับไปถอดรหัสจากภูมิปัญญาในอดีตให้มาเป็นบทเรียน เพื่อประยุกต์ใช้กับข้อมูลใหม่ที่ได้จากสารสกัดเข้มข้นในยุคปัจจุบันด้วย

จริงอยู่ที่ว่ากัญชาช่วยลดการเกร็ง ช่วยลดการอักเสบ ทำให้หลับ เจริญอาหาร ลดความเครียด ฯลฯ แต่ทั้งหมดก็ต้องอยู่บนฐานที่ว่ามีการใช้พอดี ไม่น้อยไป และไม่มากไป และต้องอาศัยองค์ความรู้อื่นๆมาบูรณาการร่วมด้วย และหนทางที่จะรู้ว่าจะใช้ได้อย่างปลอดภัยคือเริ่มจากใช้ให้น้อยถึงน้อยที่สุด เพื่อให้มั่นใจว่าปลอดภัยแล้วจึงค่อยๆปรับระดับเพิ่มให้เหมาะสมสำหรับแต่ละคน
ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต


กำลังโหลดความคิดเห็น