xs
xsm
sm
md
lg

“ผายลม” วันละกี่ครั้ง ถึงดีต่อสุขภาพ?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

การ “ผายลม” หรือ “ตด” เป็นเรื่องปกติธรรมชาติ เป็นเพียงกระบวนการทางธรรมชาติของร่างกายในการขับไล่ลมหรือแก๊สผ่านลำไส้ใหญ่เท่านั้น เพราะหากไม่มีการผายลมเลยอาจจะทำให้คุณจะรู้สึกอึดอัด ไม่สบายได้

การผายลมเกิดจากแก๊สที่สะสมในระบบย่อยอาหาร เนื่องจากกระบวนการย่อยสลายอาหารไปเป็นพลังงานของร่างกาย การรับประทานอาหารบางชนิดที่ทำให้เกิดแก๊สมาก หรือการกลืนอากาศ สูบบุหรี่ ฯลฯ โดยแก๊สส่วนใหญ่จะถูกขับออกมาด้วยการ ‘เรอ’ แต่ก็มีบางส่วนที่ลงไปสู่ระบบย่อยอาหารผ่านลำไส้ ทำให้เกิดอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย และขับออกมาในรูปแบบของการ ‘ผายลม’ แล้วผายลมแบบไหนล่ะที่เรียกว่าดีต่อสุขภาพ

“ผายลม” วันละกี่ครั้งถึงจะดีต่อสุขภาพ?

การตด หรือผายลม มักเกิดขึ้นได้ตั้งแต่วันละ 6-20 กว่าครั้ง โดยปกติแล้วผู้ที่มีร่างกายอุดมสมบูรณ์และแข็งแรงดีจะผายลมประมาณ 14-23 ครั้งต่อวัน แต่หากภายในหนึ่งวันผายลมที่มากกว่า 23 ครั้ง นั่นถือว่าร่างกายผิดปกติ

เพราะการผายลมมากเกินไปเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงสุขภาพภายในได้ เช่น

โรคมะเร็งลำไส้, โรคลำไส้แปรปรวน, กรดไหลย้อน, แพ้อาหารที่มีส่วนประกอบของแลคโตส (lactose) เช่น นมวัว และโยเกิร์ต, แพ้กลูเตน, อาหารเป็นพิษ, แผลในกระเพาะอาหาร, กระเพาะอาหารอักเสบ รวมไปถึงระบบดูดซึมอาหารทำงานผิดปกติ

5 วิธีป้องกันไม่ทำให้ผายลมบ่อยจนเกินไป

1.หลีกเลี่ยงหรือลดการรับประทานอาหารที่มีเส้นใยอาหาร น้ำตาลธรรมชาติ และแป้งที่ย่อยยาก โดยอาหารเหล่านี้จะทำให้เกิดแก๊สในระบบย่อยอาหารมากขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุให้มีแก๊สในกระเพาะมาก รู้สึกปวดท้อง ท้องอืด และผายลมตามมา ได้แก่

•ผักบางชนิด ไม่ว่าจะเป็นหน่อไม้ฝรั่ง กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บร็อกโคลี แตงกวา พริกหยวก หัวหอม ถั่วลันเตา มันดิบ หัวผักกาด
•ผลไม้บางชนิด เช่น แอปริคอต แอปเปิลแดง แอปเปิลเขียว กล้วย แตงโม ลูกพรุน ลูกท้อ ลูกแพร์
•ธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสี ข้าวโอ๊ต
•ถั่วบางชนิด เช่น ถั่วลิสง ถั่วแดง ถั่วเขียว ถั่วเหลือง
•นมและผลิตภัณฑ์จากนม เช่น ชีส ไอศกรีม โดยเฉพาะในผู้ที่มีภาวะย่อยแลคโตสผิดปกติ
•อาหารชนิดอื่นนอกจากนมที่อาจประกอบด้วยแลคโตส เช่น ขนมปัง น้ำสลัด และธัญพืช
•อาหารจากไข่
•อาหารทอดหรืออาหารที่มีไขมันสูง ซึ่งสามารถก่อให้เกิดอาการท้องอืดได้
•เครื่องดื่มน้ำอัดลมต่างๆ รวมถึงน้ำผลไม้ เบียร์ ไวน์
•น้ำตาลและสารที่ใช้แทนน้ำตาล เช่น ซอร์บิทอล

2.หันมารับประทานอาหารที่มีซัลเฟอร์น้อย เช่น ปลา ไก่ อะโวคาโด มะเขือยาว (Eggplant) ปวยเล้ง (Spinach) แครอท เป็นต้น เนื่องจากอาหารที่มีสารซัลเฟอร์ปริมาณมากนั้นจะก่อให้เกิดแก๊ส แถมยังมีกลิ่นอีกด้วย

3.รับประทานอาหารและดื่มน้ำช้าๆ เพราะการรับประทานอาหารอย่างเร่งรีบจนเกินไปอาจทำให้มีการกลืนอากาศลงไปมาก จะเกิดแก๊สตามมาในที่สุด

4.ไม่ควรดื่มน้ำก่อนมื้ออาหาร เนื่องจากจะทำให้สูญเสียกรดที่ใช้ในการย่อยอาหาร ทำให้อาหารถูกย่อยสลายได้ไม่ดีเท่าที่ควร ทางที่ดีควรดื่มน้ำก่อนรับประทานอาหาร 30 นาที เพราะจะช่วยให้กระเพาะสามารถย่อยได้ดีขึ้น

5.เลี่ยงพฤติกรรมที่อาจทำให้ต้องกลืนอากาศเข้าไป เช่น การเคี้ยวหมากฝรั่ง อมลูกอม สูบบุหรี่ หรือดื่มน้ำจากหลอด ซึ่งการกลืนอากาศเข้าไปมากเกินไปนั้นจะส่งผลให้มีอาการเรอ หรือสะอึก รวมไปถึงการผายลมตามมา

ดังนั้น หากผายลมบ่อยครั้งเกินไปติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร แต่หากยังไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์

ข้อมูลอ้างอิงประกอบ
www.pobpad.com
www.honestdocs.co



กำลังโหลดความคิดเห็น