xs
xsm
sm
md
lg

กัญชา : ๑ ในเครื่องยา ตำรับโอสถสมเด็จพระนารายณ์ / วนิดา คุ้มอนุวงศ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

บทความโดย : วนิดา คุ้มอนุวงศ์

“อโรคยา ปรมาลาภา” ความไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ พุทธพจน์บทนี้เป็นสัจธรรมเที่ยงแท้ซึ่งยากที่จะปฏิเสธ แต่เมื่อเกิดโรคภัยไข้เจ็บ เกิดการเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้น บรรพชนจึงได้คิดค้น ค้นหายารักษาอาการป่วยต่างๆ ด้วยภูมิปัญญา โดยใช้วัตถุดิบสมุนไพรหลากหลายชนิดที่หาได้ในยุคสมัยนั้น รวมถึง "กัญชา" ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มสมุนไพรเข้าเครื่องยามาแต่สมัยอยุธยา

กระทั่งเกิดการบันทึกเป็นสูตรยา ตำรายารักษาโรคหลายขนาน เกิดองค์ความรู้ทางการแพทย์อายุศาสตร์ เกิดตำรับยาอายุรเวทรักษาอาการป่วยด้วยโรคต่างๆ ขึ้น ผ่านกาลเวลา ผ่านการสืบทอดมรดกความรู้ทางการแพทย์จากรุ่นสู่รุ่น จากบรรพกาลจวบจนถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดสูตรหรือตำรับยาสมุนไพรขึ้นหลากหลายขนานด้วยกัน ซึ่งในปัจจุบันยังคงมีการนำตำรับยาสมุนไพรมากมายมาใช้ในวงการแพทย์แผนไทย

สำหรับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีเหลือตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนใหญ่ เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการแพทย์ในราชสำนักสมัยอยุธยาตอนต้น เช่น ทำเนียบศักดินา ใน "กฎหมายตราสามดวง" ที่ตราขึ้นใน พ.ศ. ๑๙๙๘ มีการระบุศักดินาของข้าราชการพลเรือน ที่ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ในตำแหน่งต่างๆ ตามลำดับ โดยแบ่งเป็นกรมต่างๆ เช่น กรมแพทยา กรมหมอยา กรมหมอกุมาร กรมหมอนวด กรมหมอยาตา กรมหมอวรรณโรค โรงพระโอสถ แต่ละกรมมีเจ้ากรม และตำแหน่งข้าราชการระดับอื่นๆ ที่มีศักดินาลดหลั่นกันไป

ส่วนในสมัยอยุธยาตอนปลาย มีหลักฐานสำคัญชิ้นหนึ่ง แสดงให้เห็นภูมิปัญญาทางด้านการแพทย์ของบรรพบุรุษไทย คือ "ตำราพระโอสถพระนารายณ์" ตำรานี้สืบทอดมาถึงปัจจุบันได้อย่างเกือบสมบูรณ์ อาจจะมีคลาดเคลื่อนไปบ้างในการคัดลอกชื่อสมุนไพร หรือคำราชาศัพท์บางคำผิดเพี้ยนไปบ้างเท่านั้น โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีพระวินิจฉัยว่า ตำรานี้ น่าจะรวบรวมขึ้นในราวรัชสมัย สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ หรืออย่างช้าก็ในรัชสมัย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

และจากตำราพระโอสถพระนารายณ์นี้เองที่ทำให้ได้รู้ว่า มีคัมภีร์อย่างน้อย ๒ เล่ม คือ คัมภีร์มหาโชติรัต (ตำราเกี่ยวกับโรคสตรี) และคัมภีร์โรคนิทาน (ตำราเกี่ยวกับเรื่องราวของโรค) มีใช้กันอยู่แล้วอย่างน้อยก็ในสมัยอยุธยาตอนปลาย และคัมภีร์ทั้ง ๒ เล่มนี้ ยังคงเป็นตำราการแพทย์แผนไทยโบราณ ที่ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทย ใช้ศึกษากันในปัจจุบัน

สำหรับ ตำราพระโอสถพระนารายณ์ หรือ คัมภีร์ธาตุพระนารายณ์ ซึ่งเป็นหลักฐานทางการแพทย์ไทยชิ้นสำคัญ ที่เหลือสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายเกี่ยวกับตำรายานี้ไว้ว่า “ที่เรียกว่าตำราพระโอสถพระนารายณ์ เพราะมีตำราพระโอสถซึ่งหมอหลวงได้ประกอบถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หลายขนานปรากฏชื่อหมอและวันคืนที่ได้ตั้งพระโอสถนั้นๆ จดไว้ชัดเจน อยู่ในระหว่างปีกุนจุลศักราช ๑๐๒๑ (พ.ศ. ๒๒๐๒ ) จนปีฉลู จุลศักราช ๑๐๒๓ (พ.ศ. ๒๒๐๔ ) คือระหว่างปีที่ ๓ จนถึงปีที่๕ ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช”

ตำราพระโอสถพระนารายณ์นี้แบ่งออกได้เป็น ๓ ส่วน ส่วนที่ ๑ ว่าด้วย ความผิดปกติของธาตุทั้ง ๔ และยาแก้ ส่วนที่ ๒ ว่าด้วย ตำรับยาที่มีชื่อเรียก ส่วนที่ ๓ ว่าด้วยตำรับยาน้ำมันและยาขี้ผึ้ง ซึ่งมีตำรับยาบันทึกไว้ทั้งหมดไม่น้อยกว่า ๘๑ ตำรับ บางตำรับ ระบุชื่อแพทย์ผู้ประกอบยา ตลอดจนวันเดือนปีที่ปรุงยาถวาย ซึ่งทั้งหมด เป็นยาที่ปรุงถวายในช่วงปีที่ ๓ ถึงปีที่ ๕ ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. ๒๒๐๒ - ๒๒๐๔)

นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือ มีการระบุชื่อแพทย์ที่ประกอบยาถวาย ๙ คน ในจำนวนนี้เป็นหมอชาวต่างชาติ ๔ คน คือ หมอจีน ๑ คน (ขุนประสิทธิโอสถจีน) หมอแขก ๑ คน (ออกประสิทธิสารพราหมณ์เทศ) และหมอฝรั่ง ๒ คน (พระแพทย์โอสถฝรั่ง และเมสีหมอฝรั่ง) แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลวัฒนธรรมทางการแพทย์ของต่างประเทศที่เข้ามามีบทบาท ผสมผสานกับภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทย มีการใช้เครื่องยาเทศ ในยาเกือบทุกตำรับ ที่บันทึกไว้ในตำรา พระโอสถพระนารายณ์ เช่น โกฐต่างๆ เทียนต่างๆ โหราต่างๆ ชะมดเชียง โกฐสอเทศ น้ำดอกไม้เทศ ยิงสม (โสม) อันแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ที่รู้จักเลือกใช้เครื่องยาดีของต่างประเทศ ประยุกต์เข้ากับสมุนไพรพื้นบ้านที่มีอยู่ เช่น กัญชา โดยขอยกตัวอย่างตำรับยาขนานที่ใช้ “กัญชา” เป็นส่วนผสมในตำราพระโอสถพระนารายณ์ ดังนี้

ตำรับขนานที่ ๑๑ ชื่อ อัคคินีวคณะ

“อัคคินีวคณะ เอา กัญชา ยิงสม สิ่งละส่วน เปลือกอบเชย ใบกระวาน กานพลู สะค้าน สิ่งละ ๒ ส่วน ขิงแห้ง ๓ รากเจตมูลเพลิง ดีปลี สิ่งละส่วน น้ำตาลกรวด ๖ ส่วน กระทำเป็นจุณ น้ำผึ้งรวงเป็น กระสาย บดเสวยหนักสลึง ๑ แก้อาเจียน ๔ ประการ ด้วยติกกะขาคินีกำเริบ แลวิสมามันทาคินีอันทุพล จึงคลื่นเหียนอาเจียน มิให้เสวยพระกระยาหาร เสวยมีรศชูกำลังยิ่งนัก ข้าพระพุทธเจ้า ขุนประสิทธิโอสถจีน ประกอบทูลเกล้าฯถวาย ครั้งสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้าเมืองลพบุรี เสวยเพลาเข้าอัตรา ดีนักแลฯ”

ตำรับยาขนานที่ ๔๓ ชื่อ ทิพกาศ

“ทิพกาศ เอา ยาดำ เทียนดำ ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ กระวาน พิมเสน สิ่งละส่วน การบูร 4 ส่วน ฝิ่น 8 ส่วน ใบกัญชา 16 ส่วน สุราเปนกระสาย บดทำแท่ง น้ำกระสายใช้ให้ชอบโรคร้อนแลเย็น กินพอควร แก้สารพัดทั้งหลายอันให้ระส่ำระสาย กินข้าวมิได้ นอนมิหลับ ตกบุพโพโลหิต ลงแดง หายแล ฯ”

ยาทิพกาศขนานนี้เข้าเครื่องยา ๙ สิ่ง เป็นของพื้นบ้านไทย ๕ สิ่ง ได้แก่ ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ กระวาน ฝิ่น และใบกัญชา เข้าตัวยาเทศ ๔ สิ่ง ได้แก่ ยาดำ เทียนดำ การบูร และพิมเสน ส่วนตัวยาเทศทั้ง ๔ สิ่งเป็นของต่างชาติที่แพทย์ไทยโบราณนำมาผสมผสานในตำรับยาไทย ยาดำ (aloe) ได้มาจากทวีปแอฟริกา เทียนดำ (black cumin) มาจากอินเดีย และเปอร์เซีย การบูร (camphor) มาจากญี่ปุ่นและแถบชายฝั่งตะวันออกของจีน และพิมเสน (Borneo camphor) ได้มาจากรัฐตรังกานู ไทรบุรี และปะลิส ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสยาม

ตำรับยาขนานที่ ๔๔ ชื่อยาสุขไสยาศน์

“สุขไสยาศน์ เอาการบูรส่วน ๑ ใบสะเดา ๒ ส่วน สหัศคุณเทศ ๓ ส่วน สมุลแว้ง ๔ ส่วน เทียนดำ ๕ ส่วน โกฏกระดูก ๖ ส่วน ลูกจันทน์ ๗ ส่วน ดอกบุนนาค ๘ ส่วน พริกไทย ๙ ส่วน ขิงแห้ง ๑๐ ส่วน ดีปลี ๑๑ ส่วน ใบกัญชา ๑๒ ส่วน ทำเป็นจุณละลายน้ำผึ้ง เมื่อจะกินเสกด้วยสัพพีติโย ๓ จบ แล้วกินพอควร แก้สรรพโรคทั้งปวงหายสิ้น มีกำลังกินเข้าได้นอนเป็นศุขนักแล ฯ”

ตำรับยาขนานลำดับที่ ๕๕ ชื่อ ยามหาวัฒนะ

“มหาวัฒนะ เอา ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ กระวาน กานพลู สิ่งละส่วน เทียนดำ เทียนขาว เทียนแดง เทียนสัตบุษ เทียนเยาวภานี โกฏสอ โกฏเขมา โกฏกัตรา โกฏพุงปลา บอระเพ็ด ใบกัญชาสหัสคุณทั้ง ๒ ลูกพิลังกาสา รากไคร้เครือ แห้วหมูใหญ่ ขมิ้นอ้อย พริกหอม พริกหาง สิ่งละ ๒ ส่วน ดีปลีเท่ายาทั้งนั้น จึงเอาใบกระเพราแห้ง ๒ เท่าดีปลี ทำเป็นจุณละลายน้ำผึ้งรวงเป็นลูกกลอนกินหนักสลึง ๑ กินไปทุกวันให้ได้เดือน ๑ จึงจะรู้จักคุณยาเห็นประจักษ์อันวิเศษ แก้ฉันวุตติโรค ๙๖ ประการให้กับพยาธิทั้งหลายทุกประการดีนักแล ฯ”

ทั้งหมดนี้ คือสูตรยา หรือ ตำรับยาที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมตามสัดส่วนในแต่ละขนาน ซึ่งเป็นตำรับยาสมุนไพรไทยโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา กระทั่งกลายเป็นมรดกทางการแพทย์แผนไทยให้ได้สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งปัจจุบันในด้านกฎหมายยังไม่ประกาศออกมาเป็นที่แน่ชัดว่า กัญชา นั้นจะถูกจัดให้อยู่ในส่วนผสมของยารักษาโรค หรือ จัดให้เป็นเพียงยาเสพติดชนิดหนึ่งเท่านั้น
-----------------------------
อ้างอิง
* สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ 33 / เรื่องที่ 8 การแพทย์แผนไทย / ประวัติการแพทย์แผนไทย :
* SILPA-MAG.COM : วันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2561 :“กัญชา” ยาเสพติด ที่เคยเป็นยารักษาโรค มีใช้กันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ระบุไว้ในตำราแพทย์โบราณหลายสำนัก
* วีรยา ถาอุปชิต และคณะ. การใช้กัญชาทางการแพทย์, วารศาสตร์เภสัชอีสาน ปีที่ 13 ฉบับพิเศษ ม.ค.-มี.ค. 2560
* คัมภีร์ธาตุพระนาราณ์ ฉบับใบลาน (ตำราพระโอสถพระนารายณ์), สำนักคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2555


กำลังโหลดความคิดเห็น