xs
xsm
sm
md
lg

เวียนหัวบ้านหมุนบ่อย เสี่ยง...โรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เคยไหม? เวียนหัว บ้านหมุนบ่อยๆ ไม่ว่าจะลุกจะนั่ง จะหันไปทางไหนก็พาลเวียนเกล้าได้ทุกที บางครั้งก็อาการหนักถึงขั้นอาเจียน...คุณยังคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติอยู่หรือเปล่า

ณ ตอนนี้โลกเราเปลี่ยนไปเร็ว โรคใหม่ๆ เกิดขึ้นไวพอๆ กับการเกิดของคน ฉะนั้นโรคแปลกๆ ก็อาจเกิดกับเราเมื่อใดก็ได้ และโรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อนก็ดูเป็นชื่อโรคที่แปลก ใครจะคิดว่ามันมีโรคนี้อยู่จริงๆ

โรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน หรือ Benign Paroxysmal Positional Vertigo (BPPV) เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของตะกอนหินปูนในหูชั้นใน หินปูนนี้มีหน้าที่รับรู้การเคลื่อนที่ของศีรษะ หากมันหลุดออกมาก็จะทำให้เกิดอาการวิงเวียนคล้ายบ้านหมุนได้ ส่วนใหญ่จะพบในผู้สูงอายุ 50 ปีขึ้นไป แต่คนหนุ่มสาวก็มีโอกาสเป็นได้เช่นกัน

อาการของโรคนี้จะเริ่มต้นด้วยการเวียนหัว บ้านหมุน เมื่อเรามีการขยับศีรษะ โดยเฉพาะเวลาก้มๆ เงยๆ เวลาลุกขึ้นจากเตียง หรือเวลาล้มตัวนอน เพราะแรงโน้มถ่วงของโลกมีผลทำให้ตะกอนหินปูนในหูเคลื่อนที่หลุดได้ บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนด้วย
แต่อาการเหล่านี้มันเป็นไม่นาน เป็นๆ หายๆ แต่เมื่อมีการเคลื่อนศีรษะมากๆ อีกก็ทำให้เกิดอาการขึ้นอีกได้ บางทีอาจเกิดซ้ำๆ นานเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือนเลยทีเดียว

นอกจากนี้ สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ยังมีหลายประการ เช่น

-เกิดอุบัติเหตุ ศีรษะได้รับการกระแทก หรือกระทบกระเทือน
-เป็นโรคที่มีความผิดปกติที่หูชั้นใน เช่น หูชั้นในอักเสบ
-ติดเชื้อที่หูชั้นใน
-มีการผ่าตัดที่หูชั้นกลางและชั้นใน
-เคลื่อนไหวศีรษะเร็วๆ ซ้ำๆ
-เป็นการเสื่อมตามอายุที่มากขึ้น

โดยการรักษาโรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อนนี้ มีหลักใหญ่ 3 วิธี คือ

- รักษาด้วยยา โดยวิธีนี้จะเป็นการรักษาแบบตามอาการ ไม่ได้รักษาอย่างตรงจุดมากนัก โดยแพทย์จะให้ยาแก้วิงเวียนศีรษะบรรเทาอาการไปก่อน เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ซึ่งมักจะเป็นวิธีก่อนจะทำการรักษาขั้นต่อไป

- การทำกายภาพบำบัด แบ่งออกเป็น 2 วิธี

วิธีแรกทำเพื่อเคลื่อนตะกอนหินปูนออกจากอวัยวะทรงตัวในหูชั้นใน เมื่อตะกอนหินปูนเคลื่อนออกมาแล้วก็จะไม่กระตุ้นให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะอีก โดยวิธีนี้ต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวโรควิงเวียนศีรษะเท่านั้น

วิธีที่ 2 ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำเองได้ที่บ้าน แรกๆ ที่ทำจะมีอาการเวียนศีรษะ แต่นานๆ ไปร่างกายจะเริ่มปรับตัว อาการวิงเวียนก็จะค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ

- การผ่าตัด โดยวิธีนี้จะใช้เมื่อการทำกายภาพบำบัดทั้ง 2 วิธีไม่ได้ผล ถือว่าผู้ป่วยมีอาการรุนแรงมากขึ้นแล้ว โดยจะติดตามผู้ป่วย 4-6 เดือน หากพบว่ายังคงมีอาการอยู่บ่อยๆ แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัด ซึ่งผลจะทำให้ไม่เกิดอาการเวียนศีรษะอีก

นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรระวังปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการมากขึ้นด้วย เช่น

-ทำกิจกรรมที่ต้องก้มๆ เงยๆ บ่อย 
-นั่งรถ นั่งเรือ และอาการเมาพาหนะต่างๆ
-การเปลี่ยนแปลงความดันอากาศ
-ความเครียด
-การพักผ่อนไม่เพียงพอ
-การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ข่าวโดย : ศศิธร ตะนัยสี



กำลังโหลดความคิดเห็น