xs
xsm
sm
md
lg

ยืดอายุแตะ 100 ปี แบบชาวโอกินาวะ “อิคิไก” / ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ไม่ว่าสังคมใด คนส่วนใหญ่ก็ล้วนอยากแก่ช้าและอายุยืนอย่างมีความสุขกันทั้งนั้นนะครับ

ทุกยุคสมัยมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาลจนถึงยุคสมัยใหม่ ก็มีผู้ศึกษาด้วยศาสตร์ต่างๆ เพื่อหวังบำรุงหรือสุขภาพและชะลอวัย ถ้าไปจนถึงขั้นเป็นชีวิตอมตะได้ก็ยิ่งดี

แม้ว่าวงจรชีวิตการเกิด แก่ เจ็บป่วยและตาย จะเป็นสัจธรรมความแน่นอนและความเสื่อมของชีวิตที่ไม่แน่นอนก็ตาม
แต่ปรากฏการณ์ของชุมชนที่มีคนอายุยืนยาวแตะ 100 ปี ที่เรียกกันว่า “ศตวรรษิตชน” (Centenarian)

ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าเขากินอยู่กันอย่างไร จึงได้มีสุขภาพและจิตใจอยู่ในสภาพ “สุขกาย สบายใจ” ที่น่าเรียนรู้กันไปทั่วโลก

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกรายงานว่า ประชากรของประเทศญี่ปุ่น มีอายุเฉลี่ยสูงที่สุดในโลก โดยผู้ชายอายุเฉลี่ย 85 ปี และผู้หญิง 87.3 ปี

เอ็กเตอร์ การ์เซีย และฟรานเซสต์ มิราเยส 2 นักเขียนชาวสเปน ซึ่งมีประเด็นอยากรู้ว่า ทำไมคนญี่ปุ่นจึงมีอายุเกิน 100 ปี มากที่สุดในโลก และได้เดินทางไปศึกษาข้อมูลที่จังหวัดโอกินาวะ บนเกาะทางตอนใต้ของญี่ปุ่น ซึ่งมีคนสูงอายุมากที่สุดของประเทศ (สัดส่วนคนอายุเกิน 100 ปี ต่อจำนวนประชากร 100,000 คน คือ 24.55 คน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก)

เจาะลึกลงไปอีกพบว่า เป็นหมู่บ้านโอะกิมิใน ชนบททางตอนเหนือของเกาะโอกินาวะ ซึ่งมีประชากร 3,000 คนมีอายุมากที่สุด

การศึกษาสาเหตุที่ประชากรบนเกาะทางใต้ของญี่ปุ่นมีคนอายุยืนกว่าที่ใดในโลก เขาทั้ง 2 ได้พบว่าเป็นเรื่องวิถีชีวิต คือ นอกจากเรื่องอาหารการกิน การดื่ม การใช้ชีวิตกลางแจ้งแล้ว หลักสำคัญในการใช้ชีวิตของชาวเกาะโอกินาวะ ก็ถือคำว่า “อิคิไก”

คำว่า IKIGAI หรืออิคิไก แปลง่ายๆ ตามแนวคิดชาวญี่ปุ่นก็หมายถึง “ความสุขที่เกิดการมีอะไรทำตลอดเวลา” แต่ยังมีความหมายที่ลึกซึ้งกว่านั้น

ในวงการวิชาการและผู้ใฝ่หาความหมายของชีวิตต่างสนใจคำนี้และมีหนังสือหลายเล่มหลายภาษาเผยแพร่อยู่ในตลาดโลกที่กล่าวถึงแนวคิดเรื่องนี้ ทำนองว่า “เหตุผลของการมีชีวิตอยู่” หรือ “มีแรงบันดาลใจที่จะลุกขึ้นใช้ชีวิตตอนเช้า”

ดร.ภิญโญ รัตนาพันธุ์ ผู้ศึกษาและมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่แนวคิดนี้ในเมืองไทยอธิบายว่า คือ สภาวะจิตของคนมีพลังใจ ในการทำสิ่งที่ประกอบด้วยความ ชื่นชอบ (Passion) เป็นพันธกิจ (Mission) เป็นอาชีพ (Vocation) ซึ่งอาจเป็นงานจากทักษะหรืออาสาสมัครก็ได้ วิชาชีพ (Profession) เป็นงานเฉพาะที่ผ่านการศึกษาอย่างเป็นทางการ

ขณะที่ข้อมูลจากนักวิทยาศาสตร์ซึ่งศึกษาวิถีชีวิตของคนในชุมชนที่มีอายุยืนยาว ซึ่งเรียกว่า “พื้นที่สีฟ้า” ก็พบว่ามีการให้ความสำคัญดังนี้

1.อาหารที่ดีต่อสุขภาพ
2.ออกกำลังกาย
3.มีจุดมุ่งหมายในชีวิต (อิคิไก)
4.มีความสัมพันธ์ทางสังคมและครอบครัวดี

แต่ผู้เขียนหนังสือ “อิคิไก” เล่มนี้บอกไว้ตอนท้ายเล่มว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้จากชาวโอกินาวะ ก็คือ ไม่ควรจะกังวลกับการค้นหาอิคิไกให้สมบูรณ์แบบก็ได้ ขอเพียงทำในสิ่งที่รักและเป็นประโยชน์ต่อสังคมที่เกี่ยวข้อง ให้ทำไปอย่างต่อเนื่อง อยู่ท่ามกลางความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้คนที่รักคุณก็จะมีความสุข

เมื่อประมวลสาระสำคัญที่เห็นความสำเร็จในจุดมุ่งหมายของการศึกษาเรียนรู้จากภูมิปัญญาและวิถีชีวิตพฤติกรรมของชาวโอกินาวะที่มีอายุยืนยาว ก็ได้พบแนวทาง 10 ประการ ได้แก่

1.ทำตัวกระฉับกระเฉงอยู่เสมอ อย่าคิดปลดเกษียณตัวเอง เพราะคนที่มีอิคิไก คือทำสิ่งที่รักเพราะถนัดและทำได้ดี หากละทิ้งวิถีเช่นนั้น ชีวิตก็เหมือนขาดความหมาย

ดังนั้น แม้สถานะของอาชีพการงานที่เป็นทางการอาจสิ้นสุดลงแล้ว ก็ควรดำเนินการทำสิ่งที่มีคุณค่าและพัฒนาผลงานให้ต่อเนื่อง เพื่อสร้างคุณประโยชน์ต่อผู้อื่นและช่วยสังคมได้

2.ใช้ชีวิตอย่างไม่เร่งรีบ ความเร่งรีบจะกระทบต่อคุณภาพชีวิต แต่ถ้ารู้จักบริหารเวลาให้ดี ชีวิตจะพบความหมายใหม่ที่เป็นผลดีทั้งผลงานและความรู้สึกทางใจ

3.กินแค่ 80% ก็พอ ในมื้ออาหารเมื่อรู้สึก “เกือบอิ่ม” แม้ยังกินต่อได้ ก็ควรหยุดตามกฎ 80% เพื่อรักษาสุขภาพในระยะยาว

4.จงรักษาแวดวงมิตรสหายที่ดี เพราะเพื่อนที่ดีเป็นยาวิเศษ ช่วยขจัดความกังวล ทั้งให้คำปรึกษาและช่วยเหลือผ่อนคลายปัญหาได้

5.สร้างเสริมร่างกายให้แข็งแรงต้อนรับวันเกิดครั้งต่อไป
ร่างกายคล้ายยานพาหนะของชีวิตที่คุณมาอาศัยอยู่ชั่วคราว จึงต้องหมั่นดูแลรักษาใส่ใจทุกวันเพื่อให้อยู่กันไปได้ดีอย่างยาวนาน (เพราะไม่มีอะไหล่เปลี่ยนเหมือนรถยนต์)

6.จงยิ้มแย้มแจ่มใส ให้มีทัศนคติเยี่ยงมิตรในการคบค้ากับผู้เกี่ยวข้อง จะช่วยสร้างมิตรภาพให้ยั่งยืน ตัวเราเองก็มีความผ่อนคลาย ผู้ได้รับรอยยิ้มย่อมพอใจ

7.กลับไปหาธรรมชาติ แม้คนส่วนใหญ่อยู่ในเมืองที่เป็นป่าคอนกรีต แต่ก็ควรหาโอกาสกลับไปสัมผัสธรรมชาติ เพื่อเติมพลังให้จิตวิญญาณบ้าง

8.หมั่น “ขอบคุณ” ให้มีสำนึกขอบคุณทุกสิ่งที่ทำให้เรามีชีวิตราบรื่นสะดวกสบาย เช่น สภาพแวดล้อมตัวเรา ทั้งอากาศที่เราหายใจ มีอาหาร เพื่อนร่วมงาน ครอบครัว แล้วคุณจะมีความสุขเพิ่มขึ้น

9.จงอยู่กับปัจจุบัน ไม่คร่ำครวญกับอดีตและกังวลอนาคต เมื่อคุณมีวันนี้ที่สำคัญ ก็ทำมันให้ดีที่สุดเพื่อให้มีคุณค่าน่าจดจำ

10.จงเดินตาม “อิโคไก” ของตัวเราเอง
ภายในตัวคุณมีสิ่งหลงใหล ปรารถนาและมีความสามารถพิเศษที่ทำให้ชีวิตแต่ละวันมีความหมาย ก็จงแสดงความสามารถให้ดีที่สุด

หากยังหาสิ่งนั้นไม่พบ ก็จงค้นหามันให้พบ
ข้อมูลจากหนังสือ อิคิไก Ikigai
ผู้เขียน เอ็กเตอร์ การ์เซีย ฟรานเชสค์ มิราเยส
ผู้แปล เพ็ญพิสาข์ ศรีวรนารถ
สำนักพิมพ์ เนชั่น บุ๊คส์


แนะนำหนังสือ



เก็บที่นอนก่อนออกไปเปลี่ยนโลก
ผู้เขียน : พลเรือเอก วิลเลียม เอช. แม็คเรเวน
ผู้แปล : นุชนาฎ เนตรประเสริฐศรี
สำนักพิมพ์ : Amarin How to
ราคา 225 บาท
ถ้าคุณเก็บที่นอนให้เรียบร้อยทุกเช้า เท่ากับคุณได้ทำงานชิ้นแรกสุดของวันสำคัญลุล่วง คุณจะรู้สึกภูมิใจเล็กๆ และมีกำลังใจทำงานต่อๆ ไป ให้สำเร็จอีกชิ้น และอีกชิ้น



13 สิ่งที่คนเข้มแข็งเขาไม่ทำกัน
ผู้เขียน : Ami Morin
ผู้แปล : วิสาข์ ทองตัน
สำนักพิมพ์ : Shortcut
ราคา 255 บาท
รวมหลัก 13 ข้อที่จะฉุดเราขึ้นเมื่อพบอุปสรรคทางอารมณ์และจิตใจ จากบทความที่คนพูดถึงกันปากต่อปากในนิตยสาร Forbes



จ้างให้ก็ไม่โกรธ
ผู้เขียน : ซุนซุเกะ อันโดะ
ผู้แปล : อังคณา รัตนจันทร์
สำนักพิมพ์ : INSPIRE
ราคา 235 บาท
ค้นหาตัวตนของคุณผ่าน "แบบวิเคราะห์การจัดการความโกรธ" และโปรแกรม 21 วัน จัดการความโกรธให้อยู่หมัด!



กลยุทธ์การวางแผนทรัพยากรมนุษย์
ผู้เขียน : ภาวิณี เพชรสว่าง
สำนักพิมพ์ : จุฬาลงกรณ์
ราคา 160 บาท
เหมาะสำหรับนักศึกษาในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ผู้ปฏิบัติงานทางด้านการจัดการทรัพยากรมนุษย์โดยทั่วไปรวมทั้งผู้บริหารที่ต้องการเรียนรู้การบริหารทรัพยากรมนุษย์




กำลังโหลดความคิดเห็น