xs
xsm
sm
md
lg

รู้ไหม “น้ำตาล”... ความหวานที่ไม่ใช่ผู้ร้าย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ในผัก-ผลไม้ก็มีน้ำตาลฟรุกโตส
ปัจจุบันอาหารมีรสหวานมากขึ้นกว่าแต่ก่อน แม้กระทั่งอาหารคาวก็มีรสหวานมากขึ้น รวมไปถึงเครื่องดื่มก็มีส่วนประกอบของน้ำตาลในปริมาณมาก เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม และเครื่องดื่มต่าง ๆ อีกทั้งอาหารแปรรูปที่มีน้ำตาลแฝงอยู่ อย่างเช่น เบเกอรี ลูกอมหรือลูกกวาด เป็นต้น ซึ่งสำหรับคนทั่วไป ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพทั้งแพทย์ นักกำหนดอาหาร นักโภชนาการ ต่างเห็นตรงกันว่าน้ำตาลเป็นสารอาหารที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย หากรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมก็จะไม่มีผลเสียต่อร่างกาย แต่หากรับประทานมากเกินไปจะสะสมเป็นไขมันในร่างกายได้ ดังนั้น เราจึงควรบริโภคน้ำตาลในปริมาณที่เหมาะสมสำหรับแต่ละช่วงวัย โดยควรเริ่มต้นปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก ที่สำคัญภาครัฐ ภาคเอกชน คุณครู และสถาบันครอบครัวควรขานรับนโยบายสุขภาพอย่างจริงจังในการร่วมส่งเสริมเด็กไทยให้บริโภคน้ำตาลอย่างเข้าใจ

วันนี้ ผศ.ดร.ฉัตรภา หัตถโกศล อาจารย์ประจำภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะมาให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับแหล่งที่มาของน้ำตาล รวมถึงประโยชน์ของน้ำตาลหากรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม และทำไมการบริโภคน้ำตาลจึงมีความจำเป็นสำหรับ “วัยเด็ก” เพื่อเป็นแนวทางให้คุณพ่อคุณแม่ในการสร้างพฤติกรรมการบริโภคให้เด็กไทย “อ่อนหวาน”

• มารู้จักแหล่งกำเนิดของ “น้ำตาล” กัน

ผศ.ดร.ฉัตรภา กล่าวว่า “น้ำตาลเป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดหนึ่งที่เป็นแหล่งพลังงานของร่างกาย ซึ่งทั่วไปแล้ว สามารถแบ่งประเภทของน้ำตาลได้หลากหลายแบบ แต่เราจะแบ่งง่ายๆ ออกเป็น 1) น้ำตาลที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ได้แก่ น้ำตาลฟรุกโตสที่มีอยู่ในผักผลไม้ น้ำตาลแลคโตสที่มีอยู่ในนม และน้ำตาลมอลโตสที่มีอยู่ในมอลต์ และ 2) น้ำตาลที่เติมเพิ่ม เช่น น้ำตาลทราย ที่มีการเติมเข้าไปในอาหารและเครื่องดื่มระหว่างกระบวนการผลิตหรือเตรียมอาหาร เช่น การเติมน้ำตาลทรายลงในเครื่องดื่มต่าง ๆ การเติมน้ำผึ้งลงในแพนเค้ก หรือการเติมน้ำตาลทรายแดงในเค้กหรือคุกกี้
น้ำตาลแลคโตสในนม
น้ำตาลมอลโตสจากมอลต์
น้ำตาลทราย
• น้ำตาลไม่ใช่ผู้ร้าย....หากรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม

ผศ.ดร.ฉัตรภา ยังกล่าวต่อไปว่า คนทั่วไปสามารถรับประทานน้ำตาลได้ แต่ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมเพราะร่างกายยังต้องการน้ำตาลเพื่อใช้เป็นพลังงานในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่ควรตระหนักคือไม่ว่าจะรับประทานน้ำตาลชนิดใด ควรรับประทานในปริมาณที่ไม่เกินความต้องการของร่างกาย โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำปริมาณน้ำตาลที่เติมเพิ่มในอาหารว่าไม่ควรเกินร้อยละ10 ของพลังงานที่ได้รับต่อวัน หรือประมาณ 200 กิโลแคลอรี สำหรับผู้ที่ต้องการพลังงาน 2,000 กิโลแคลอรี และ ข้อมูลธงโภชนาการของคนไทย ยังแนะนำให้บริโภคน้ำตาลที่เติมเพิ่มในอาหารไม่เกิน 4 6 และ 8 ช้อนชา สำหรับผู้ที่ต้องการพลังงาน 1,600 2,000 และ 2,400 กิโลแคลอรีต่อวันตามลำดับ

ในทางกลับกัน หากรับประทานน้ำตาลที่เกินความต้องการติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ร่างกายก็จะขาดสมดุลในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด อวัยวะที่ทำหน้าที่ในการควบคุมจะทำงานหนักและเสื่อมลง ทำให้ร่างกายมีสภาวะที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน จนเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ร่างกายมีการสะสมไขมันมากขึ้นจนมีน้ำหนักตัวเพิ่ม อ้วน และนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมา ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หัวใจและหลอดเลือดได้ ดังนั้น เราในฐานะผู้บริโภคต้องเรียนรู้ที่จะอ่านฉลากโภชนาการให้เป็น รู้จักสังเกตปริมาณน้ำตาล จะได้รู้เท่าทันและระมัดระวังในการเลือกรับประทานและดื่มเครื่องดื่มต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม

• บริโภคน้ำตาลเท่าไหร่จึงจะพอเหมาะ?

โดยปกติเราได้น้ำตาลจากการกินอาหารในแต่ละวันอยู่แล้ว เพื่อการกินน้ำตาลในปริมาณที่เหมาะสมเราสามารถควบคุมปริมาณน้ำตาลที่เติมเพิ่มได้ โดย องค์การอนามัยโลก World Health Organization (WHO) สมาคมโรคหัวใจแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา The American Heart Association (AHA) สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดปริมาณน้ำตาลที่สามารถเติมในรูปแบบของน้ำตาลที่เติมลงในอาหารในแต่ละวันคือ เด็กวัย 6-13 ปี มีความต้องการพลังงาน 1,600 กิโลแคลอรีต่อวัน ควรรับประทานน้ำตาลไม่เกิน 4 ช้อนชาหรือ 16 กรัมต่อวัน (โดยน้ำตาล 1 ช้อนชาจะให้พลังงานเท่ากับ 4 กิโลแคลอรี) เพื่อให้มีพลังงานไปทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันเต็มที่ และ สำหรับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไปจนถึงผู้ใหญ่ ซึ่งมีความต้องการพลังงาน 2,000-2,400 กิโลแคลอรีต่อวัน จึงควรรับประทานน้ำตาลไม่เกิน 6-8 ช้อนชาต่อวัน

ผศ.ดร.ฉัตรภา กล่าวทิ้งท้ายว่า คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความร่วมมือในการขานรับนโยบายในการร่วมส่งเสริมให้เด็กไทยบริโภคน้ำตาลอย่างเข้าใจด้วยการส่งเสริมให้ลูกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และมีปริมาณน้ำตาลที่เหมาะสม ควบคู่กับการให้ลูกได้ออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านอย่างการออกกำลังกายหรือการเล่นกีฬา ซึ่งจะช่วยให้ลูกมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น