xs
xsm
sm
md
lg

ผักผลไม้ “ต้องห้าม!” สำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ไตเป็นอวัยวะที่สำคัญในร่างกาย ทำหน้าที่กรองของเสียจากเลือด และขับถ่ายออกทางปัสสาวะ รวมทั้งยังรักษาสมดุลของน้ำ เกลือแร่ และความเป็นกรดด่างของเลือดด้วย

ภาวะไตวาย หมายถึง ภาวะที่เนื้อไตทั้งสองข้างถูกทำลายจนทำงานไม่ได้ ทำให้น้ำและของเสียไม่ถูกขับออกมาจึงเกิดการคั่งจนเป็นพิษต่อร่างกาย นอกจากนี้ยังทำให้เกิดผลกระทบต่อดุลของสารเกลือแร่ (อิเล็กโทรไลต์) และความเป็นกรดด่างในเลือด รวมทั้งเกิดภาวะพร่องฮอร์โมนบางชนิดที่ไตสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้นำไปสู่ความผิดปกติของอวัยวะแทบทุกส่วนของร่างกาย โดยภาวะไตวาย แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ไตวายเฉียบพลัน และไตวายเรื้อรัง

โรคไตวายเรื้อรัง คือ การทำหน้าที่ของไตลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ทีละนิดๆ อาจใช้เวลานานเป็นเดือนหรือเป็นปี ผู้มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ ผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว และอาจเกิดจากโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดไต ไตอักเสบ นิ่วในไต ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งโรคไตวายเรื้อรังมีหลายระยะ ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกไปจนถึงระยะปานกลางและระยะรุนแรง โดยอาการจะเพิ่มมากขึ้นถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง

การควบคุมและกำหนดปริมาณอาหารที่ถูกต้อง ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยยืดอายุการทำงานของไตให้ยาวนานยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสามารถชะลอการดำเนินของโรคไตวายเรื้อรังได้ ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่มีระดับโพแทสเซียมในเลือดสูงกว่า 5.0 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ควรควบคุมปริมาณโพแทสเซียมในอาหาร ซึ่งโพแทสเซียมก็คือ เกลือแร่ที่ช่วยให้การทำงานของกล้ามเนื้อและประสาทเป็นไปตามปกติ เมื่อไตทำงานลดลงจะลดการขับโพแทสเซียมทางปัสสาวะ ทำให้เกิดการสะสมของโพแทสเซียม และถ้ามีโพแทสเซียมในร่างกายสูงจะเริ่มมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นตะคริว หรือหัวใจเต้นผิดปกติได้

หลายคนทราบกันดีว่าการรับประทานผักและผลไม้นั้นดีต่อร่างกาย เนื่องจากมีวิตามินและแร่ธาตุหลากหลายชนิด แต่รู้หรือไม่ว่าการรับประทานผักผลไม้บางชนิดก็สามารถสร้างโทษให้แก่ผู้ป่วยได้เช่นกัน เช่น ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง เป็นต้น

โดยผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ระดับโพแทสเซียมในเลือดยังไม่สูง สามารถรับประทานผักได้ทุกชนิดไม่จำกัด และควรเลือกรับประทานผลไม้ที่มีโพแทสเซียมต่ำในปริมาณที่พอเหมาะ

สำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่มีระดับโพแทสเซียมในเลือดสูงกว่า 5.0 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ควรเลือกรับประทานผักที่มีโพแทสเซียมต่ำถึงปานกลางได้ วันละ 1-2 ครั้ง ในปริมาณของผักดิบมื้อละ 1 ถ้วยตวง หรือผักสุกมื้อละ 1/2 ถ้วยตวง แต่ไม่ควรงดการรับประทานผัก เพราะเป็นแหล่งของวิตามินและใยอาหาร ช่วยป้องกันท้องผูกได้


ส่วนผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายซึ่งมีระดับโพแทสเซียมในเลือดสูงกว่า 5.5 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ควรงดผลไม้ทุกชนิด เนื่องจากผลไม้ส่วนใหญ่มีโพแทสเซียมสูง แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยทุกรายควรปรึกษาแพทย์ก่อน

ผักที่มีโพแทสเซียมต่ำถึงปานกลาง ได้แก่ แตงกวา แตงร้าน ฟักเขียว ฟักแม้ว บวบ มะระ มะเขือยาว มะละกอดิบ ถั่วแขก หอมใหญ่ กะหล่ำปลี ผักกาดแก้ว ผักกาดหอม พริกหวาน พริกหยวก เป็นต้น

ผลไม้ที่มีโพแทสเซียมต่ำถึงปานกลาง รับประทานได้อย่างใดอย่างหนึ่ง (ต่อวัน) ได้แก่ องุ่น 10 ผลสับปะรด 8 ชิ้นคำ ส้มเขียวหวาน 1 ผล ชมพู่ 2 ผล แตงโม 10 ชิ้นคำ พุทรา 2 ผลใหญ่ ลองกอง 6 ผล ส้มโอ 3 กลีบ มังคุด 3 ผล เงาะ 4 ผล

ผักที่ควรงดหรือควรหลีกเลี่ยง เพราะมีโพแทสเซียมสูง ได้แก่ เห็ด หน่อไม้ฝรั่ง บรอกโคลี ดอกกะหล่ำ แครอท แขนง กะหล่ำปลี ผักโขม ผักบุ้ง ผักกาดขาว ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง ยอดฟักแม้ว ใบแค ใบขึ้นฉ่าย ข้าวโพด มันเทศ มันฝรั่ง ฟักทอง อะโวคาโด น้ำแครอท น้ำมะเขือเทศ กระเจี๊ยบ น้ำผัก ผักแว่น ผักหวาน สะเดา หัวปลี

ผลไม้ที่ควรงดหรือควรหลีกเลี่ยง เพราะมีโพแทสเซียมสูง ได้แก่  กล้วยทุกชนิด ฝรั่ง ขนุน ทุเรียน น้อยหน่า กระท้อน ลูกพลับ ลูกพรุน ลำไย มะม่วง มะเฟือง มะปราง มะขามหวาน แคนตาลูป น้ำส้มคั้น น้ำมะพร้าว น้ำผลไม้รวม น้ำแครอท เป็นต้น
ข้อมูลอ้างอิงประกอบ
www.honestdocs.co
www.thaihealth.or.th
www.bangkokhospital.com



กำลังโหลดความคิดเห็น