xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมคนเก่งยังต้องใช้โค้ช / ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

จากคอลัมน์ Inspiration
โดย ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล (suwatmgr@gmail.com)
เซกชั่น Good Health & Well Being
นิตยสารผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 25 พ.ย.. 2561


กระแสการยอมรับการโค้ช (Coaching) ในวงการบริหารทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรปและในเอเชีย บริษัทชั้นนำจำนวนไม่น้อย ที่มีการจ้างโค้ชมืออาชีพให้มาช่วยในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดผลงานและเพิ่มความสำเร็จอย่างแพร่หลาย

วัตถุประสงค์การโค้ชมีได้หลายแนว เช่น โค้ชภาวะผู้นำ (Leadership Coaching) โค้ชธุรกิจ (Business Coaching) โค้ชผู้บริหาร (Executive Coaching) และโค้ชเกี่ยวกับชีวิต (Life Coaching)

ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรชั้นนำในระดับโลก รวมทั้งหลายกิจการในเมืองไทยก็มีการจ้างโค้ชประจำตัว หรือเป็นการชั่วคราวสำหรับการสร้างความพร้อมสำหรับเตรียมตัวผู้จะรับตำแหน่งบริหารที่สูงขึ้น

คงมีผู้สงสัยว่าคนเป็นโค้ชให้กับผู้บริหารนั้นมีฝีมือขั้นเทพที่เก่งกว่า หรือเชี่ยวชาญในธุรกิจอุตสาหกรรมกระนั้นหรือ

เปล่าเลย ในบริบทการโค้ชมืออาชีพนั้น มิได้เทียบกันเรื่องความเก่งในหน้าที่การงาน แถมผู้บริหารส่วนใหญ่ก็มีผลงาน บริหารกิจการให้เจริญก้าวหน้าและทำกำไรเรื่อยมา

เพียงแต่ต้องการให้ความเก่งนั้น เก่งขึ้นอีกอย่างรอบด้านหรือยกระดับความสำเร็จให้สูงขึ้นอีก

ดังนั้น สถานะของคู่หูการโค้ชคือ ตัวโค้ช ใช้ความเชี่ยวชาญด้านกระบวนการโค้ช (Coach Process Expert) ขณะที่ผู้ได้รับการโค้ช (Coachee) นั้น ย่อมเชี่ยวชาญในเรื่องราวธุรกิจ (Content Expert)

ด้วยเจตนารมณ์ที่ดี ไม่มีอคติหรือผลประโยชน์ทับซ้อน และด้วยมุมมองจากภายนอกผ่านกระบวนการโค้ชมาตรฐานสากล จึงทำให้เกิดคำถามที่โค้ชชี่อาจมองข้ามหรือไม่คาดคิด และได้ประเด็นที่เสริมให้รัดกุม

สหพันธ์การโค้ชนานาชาติ หรือ ICF (International Coaching Federation) ให้คำนิยามการโค้ชว่า

“การเป็นหุ้นส่วนกับผู้รับการโค้ชในกระบวนการกระตุ้นการใช้ความคิดและสร้างสรรค์ ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจในการนำศักยภาพทั้งด้านส่วนบุคคลและวิชาชีพมาใช้สูงสุด”

การโค้ชแนว ICF ไม่ใช่การสอนหรือชี้นำ แต่จะใช้การตั้งคำถามประเทืองปัญญาเพื่อกระตุ้นให้โค้ชชี่ฉุกคิด จึงเกิดผลลัพธ์ทั้งการตระหนักรู้ เข้าใจความจริงเกิดสติ ช่วยให้รู้เท่าทันความคิด อารมณ์และความรู้สึก อันเป็นต้นตอของปัญหาและความอึดอัดใจ

ในกระบวนการโค้ชที่โค้ชชี่สามารถตั้งเป้าหมายจนถึงขั้นออกแบบทางออกหรือทางแก้ปัญหาด้วยตนเอง จึงเกิดพันธสัญญาที่มุ่งมั่นปฏิบัติการจนเกิดผลสำเร็จตามเป้าหมาย


ไมเคิล เค.ซิมป์สัน ได้ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักพื้นฐานการโค้ชแบบมืออาชีพว่า เป็นกระบวนการสร้างความสัมพันธ์ที่มี 4 องค์ประกอบ ได้แก่

1.มีความเชื่อมั่น

2.ดึงศักยภาพของบุคคลออกมา

3.การสร้าง “สัญญาใจ”

4.กระตุ้นให้ลงมือทำเพื่อบรรลุเป้าหมาย

ขณะเดียวกัน ยังมีทักษะสำคัญ 7 ข้อ ที่เป็นคุณลักษณะของโค้ชที่ดีพึงมี เพื่อช่วยยกระดับผลงานของคนหรือทีมงาน รวมทั้งองค์กรไปสู่อีกระดับ ได้แก่

1.สร้างความเชื่อมั่น

2.ท้าทายครอบความคิดเดิม

3.ทำกลยุทธ์ให้ชัดเจน

4.ลงมือทำอย่างไร้ที่ติ

5.ให้ข้อคิดเห็นที่มีประสิทธิภาพ

6.ดึงพรสวรรค์ของคนออกมา

7.ผลักดันกลุ่มคนที่มีผลงานระดับกลาง

ดร.มาร์แชลล์ โกลด์สมิธ นักคิดในวงการธุรกิจชื่อดังและเป็นโค้ชผู้บริหารระดับสูงอันดับต้นของโลก ได้เขียนคำนิยมชื่นชมหนังสือเล่มนี้ว่า เป็นสุดยอดคัมภีร์ที่บอกวิทยายุทธ์การเป็นโค้ชควบบทบาทผู้บริหารที่ดีได้อย่างไร เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี คือ ทีมงานและองค์กรจะก้าวหน้าไปอย่างดี

ก็เพราะผู้นำธุรกิจนั้น ต้องพัฒนาและส่งเสริมให้ทีมงานสร้างผลงานสำเร็จ ก็จะนับว่าเป็นผู้นำที่ประสบผลสำเร็จ จึงเป็นปัจจัยที่เสริมส่งกันและกัน ดังนั้น ผู้นำที่บริหารงานโดยรู้หลักและวิธีการโค้ชก็จะส่งผลดี

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โลกยุคปัจจุบันที่คนมีค่านิยม ทัศนคติและพฤติกรรมต่างไปจากอดีตมาก

ดังนั้น บทบาทการโค้ชจึงมีความสำคัญในการจะสร้างความตระหนักรู้ (Awareness) พันธสัญญาหรือสัญญาใจ (Commitment)

หลักพื้นฐานของกระบวนการโค้ชจึงเป็นการสร้างองค์ประกอบที่เอื้อต่อการเกิดปฏิสัมพันธ์ที่ดี

1.ความเชื่อมั่น

ความสำเร็จของการโค้ชที่ดีควรมาจาก “ภายในสู่ภายนอก” ตัวโค้ชเองจึงต้องเป็นแบบอย่างที่ดี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเชื่อใจ ในการตอบคำถามให้ข้อมูลและเปิดใจออกแบบแผนกลยุทธ์

ICF จึงได้สร้างมาตรฐานจริยธรรมสำหรับโค้ชมืออาชีพต้องมี เพื่อจะได้รับความไว้วางใจได้แก่

ห่วงใยสวัสดิภาพและใช้พลังคิดด้านบวก มุ่งอนาคตโดยไม่ถอยไปติดในปมอดีต

ยึดมั่นหลักการด้วยความซื่อสัตย์

รักษาความลับ จากการสนทนาในการโค้ช

2.ศักยภาพ

เพราะหัวข้อการสนทนาในการโค้ชมาจากโค้ชชี่ เริ่มจากวิสัยทัศน์หรือเป้าหมาย ซึ่งให้จัดลำดับความสำคัญ และทำสิ่งที่จำเป็นที่สุดเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ

การโค้ช จะตั้งอยู่บนพื้นฐานความคิดว่า ทุกคนมีศักยภาพหรือมีจุดแข็งที่พัฒนายกระดับได้

โค้ชที่ดีคือ พูดให้น้อย ฟังให้มาก ฟังอย่างตั้งใจ มองให้เห็นศักยภาพ และส่งเสริมให้โค้ชชี่วางกลยุทธ์เชิงบวกนำไปสู่การลงมือทำ

3.สัญญาใจ

โค้ชที่คอยป้อนคำถามที่ใช่ ชวนคิดในจังหวะเวลาที่เหมาะ ทรงพลัง จะช่วยให้โค้ชชี่พัฒนาจิตสำนึกความมุ่งมั่นและเกิดสัญญาใจในระยะยาวขึ้น

4.ลงมือทำ

เมื่อโค้ชชี่ตกลงให้สัญญาใจบางอย่าง โค้ชจะกำชับให้ลงมือทำ ยืนหยัดและมีพันธสัญญาเพื่อไม่ให้การโค้ชเป็นเพียงการพูดคุยเล่น

เสมือนโค้ชช่วยให้ได้โค้ชชี่จับพวงมาลัยแล้วบังคับรถพาตัวเองไปถึงจุดหมาย

กล่าวโดยสรุป แม้ว่าหลักการโค้ชดังกล่าว มุ่งเป็นแนวทางสำหรับวิชาชีพของโค้ชมืออาชีพ

แต่คุณลักษณะของการคิดบวก และมีความเป็นกัลยาณมิตร ที่มุ่งช่วยให้ผู้อื่นมีการพัฒนาอยู่ในสภาวะดีขึ้น หลักคิดและแนวปฏิบัติเช่นนี้ ย่อมสามารถนำมาเป็นแนวทางของผู้ใฝ่ดี ทั้งการถามให้ฉุกคิด การดำเนินชีวิตและทำกิจการงานอย่างมีเป้าหมายที่ชัดเจนในสิ่งที่มีคุณค่าและผลลัพธ์ที่ดี

ข้อมูลจากหนังสือ : เก่งได้กว่านี้ (Unlocking Potential)
ผู้เขียน : ไมเคิล เค.ซิมป์สัน
ผู้แปล : วิกันดา จันทร์ทองสุข
สำนักพิมพ์ : อมรินทร์ฮาวทู




แนะนำหนังสือ



ตื่นซะ!
ผู้เขียน : คริส บาเร่ซ์ บราว์น
ผู้แปล : พนม สมศาสตร์
สำนักพิมพ์ : ซีเอ็ดยูเคชั่น
ราคา 295 บาท
ปฏิวัติชีวิตให้เต็มไปด้วยสีสันและอรรถรส ด้วย 50+ กลยุทธ์ ที่จะทำให้คุณหลุดออกจากการใช้ชีวิตแบบจำเจ!



สื่อสารให้ได้ใจ ไขความลับ(สมอง)คน
ผู้เขียน : ดร. ดไนยา ตั้งอุทัยสุข, รงค์ จิรายุทัต
สำนักพิมพ์ : Mass Publishing
ราคา 165.25 บาท
เคล็ดลับสำหรับผู้นำรุ่นใหม่ ที่จะเปลี่ยนคุณให้เป็นอัจฉริยะ บริหารคนได้ทุกรูปแบบ จัดการงานได้ทุกระดับ



ชวนสมองขึ้นมอไซค์ไปดวงจันทร์
ผู้เขียน : Tanner Christensen
ผู้แปล : อรณี อรุณีกุล
สำนักพิมพ์ : ไดรฟ์
ราคา 185 บาท
150 กิจกรรมธรรมดา ที่จะทำให้คุณคิดไอเดียโคตรไม่ธรรมดาได้ คุณจะพบตัวจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ที่คุณต้องการได้ในหนังสือเล่มนี้



กฎแห่งสุริยะ
ผู้เขียน : ริวโฮ โอคาวา
ผู้แปล : สุนิดา พันธมาตย์
สำนักพิมพ์ : ศาสตร์แห่งความสุข
ราคา 220 บาท
หนังสือที่รวบรวมแก่นปรัชญาคำสอนของแฮปปี้ ไซเอนซ์ และเป็นจุดกำเนิดหนังสือเบสต์ เซลเลอร์ ที่เขียนโดย ริวโฮ โอคาวา อีกมากกว่า 1,000 เล่ม







กำลังโหลดความคิดเห็น