xs
xsm
sm
md
lg

วิ่งสู่ชีวิตใหม่ กับ “พี่ซุป-ซูเปอร์จิ๋ว”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เมื่อใกล้ปลายปีที่อากาศไม่ร้อนจนเกินไปจะเป็นช่วงเวลาที่นักวิ่งขาประจำรอคอย ด้วยว่าสภาพอากาศจะพางานวิ่งมากมายมาให้เราเลือกลงสมัคร เพื่อร่วมสนุกพิสูจน์ฝีเท้า หนึ่งในนั้นมี “Thai Health Day Run 2018” อันเป็นที่คุ้นเคยของคนรักสุขภาพรวมอยู่ด้วย แต่นอกจากนักวิ่งขาประจำแล้ว เราก็ยังอยากเชิญชวนคนที่ยังไม่เคยวิ่งให้มารู้จักเสน่ห์ของกีฬาที่ทำให้หลายคนถอนตัวไม่ขึ้นนี้ด้วยกัน

สำหรับคนที่ไม่ค่อยออกกำลัง การวิ่งอาจจะเป็นอะไรที่ดูยาก เพราะต้องอาศัยวินัยในการฝึกซ้อมเป็นประจำ ดังนั้นวิธีหนึ่งที่จะชวนให้ใครลุกออกมาวิ่ง คงไม่มีอะไรดีไปกว่า การนำเรื่องของคนที่ได้ชีวิตใหม่จากการวิ่งมาเล่าสู่กันฟังเพื่อเป็นแบบอย่างและกำลังใจ วันนี้เราจึงได้นัดคุณ “วิวัฒน์ วงศ์ภัทรฐิติ” หรือที่ใคร ๆ รู้จักในชื่อที่ฟังสนิทสนมกว่า นั่นคือ “พี่ซุป-ซูเปอร์จิ๋ว” ให้มาเล่าสู่กันฟังถึงแรงบันดาลใจในการลุกขึ้นมาวิ่งออกกำลัง

เรานัดกับพี่ซุปที่สวนลุมพินีในเช้าวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันที่พี่ซุปบอกว่าเป็นวันที่สวนลุมฯคนเยอะที่สุดในรอบสัปดาห์

“พี่ไม่เคยคิดว่าพี่จะวิ่งได้เลย”

เขาบอกกับเราเป็นประโยคแรกว่า “พี่ไม่เคยคิดว่าพี่จะวิ่งได้เลย” ก่อนจะขยายความต่อด้วยว่า “ก่อนหน้านี้ความสุขของพี่คือการกิน” พร้อมโชว์รูปในช่วงที่กำลังมีความสุขนั้นให้เราดูเป็นหลักฐาน

พี่ซุปเล่าต่อว่า “ตอนนั้นคิดแค่นั้นจริง ๆ เพราะชีวิตทำแต่งาน วัน ๆ นี่ไม่มีเหงื่อเลย ออกจากบ้านขึ้นรถไปทำงาน แล้วก็ขึ้นรถกลับบ้าน อยู่ในแอร์ตลอด จนวันหนึ่งพี่ป่วย อาการตอนนั้นมันทรมานขนาดคิดว่า ตายไปเลยยังจะดีกว่า ก็เลยเข้าใจเอาตอนนั้นว่า ชีวิตไม่ใช่แค่เกิด แก่ เจ็บ แล้วก็จะตายได้ เพราะตรงระหว่างเจ็บกับตายนี่มันทรมานเหลือเกิน”

จากความรู้สึกที่อยากจะบรรเทาความทรมานก่อนภาวะที่ใครก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ บวกกับจังหวะชีวิตที่ได้มีโอกาสทำรายการ “The Firm องค์กรซ่อนอ้วน” ทางสถานีโทรทัศน์ Thai PBS พี่ซุปก็เลยเริ่มหันมาสนใจการออกกำลังกายโดยการวิ่ง แต่ด้วยความที่มาเริ่มเอาตอนอายุ 40 ปี เทียบกับคนอื่นในสวนลุมฯ แล้ว เขารู้สึกเหมือนว่าตัวเองเป็นเด็กหลังห้องที่เรียนไม่ทันเพื่อน

เอาแค่สอบไม่ตกก็พอแล้ว

“พี่เคยผ่าตัดหัวเข่า และข้อเท้าก็เคยหักด้วย ก็เลยคิดว่า ตัวเองไม่น่าจะวิ่งไหว เคยคุยเรื่องนี้กับพี่นง (ทนงศักดิ์ ศุภทรัพย์ ดาราและช่างภาพผู้หลงใหลในการวิ่ง) เขาเลยบอกกับพี่ว่า “วิ่งไม่ไหว ก็เดินสิ”

ถ้าคุณฟังคำแนะนำนี้แล้วจะรู้สึกว่า มันเหมือนเป็นการออกกำลังกายของคนเชื่องช้าก็ไม่แปลก เพราะพี่ซุปก็รู้สึกอย่างนั้นเช่นกันในตอนแรก แต่เชื่อหรือไม่ว่า การวิ่งสลับเดินนี่แหล่ะ ที่พาพี่ซุปและกลุ่ม เพื่อนของเขาไปมาราธอนกันมาแล้ว

การเดินสลับวิ่งที่คุณทนงศักดิ์แนะนำพี่ซุปคือ ลองเดินสลับวิ่งในระยะที่แบ่งเป็นระบบ และค่อย ๆ เพิ่มสัดส่วนระหว่างการเดินและการวิ่งให้มากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นระยะแรกอาจจะเป็นเดิน 300 เมตร วิ่ง 400 เมตร ต่อมาค่อยขยับเป็น เดิน 200 วิ่ง 500 เมตร เป็นต้น

“กลุ่มของเราไม่เน้นทำเวลา ไม่เน้นอยู่หน้า พวกเราซ้อมกันแค่ไม่ให้โดน cut off (*1) ก็พอใจแล้ว เคยมีอยู่ครั้งหนึ่งพี่วิ่งรั้งท้าย จนได้ทักทายคนอายุ 80 ที่วิ่งรั้งท้ายด้วยกัน คิดดูสิ น่าอายไหม แต่พี่ก็สนุกกับมันนะ ทุกวันนี้เหมือนเสพติดการวิ่งไปเลย”

(หมายเหตุ *1 : Cut Off หมายถึง เวลาที่กำหนดในการแข่งขัน ซึ่งแต่ละระยะจะกำหนดเวลาที่แตกต่างกันไป หากนักวิ่งทำเวลาเกินเวลาที่กำหนดไว้นี้ จะถือว่าไม่ได้วิ่งจบการแข่งขันอย่างเป็นทางการ)

เส้นชัยเราสร้างเอง

การวิ่งไม่ให้โดน cut off เป็นหลักการคล้าย ๆ เด็กนักเรียนตั้งเป้าให้ตัวเองสอบไม่ตก ซึ่งตามหลักการแล้วอาจไม่ใช่คำแนะนำที่ทำให้ฮึกเหิม แต่พี่ซุปเล่าว่ามันเป็นคำแนะนำที่ทำให้หลายๆคนเริ่มลงมือทำ

“พอเรายืดหยุ่นกับตัวเอง ไม่ได้กะเกณฑ์ว่าจะต้องทำเวลาให้ดีเท่าคนอื่น หรือต้องวิ่งให้ไกลเหมือน ๆ คนอื่น เราก็จะมีความสุขกับเส้นชัยของเราเอง แล้วทีนี้ไม่ว่าจะเป็นการวิ่งได้เร็วกว่าเมื่อวานนิดๆ หน่อยๆ การวิ่งสลับเดินไปได้ทีละเซต วิ่งต่อเนื่องได้หนึ่งกิโลเมตร หรือแม้แต่การได้พารองเท้าคู่ใหม่ออกมาวิ่ง ก็สามารถเป็นเส้นชัยให้เราได้แล้ว”

แรงบันดาลใจ ให้ใจบันดาลแรง

จากคนที่เคยหอบเวลาเดินขึ้นสะพานลอย วันนี้พี่ซุปสามารถวิ่งฮาร์ฟมาราธอนระยะทาง 21 กิโลเมตรได้แบบสบายๆ พี่ซุปเล่าว่าที่ เขาซ้อมวิ่งจนร่างกายแข็งแรงมากขึ้นขนาดนี้ ก็เพราะไม่อยากเป็นภาระใคร “อีกไม่นานประเทศเราก็จะเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ พี่เชื่อว่าโรงพยาบาลจะรับภาระได้ลำบากขึ้น งบประมาณที่รัฐบาลจะต้องเอามาสนับสนุนอาจทำได้ไม่ทั่วถึง พี่เชื่อว่า การทำร่างกายให้แข็งแรงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องรับผิดชอบตัวเอง”

ก่อนจากกัน พี่ซุปยังบอกเราด้วยว่า การวิ่งมาราธอนเป็นกีฬาที่พิเศษมาก เพราะไม่ว่าคุณจะเป็นนักกีฬามืออาชีพ หรือลุกขึ้นมาวิ่งครั้งแรก คุณก็ลงวิ่งในสนามเดียวกัน การวิ่งมาราธอนไม่ได้มีเหรียญรางวัลให้แค่คนที่วิ่งเร็วที่สุด แต่มีเหรียญให้กับทุกคนที่วิ่งได้จนจบ ฉะนั้นมันไม่มีอะไรที่ต้องแข่งนอกจากการแข่งกับตัวเอง

สุดท้ายนี้หากใครก็ตามคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่จะออกมาเริ่มเดิน เริ่มวิ่ง และหาจังหวะชีวิตที่ลงตัวสำหรับตัวเอง เพราะชีวิตใหม่ที่แข็งแรง ไม่มีใครพาเราไปได้นอกจากตัวเอง ก็อยากชวนให้มาเจอกันที่งาน “THAI HEALTH DAY RUN 2018” วันอาทิตย์ที่ 11 พฤศจิกายน 2561 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ THAI HEALTH DAY RUN 2018


กำลังโหลดความคิดเห็น