xs
xsm
sm
md
lg

สิ่งที่มักเข้าใจผิด เกี่ยวกับ "ยาแก้ปวด" และ "ยาแก้ปวดอักเสบ"

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

BY: Pharmchompoo

อาการปวดเป็นเรื่องที่พบบ่อยและมักทำให้เกิดความรำคาญถึงขั้นเสียสุขภาพจิต ในกรณีที่ปวดเรื้อรังอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ (chronic pain associated depression)

ยาระงับปวด หรือ ยาแก้ปวด (analgesic drugs) เป็นยาที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งก็สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ยาแก้ปวดชนิดไม่เสพติด (non-narcotic analgesics) ที่คุ้นกันดีคือ พาราเซตามอล กับ ยาแก้ปวดชนิดเสพติด (narcotic analgesics) เช่น มอร์ฟีน เพทธิดีน (pethidine) เฟนตานิล (fentanyl) ออกซี่โคโดน (oxycodone) หรือที่ระบาดหนักเอาไปใช้ในทางที่ผิดเยอะ ๆ ก็คือ ทรามาดอล
 
โดยตัวกลไกการออกฤทธิ์ มีความแตกต่างกันไม่มากในกลุ่มยาแก้ปวดชนิดเสพติด แต่จะแตกต่างกันมาก ๆ ในแง่ ความแรง (potency) ในการระงับปวด ความสามารถในการเสพติด รูปแบบยาที่มี ระยะเวลาการออกฤทธิ์ ยาเหล่านี้เป็นยาเสพติดให้โทษ มีอันตรายสูงในแง่การเสพติดและสามารถทำให้เสียชีวิตได้ การสั่งใช้ต้องมีแบบฟอร์มเฉพาะที่เรียกว่า “ย.ส.5” กำกับ จ่ายในสถานพยาบาลเท่านั้น และใช้กับผู้ที่มีอาการปวดปานกลางถึงรุนแรง เช่น ปวดจากมะเร็ง (cancer pain) 
 
สำหรับยาแก้ปวดชนิดไม่เสพติดนั้น ที่ใช้มาก ๆ แพร่หลายคือ พาราเซตามอล ใช้สำหรับแก้ปวดที่ไม่รุนแรง และสามารถลดไข้ได้ด้วย ความนิยมมีแพร่หลาย แต่การได้รับเกินขนาด หรือกินต่อเนื่องกันยาวนาน ส่งผลรุนแรงต่อตับได้เช่นกัน
 
ที่นี้จะมียาอีกจำพวกที่ใช้บ่อยในทางการแพทย์ และอาจสร้างความสับสนได้คือ ยาแก้อักเสบ หรือ เรียกจริง ๆ คือ ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ซึ่งผู้เขียนเคยกล่าวไปบ้างแล้วก่อนหน้า ตัวอย่างกลุ่มนี้ เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนค ไพรอกซิแคม ยาที่ลงท้ายชื่อด้วย -coxib ทั้งหลาย เอาจริง ๆ เราอาจเรียกยา กลุ่มนี้ว่า เป็น “ยาแก้ปวดอักเสบ” เพราะยาเหล่านี้ฤทธิ์หลักคือการ “ลดการอักเสบ” ซึ่งยาแก้ปวดปกติ (อย่างเช่น พาราเซตามอล หรือมอร์ฟีน ทำไม่ได้) 
 
เพราะอาการปวดและอาการอักเสบ ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว การใช้ยาจึงต่างกัน 

อาการอักเสบจะต้องมีองค์ประกอบ 5 อย่างที่เรียกว่า 5 Cardinal signs of inflammation หรือองค์ 5 ของการอักเสบ คือต้องมีอาการ ปวด บวม แดง ร้อน สูญเสียการทำงานของอวัยวะนั้น นี่จึงเข้าข่ายอาการอักเสบ โดยมี อาการปวดเป็นสมาชิกในนั้นด้วย ในขณะที่อาการ “ปวด” อาจจะไม่ได้มีสาเหตุมาจากการอักเสบก็ได้ สรุปง่าย ๆ คือ “ถ้ามีการอักเสบต้องมีการปวด แต่ถ้ามีอาการปวดไม่จำเป็นต้องมีการอักเสบ”
 
กรณีข้อแพลง หกล้ม หรือ มีการอักเสบของเอ็นกล้ามเนื้อ จะมีอาการปวดด้วย ดังนั้น ยาหลักต้องเป็น ยาแก้ปวดอักเสบ หรือ ยาลดการอักเสบ (ที่ไม่ใช่ยาฆ่าเชื้อ) แต่อาจเสริมด้วยยาแก้ปวดเฉย ๆ ได้ ถ้าอาการปวดมีมาก แต่เมื่อการอักเสบลดลง ก็อาจลดยาแก้ปวดเฉย ๆ ได้ 
 
กรณีเป็นมะเร็งและมีอาการปวดมาก กรณีนี้ไม่ได้มีการอักเสบในร่างกาย การใช้ยาแก้ปวดอักเสบจึงไม่ได้ผลเลย และอาจมีผลเสียมากกว่าด้วยซ้ำ การแก้ไขการปวดแบบนี้ต้องใช้ยาแก้ปวดชนิดไม่เสพติดก่อนแล้วจึงขยับเป็นยาแก้ปวดชนิดเสพติด ตามขั้นตอนการบริหารจัดการความปวด (Ladder of Pain Management) ขึ้นกับ “pain score” ของผู้ที่มีอาการปวด 
 
จะเห็นได้ว่ายาที่ชื่อดูคล้ายกัน แต่กลับมีรายละเอียดต่างกันอย่างไม่น่าเชื่อ !!
หมายเหตุ : Pharmchompoo เป็นนามปากกาของเภสัชกรท่านหนึ่งซึ่งเรียนจบมาทางด้านเภสัชศาสตร์โดยตรง ปัจจุบันประจำอยู่ที่โรงพยาบาลชื่อดังแห่งหนึ่ง และบทความเชิงสาระความรู้เพื่อการตระหนักเกี่ยวกับการใช้ยาให้ถูกต้องเหมาะสม จะมาพบกับคุณผู้อ่านเป็นประจำอย่างน้อยสองครั้งต่อเดือน




กำลังโหลดความคิดเห็น