xs
xsm
sm
md
lg

“กัญชา” เสพติดยากกว่า "เหล้าและบุหรี่" จริงหรือ? / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

สถานการณ์เรื่องกัญชาในเวทีระหว่างประเทศนั้น กำลังน่าจับตาเป็นยิ่งนัก หลายประเทศนอกจากจะมีการอนุญาตให้นำกัญชามาใช้ในทางการแพทย์ได้ ยังเร่งดำเนินการวิจัยและจดสิทธิบัตรการใช้สารสกัดกัญชาในรูปแบบต่างๆ นับเป็นจังหวะการช่วงชิงผลประโยชน์ในกัญชาในสภาวะที่หลายๆประเทศในเอเชีย ซึ่งรวมถึงประเทศไทยยังเคลื่อนไหวช้าอยู่มาก

ตัวอย่างที่วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งพยายามจะจดอนุสิทธิบัตรวิธีการสกัดสารสำคัญในกัญชาก็ไม่สามารถทำได้ในเวลานี้เพราะด้วยเหตุผลว่ากัญชายังเป็นยาเสพติดอยู่ หรือแม้วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กระทั่งจะขอทดลองปลูกกัญชาในพื้นที่ควบคุมเพื่อวิจัยในหลายมิติก็ยังไม่สามารถทำได้เพราะภาครัฐอ้างว่ายังไม่มีระเบียบ

ในขณะที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยี่ห้อดังก็ได้ปรับตัวหันมาเพิ่มสินค้าทำเครื่องดื่มกัญชา เช่นเดียวกับ บุหรี่ชื่อดังบางยี่ห้อก็เตรียมผลิตกัญชาในรูปของมวนบุหรี่ เพื่อป้อนให้กับตลาดในประเทศที่ปลดล็อกกฎหมายเพื่อให้กัญชามาใช้เพื่อความรื่นรมย์หรือบันเทิงได้ ลองคิดดูว่าถ้ากัญชาเป็นยาเสพติดร้ายแรงจริงในมุมมองจากทุกประเทศ เหตุใดบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้จึงเตรียมความพร้อมได้ถึงขนาดนี้

แต่ประเทศไทยอย่าเพิ่งไปถึงเรื่องการปลดล็อกเพื่อความรื่นรมย์บันเทิงเลย เอาเฉพาะความจำเป็นสำหรับผู้ป่วย ด้วยการปลดล็อกกัญชาเพื่อใช้ในทางการแพทย์ยังเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนามมากมาย นอกจากจะมีสาเหตุมาจากอิทธิพลของผลประโยชน์ในกลุ่มต่างๆที่ยังไม่ขอกล่าวถึงในบทความนี้ แต่เอาเฉพาะในเรื่องความวิตกกังวลของคนทั่วไปก็คือปัญหาในมิติของ “ยาเสพติด” ว่าการปลดล็อกกัญชาจะสร้างปัญหารุนแรงให้กับประเทศเพียงใด

สำหรับทัศนคติของคนไทยเกี่ยวกับเรื่องกัญชาในทางการแพทย์นั้น ปรากฏผลเป็นผลการสำรวจของนิด้าโพล, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) , กัญชา ประโยชน์ หรือ โทษ, การสำรวจระหว่างวันที่ 16 - 17 สิงหาคม 2561 เผยแพร่วันที่ 19 สิงหาคม 2561 โดยผลสำรวจประชากรจากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่างพบเรื่องที่น่าสนใจว่า

68.24 % เคยได้ยินเกี่ยวกับประโยชน์ของ กัญชา ที่สามารถนำมาใช้เป็นยารักษาโรคได้, 72.40% เห็นด้วยเรื่องการมีกฎหมายเฉพาะให้ใช้ กัญชา เป็นยารักษาโรคโดยถูกกฎหมายในอนาคต, และ 54.32% เห็นว่าหากในอนาคตมีกฎหมายรับรองกัญชา เพื่อการรักษาโรคได้แล้ว เจ้าหน้าที่รัฐของไทยจะไม่สามารถควบคุมการใช้กัญชาเพื่อการรักษาโรคได้ เพราะ กัญชาถูกนำไปใช้เป็นสารเสพติด อาจจะมีการลักลอบนำมาใช้เสพมากกว่าการนำมาทำเป็นยารักษาโรค และเจ้าหน้าที่รัฐบังคับใช้กฎหมายไม่จริงจัง ดูแลได้ไม่ทั่วถึง ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา” [1]

จากผลสำรวจข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารนั้นเป็นไปอย่างรวดเร็ว และเร็วกว่าภาครัฐเสียด้วยซ้ำ โดยเฉพาะอย่างย่ิงความเร็วของโชเชียลมีเดียในยุคปัจจุบัน ได้ส่งผลทำให้ประชาชนชาวไทยจำนวนมากรับรู้เรื่องราวว่ากัญชาสามารถใช้เป็นยารักษาโรคได้ และประชาชนส่วนใหญ่ก็สนับสนุนให้ใช้ในทางการแพทย์ด้วย แต่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อด้วยว่าเจ้าหน้าที่รัฐของไทยจะควบคุมไม่ได้ในท้ายที่สุด และกลายเป็นสารเสพติดที่จะสร้างปัญหาต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้องค์การอนามัยโลก (World Health Organization or WHO) ได้ให้ความหมายของสิ่งเสพติดว่า "สิ่งเสพติด" หมายถึงสิ่งที่เสพเข้าไปแล้วจะเกิดความต้องการทั้งทางร่างกายและจิตใจต่อไปโดยไม่สามารถหยุดเสพได้ และจะต้องเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดจะทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่อร่างกายและจิตใจขึ้น

ดังนั้นจะเห็นว่ายาเสพติดมีหลายชนิด ตั้งแต่เฮโรอีน โคเคน ยาบ้า ฝื่น ซึ่งจัดเป็นยาเสพติดที่รุนแรง ซึ่งทั่วโลกต้องมีการกวาดล้างกันอยู่ตลอดเวลา แต่ในขณะยังมีการผ่อนปรนอยู่ก็มี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหล้า และบุหรี่ ก็เสพติดได้เหมือนกัน แต่กลับไม่เคยถูกกำหนดกฎหมายในฐานะเป็นยาเสพติดเลย ทั้งนี้ก็เพราะความรุนแรงของการเสพติดของสารเสพติดแต่ละชนิดนั้นไม่เท่ากัน

จึงมีคำถามอยู่ว่า “กัญชา” ซึ่งมีประโยชน์ในทางการแพทย์ แต่ก็จัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติดนั้น เสพติดได้จริงหรือไม่ และการเสพติดรุนแรงระดับใด

ผลจากงานวิจัยพบว่าคนที่เคยเสพกัญชาเมื่อเลิกใช้กัญชาแล้ว จะมีอารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย นอนหลับยาก เจริญอาหารน้อยลง มีความอยากใช้กัญชา กระสับกระส่ายไม่ได้พักผ่อน อาการเหล่านี้จะเป็นมากที่สุดใน 1 -2 สัปดาห์นับแต่วันที่เลิกใช้กัญชา [2] [3]

นั่นคือการรุนแรงที่สุดเวลาเลิกกัญชา ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ไม่ได้รุนแรงไปกว่าการเลิกเหล้าและบุหรี่แต่ประการใด

ทั้งยังมีผลการวิจัยระบุว่าการเสพติดกัญชาจะเกิดขึ้นเมื่อสมองปรับตัวในการรับสารในกัญชาได้ในปริมาณที่มากโดยการปรับตัวของสารสื่อประสาทและต่อมรับกัญชาในร่างกายมนุษย์ (Endocannabinoid) จะมีความไวต่อสารแคนนาบินอยด์ในกัญชาน้อยลดลง [4] [5] หรือพูดภาษาชาวบ้านให้เข้าใจมากขึ้นก็คือร่างกายมีความชินชาต่อกัญชามากขึ้นจึงต้องใช้กัญชาในปริมาณมากขึ้นนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม เมื่อศึกษาอัตราการเสพติดกัญชานั้นพบจากผลการศึกษาว่า จำนวนผู้ที่ใช้กัญชานั้นมีอัตราความเสี่ยงสะสมที่จะเสพติดกัญชา 8.9% , ต่ำกว่าอัตราสะสมของผู้ที่เสพติดโคเคน 20.9% ต่ำกว่าอัตราสะสมผู้ที่ติดดื่มแอลกอฮอล์ 22.7% และต่ำกว่าอัตราสะสมของผู้ที่ติดบุหรี่หรือนิโคติน 67.5% [6] [7] (ดูภาพประกอบบทความ)

แม้ว่าประมาณการความน่าจะเป็นสะสมในการเสพติดกัญชา น้อยกว่านิโคติน (บุหรี่), แอลกอฮอล์, โคเคน อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาอย่างละเอียดแล้วก็ยังพบอีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยก็คือ อายุของผู้ที่เริ่มใช้กัญชาเป็นเท่าไหร่ เพราะถ้าเร่ิมใช้กัญชาตั้งแต่อายุยังน้อยก็จะทำให้มีโอกาสที่จะเสพติดกัญชามากกว่าเร่ิมใช้กัญชาตอนเป็นผู้ใหญ่แล้ว โดยหากเร่ิมเสพกัญชาตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่นก่อนอายุ 20 ปี ความน่าจะเป็นในการเสพติดกัญชาจะเพิ่มขึ้นเป็น 17% [8], [9]

อย่างไรก็ตามแม้ว่าการเร่ิมเสพกัญชาตั้งแต่อายุยังน้อยจะมีผลทำให้เสพติดกัญชาได้มากกว่าการเร่ิมใช้กัญชาในตอนอายุมากแล้ว(17%) แต่เมื่อพิจารณาแล้วก็ยังมีอัตราการเสพติดสะสมน้อยกว่าโคเคน (20.9%) แอลกอฮอล์ (22.7%) และบุหรี่ (67.5%)อยู่ดี

นั่นหมายความว่าหากจะพิจารณากัญชาในฐานะเป็นพืชเสพติดแล้ว เมื่อกัญชามีความรุนแรงเสพติดน้อยกว่าบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้ว มาตรการและควบคุมไม่ควรจะเกินความเข้มข้นเกินมาตรฐานบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่

อย่างไรก็ตามในแนวทางเภสัชศาสตร์ยุคใหม่ที่เน้นสารสกัดสำคัญออกมาจากตัวกัญชา ก็ย่อมต้องส่งผลทำให้สารสำคัญในกัญชาที่มีการจับกุมได้ในสหรัฐอเมริกามีปริมาณเข้มข้นทยอยสูงเพิ่มขึ้นไปด้วยตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา [10]

โดยในช่วงต้นของทศวรรษที่ 1990 ( พ.ศ.​2533 - พ.ศ. 2542) กัญชาที่มีการจับกุมได้ที่สหรัฐอเมริกานั้นมีสาร THC เฉลี่ยประมาณ 3.8% แต่เมื่อเทียบกับเมื่อปี พ.ศ. 2557 กัญชามีสาร THC โดยเฉลี่ยสูงเพิ่มขึ้นเป็น 12.2% และหากเป็นผลผลิตการสกัดกัญชาจะพบสาร THC สูงมากกว่านั้น 50% และในบางครั้งก็มีสาร THC สูงกว่า 80% เสียด้วยซ้ำ นั่นหมายความว่าความเข้มข้นของสาร THC ซึ่งได้มากขึ้นจากวิธีการสกัดกัญชาของวงการยาในแผนปัจจุบัน

ในขณะที่หลายคนมีความไม่แน่ใจในเรื่องการเสพติดอันเนื่องมาจากความเข้มข้นของ THC จากสารสกัดกัญชายุคใหม่ที่เปลี่ยนไปจากเดิม ในขณะที่วงการแพทย์แผนไทยนั้นนอกจากจะไม่สกัดสารสำคัญออกมาแล้ว ยังมีสัดส่วนในตำรับยาโดยใช้ทั้งใบและดอกผสมกับตัวยาอื่นๆอีกจำนวนมาก ซึ่งหมายความว่าความเข้มข้นของสาร THC ในตำรับยาไทยจะเจือจางกว่ามากเมื่อเทียบกับการสกัดสารสำคัญของกัญชาในยุคปัจจุบัน จริงหรือไม่?

ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ถ้าสารสกัดกัญชามีการใช้ในทางการแพทย์ได้ในโลกใบนี้ ไม่มีเหตุผลเลยที่จะห้ามตำรับยาไทยที่มีกัญชาเข้าในตำรับอยู่ในปริมาณที่เจือจางกว่ามาก

ในวงการแพทย์แผนไทยนั้นนอกจากจะใช้กัญชาอย่างระมัดระวังในตำรับยาแล้ว ยังไม่เคยให้มีการสูบกัญชาในทางการแพทย์เพื่อความมัวเมาเลย แม้แต่ในวงการแพทย์แผนไทยเอง ก็ยังบันทึกเขียนในตำราเวชศึกษา แพทย์ศาสตร์สังเขป ซึ่งเขียนขึ้นโดยพระยาพิศณุประสาทเวช ผู้จัดการโรงเรียนเวชสโมสร เมื่อร้อยกว่าปีก่อนคือ พ.ศ. 2451 ในหัวข้อเรื่อง “แพทยาลังการว่าด้วยคุณธรรมอันเป็นเครื่องประดับหมอ” ข้อ 12 ความว่า

“ข้อ 12 ไม่เป็นคนมีสันดานอันประกอบด้วยความมัวเมา เป็นต้นว่าเสพสุรา สูบกัญชา ยาฝิ่น หรือมัวเมาละเลิงหลงไปในการเล่นเบี้ย เล่นการพนันต่างๆ.อันเป็นทางที่จะทำให้ตาให้ความเดือดร้อนรำคาญ เพราะความประพฤติอันเป็นข้าศึกกับคุณวิชชาของตา เพื่อหลีกเลี่ยงไปพ้นผิดมิให้พัวพัน มีสันดานตั้งมั่นในทางสุจริตดังนี้ จัดเป็นคุณธรรมเครื่องประดับของหมอประการหนึ่ง” [11]

แสดงให้เห็นว่าแพทย์แผนไทยมีความเข้าใจเป็นอย่างดีว่าไม่ควรใช้อย่างไรเป็นความเมามัวหรือเป็นยาเสพติด และใช้อย่างไรจึงจะสามารถใช้เป็นยาได้ ดังนั้นการปลดล็อกกฎหมายเพื่อให้สามารถนำกัญชามาใช้ในทางการแพทย์ได้แล้วก็ควรจะปลดล็อกให้ภูมิปัญญาในแพทย์แผนไทยด้วย จริงหรือไม่?

ด้วยความปรารถนาดี

ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต
อ้างอิง

[1] นิด้าโพล, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) , กัญชา ประโยชน์ หรือ โทษ, การสำรวจระหว่างวันที่ 16 - 17 สิงหาคม 2561 เผยแพร่วันที่ 19 สิงหาคม 2561 http://nidapoll.nida.ac.th/index.php?op=polls-detail&id=612

[2] Budney AJ, Hughes JR. The cannabis withdrawal syndrome. Curr Opin Psychiatry. 2006;19(3):233-238. doi:10.1097/01.yco.0000218592.00689.e5.

[3] Gorelick DA, Levin KH, Copersino ML, et al. Diagnostic Criteria for Cannabis Withdrawal Syndrome. Drug Alcohol Depend. 2012;123(1-3):141-147. doi:10.1016/j.drugalcdep.2011.11.007.

[4] Rotter A, Bayerlein K, Hansbauer M, et al. CB1 and CB2 receptor expression and promoter methylation in patients with cannabis dependence. Eur Addict Res. 2013;19(1):13-20. doi:10.1159/000338642.

[5] Morgan CJA, Page E, Schaefer C, et al. Cerebrospinal fluid anandamide levels, cannabis use and psychotic-like symptoms. Br J Psychiatry J Ment Sci. 2013;202(5):381-382. doi:10.1192/bjp.bp.112.121178.

[6] Anthony JC, Warner LA, Kessler RC. Comparative epidemiology of dependence on tobacco, alcohol, controlled substances, and inhalants: Basic findings from the National Comorbidity Survey. Exp Clin Psychopharmacol. 1994;2(3):244-268. doi:10.1037/1064-1297.2.3.244.

[7] Lopez-Quintero C, Pérez de los Cobos J, Hasin DS, et al. Probability and predictors of transition from first use to dependence on nicotine, alcohol, cannabis, and cocaine: results of the National Epidemiologic Survey on Alcohol and Related Conditions (NESARC). Drug Alcohol Depend. 2011;115(1-2):120-130. doi:10.1016/j.drugalcdep.2010.11.004.

[8] Anthony JC. The epidemiology of cannabis dependence. In: Roffman RA, Stephens RS, eds. Cannabis Dependence: Its Nature, Consequences and Treatment. Cambridge, UK: Cambridge University Press; 2006:58-105.

[9] Hall WD, Pacula RL. Cannabis Use and Dependence: Public Health and Public Policy. Cambridge, UK: Cambridge University Press; 2003.

[10] Mehmedic Z, Chandra S, Slade D, et al. Potency trends of Δ9-THC and other cannabinoids in confiscated cannabis preparations from 1993 to 2008. J Forensic Sci. 2010;55(5):1209-1217. doi:10.1111/j.1556-4029.2010.01441.x.

[11] พระยาพิศณุประสาทเวช ผู้จัดการโรงเรียนเวชสโมสร, เวชศึกษาแพทย์ศาสตร์สังเขป, ๑๐ พฤศจิกายน รัตนโกสินทร ศก ๑๒๗



กำลังโหลดความคิดเห็น