xs
xsm
sm
md
lg

วิธีดึงดูดเงินเข้ามา มีเงินใช้ไม่ขัดสน / ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

จากคอลัมน์ Inspiration
โดย ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล (suwatmgr@gmail.com)
เซกชั่น Good Health & Well Being
นิตยสารผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 - 23 ก.ย. 2561

ถ้าหากเจอคนที่มีคุณสมบัติประเภทที่....“หาเงินเก่ง ใช้เงินเป็น มีรสนิยมในการใช้เงิน” คุณว่าน่าสนใจไหม?

แน่นอนครับ ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ก็ยังต้องการมี “เงิน” หลายคนทำงานเพื่อเงิน บางคนถึงกับยอมขายจิตวิญญาณ ความถูกต้อง เป็นธรรม เพื่อให้ได้เงินหรือได้ผลประโยชน์ก็ยังมี

เป็นจังหวะที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ก็พบแนวคิดและคำแนะนำ “การใช้ชีวิตที่จะส่งผลดึงดูดความมั่งคั่งเข้ามา ถ้าขนาดมีเงินใช้ไม่ขัดสน”

นับเป็นหลักคิดและวิถีทางที่ท้าทายต่อคนความเชื่อ ซึ่งผู้เขียนคือ โคะโคะโระยะ จินโนะซุเกะ ที่ปรึกษาเชิงจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้าน “การแก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนนิสัย” หรือเรียกว่า “ปฏิรูปนิสัย”

เขายืนยันจากประสบการณ์ว่า แนวคิดนี้ได้ผลดี จนเปิดเป็นสถาบันให้คำปรึกษาอบรมเชิงจิตวิทยา ปัญหาชีวิตอยู่ที่เกียวโต และเขียนเป็นหนังสือหลายเล่มซึ่งขายดีกว่า 2 ล้านเล่มทีเดียว

ประเด็นที่น่าสังเกตก็คือ ตามร้านหนังสือจะมีหมวดยอดฮิตประเภท ชี้ช่องรวย เคล็ดลับการเป็นเศรษฐีคู่มือหาเงิน คู่มือการบริหารเงิน คู่มือเล่นหุ้น เป็นต้น

แต่จะมีสักกี่คนที่อ่านแล้วกลายเป็นคนรวยหรือเป็นเศรษฐีได้จริง จินโนะซูเกะ จึงบอกไว้ในบทนำว่า เพราะคนส่วนใหญ่สนใจอยากรู้ “วิธีทำ” (Doing) ที่จะเป็นเศรษฐี ขณะที่ “วิธีเป็นอยู่” (Being) ยังไม่ถูกต้อง

ในเมื่อ “วิธีเป็นอยู่” ซึ่งหมายถึง ความคิด ความเชื่อ ทัศนคติหรือมุมมอง ซึ่งมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมหรือการกระทำ จึงต้องปรับให้ถูกจุด

เพราะความคิด ทัศนคติหรือมุมมอง เปลี่ยนวิธีทำ ย่อมเปลี่ยนไปโดยอัตโนมัติ เช่นคนที่มีนิสัยไม่เป็นคุณกับตัวเอง เช่น มองโลกในแง่ร้าย ขี้ใจน้อย ชอบโทษตัวเองหรือโทษคนอื่นก็ตาม คนแบบนี้ย่อมมีวิถีการกระทำในแง่ลบและทำให้เกิดความทุกข์ มีโอกาสสร้างความยากลำบาก ไม่ราบรื่นให้ชีวิตและการทำงาน รวมทั้งเกิดปัญหาขัดสนใจเรื่องเงิน

ถ้าอยากออกจากสภาพแวดล้อมของปัญหาและข้อจำกัด ที่ตัวเองสร้างเงื่อนไขขึ้นมาเองโดยไม่รู้ตัว ก็ต้องเริ่มที่การปรับ “มุมมองเรื่องเงิน”

ถ้ามองเงินในแง่ลบ เงินจะไม่เข้ามาหาคุณ

คนที่คิดว่าการหาเงินเป็นเรื่องดี ไม่จำเป็นต้องเหนื่อยยากหรือทำงานหัวฟู หากฉลาดในการวาดแผนและทำงานเป็นก็สำเร็จได้โดยไม่ชุลมุน จึงสามารถได้เงินมาโดยไม่ต้องเหนื่อยยาก

บางคนอาจมีหัวหน้าที่ดูไม่ค่อยทำงานเท่าไร แต่กลับได้เงินเดือนมากกว่า หากคุณจะคิดนินทาว่าร้ายหรือคิดว่า “ดีจังเลย.....อยากเป็นแบบนั้นบ้าง”

ขอให้รู้ว่าคนที่มีมุมมองเรื่องเงินในแง่ลบ ความรู้สึกเช่นนั้นจะส่งผลให้เงินไม่ไหลมาหาคุณ เพราะคุณกำลังปฏิเสธเงินโดยไม่รู้ตัว

• คิดถึงทางออกของเงินแทนทางเข้าของเงิน

มีการศึกษา “มุมมอง” ในเรื่องเงิน พบว่า คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่คิดเชิงลบว่า ทำอย่างไรจะไม่ขาดทุนหรือไม่ต้องใช้เงิน ส่วนคนอเมริกันจะคิดเชิงบวกว่า ควรใช้เงินอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นี่คือ การปรับมุมมองแรกที่ “อคติ” ต่อเงิน คือ...

• ควรคิดถึงทางออกของเงินแทนที่จะมุ่งสนใจทางเข้าของเงิน

ทั้งนี้ ก็ควรใช้เงินไปเพื่อเป็นประโยชน์กับตัวเองและดีต่อสังคม ไม่ใช่เอาแต่เก็บสะสม เพราะกลัวว่าเงินจะลดน้อยไป

หลักคิดเรื่องให้ความสำคัญกับทางไหลออกของเงิน ก็คือ การเปลี่ยน “วิธีเป็นอยู่” ซึ่งจะทำให้ “วิธีทำ” หรือพฤติกรรมเปลี่ยนไปด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็ควรพยายามทำให้กระแสเงินเป็นไปในลักษณะเข้ามาก-ออกมาก คือ มีคุณค่าที่ส่งผลให้เงินจะไหลเข้ามาและใช้เงินไป (ในทางที่ถูกต้อง ถูกทาง)

การสร้างกระแส “การให้” เช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์หรือความรู้ ความช่วยเหลือผู้อื่นที่หมุนเวียนในสังคมมากขึ้น และในที่สุดประโยชน์และเงินก็จะไหลกลับมาหาคุณในปริมาณที่มากกว่าเดิม เหมือนธรรมชาติการไหลของน้ำ

การใช้เงินออกไปแล้วคิดว่า “เดี๋ยวก็หาใหม่ได้” อาจดูค่อนข้างเหลือเชื่อ แต่ผู้เชี่ยวชาญท่านนี้ยืนยันว่า นี่คือ “วิธีคิดของคนที่มีเงินใช้ไม่ขัดสน”

แต่คนที่คิดเช่นนี้ได้ย่อมต้องมีความมั่นใจว่าเงินจะไหลเข้ามาหาตัวเองอย่างแน่นอน จึงรู้สึก “มีอิสระ” ไม่กังวลเรื่องเงินหดหาย

ดังนั้น แค่เปลี่ยนมุมมองมาเป็นความเชื่อมั่นว่าตัวเรา “มีเงิน” ก็จะรู้สึกสบายใจและมีความสุขขึ้น เช่นนี้ความรู้สึก “ต้องการเงิน” จะลดลง

น่าแปลกที่จะบอกว่า ความรู้สึก “อยากได้เงิน” เงินจะไม่เข้ามา แต่ถ้ารู้สึกไม่อยากได้ หรือเฉยๆ กับเงิน เพราะมีความมั่นใจและรู้สึกว่า “มีเงิน”

นี่ตรงกับ “กฎแรงดึงดูด” ที่คล้ายเราส่งสัญญาณกับจักรวาล อย่างคนที่มักคิดและพูดบ่อยๆ ว่า “ไม่มีเงิน” ก็เท่ากับผลักไสเงินออกไปจากตัว จักรวาลก็จะ “จัดให้” คือตัดโอกาสจะได้เงิน

เมื่อเราเปลี่ยนมุมมองว่าตัวเอง “มีเงิน” มีรายได้อยู่เท่าไรก็ตาม หากเรารู้สึกขณะนั้นว่า พอเหมาะ ก็สามารถมีความสุขและความสบายใจ ก็มีกำลังใจทำงาน ประสิทธิภาพและผลงานย่อมดี มีผลต่อรายได้ที่สูงขึ้นได้

เป็นการยืนยันหลักคิดที่ว่า เมื่อมีชีวิตและการงานที่มีความสุข (ตระหนักในคุณค่าของตัวเอง) จะเกิดความสำเร็จและรายได้ตามมา

แต่ “คุณค่าในตัวเอง” ดังกล่าวนี้ ไม่ใช่เพียงความรู้ความสามารถ หรือคุณค่าที่มีต่อสังคมแค่ไหน แต่อยู่ที่คุณคิดว่า “ตัวเองมีคุณค่าหรือไม่”

เมื่อเอาเงินเป็นตัวเทียบ ก็มีคิดว่า “ค่าแรง” ซึ่งหมายถึง เงินที่ได้จากการใช้ความพยายาม หรือลงแรงทำงาน ขณะที่ “ค่าตัว” คือเงินที่ได้มานั้น ตัวเองมีคุณค่าพอที่จะได้รับ

ดังนั้น ต้องประเมิน “ค่าตัว” ของตัวเองให้เพิ่มสูงขึ้น ไม่ใช่ทำงานมากขึ้นเพื่อเพิ่ม “ค่าแรง”

จึงควรทำ “งานที่มีน้ำหนัก” ดีกว่า ทำ “งานหนัก”

จึงไม่ใช่การพยายามทำงานให้มาก สร้างผลงานเพิ่มหรือหาเงินให้มาก แต่ต้องมีความรู้สึกยอมรับได้ว่าตัวเองมีคุณค่า และประเมิน “ค่าตัว” ของตัวเองสูงขึ้นได้ นั่นแหละ กระแสเงินจะเปลี่ยนไปดีขึ้นแน่

เมื่อคิดเช่นนี้ ความหมายของเงิน จึงมิใช่ “ค่าตอบแทน” การใช้แรงงานมากไป แต่เราต้องเป็นคนมีคุณค่าในตัว แม้ยังมิได้ทำอะไรด้วยซ้ำ

ดังนั้น ยิ่งประเมินคุณค่าตัวเองมีค่าตัวสูงเท่าไหร่ ก็จะยิ่งสะท้อนความมั่งคั่งมากขึ้นเท่านั้น เพราะได้มีการสร้างเหตุ คือ “คุณลักษณะ” ที่มีคุณค่าจนมีค่าตัวเป็นที่ยอมรับ และกลายเป็นความมั่งคั่ง ซึ่งต้องเริ่มที่การปรับปรุงมุมมองหรือทัศนคติเรื่องเงิน
ที่มาข้อมูล :
หนังสือ “ใช้เงินอย่างไร ให้มีเงินใช้ตลอดชีวิต”
ผู้เขียน : โคะโคะโระยะ จินโนะซุเกะ
สำนักพิมพ์ วีเลิร์น



แนะนำหนังสือ



เศรษฐศาสตร์ : เปลี่ยนเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย
ผู้เขียน : Park Byung-Ryul
ผู้แปล : ตรองสิริ ทองคำใส
สำนักพิมพ์ : Shortcut
ราคา 245 บาท
ถ้าอยากได้ชุดเกราะไอรอนแมน เราต้องจ่ายเท่าไหร่ แฮร์รี่ พอตเตอร์ จะถังแตกไหม ถ้าศิลาอาถรรพ์เปลี่ยนทุกอย่างเป็นทองคำ ทำไมเจ้าชายน้อยต้องกลับดาวตัวเอง คำถามเหล่านี้ตอบได้ด้วยเศรษฐศาสตร์



ศาสตร์แห่งการขายที่ใครก็ปฏิเสธไม่ได้
ผู้เขียน : Nobuhisa Matsumoto
ผู้แปล : นพัฒน์ หัทยานันท์
สำนักพิมพ์ : อัมรินทร์ ฮาว ทู
ราคา 215 บาท
เพิ่มยอดขายให้ทะลุเป้า ด้วยกลยุทธ์การเจรจาอันแยบยลที่ไม่เปิดช่องว่างให้ลูกค้าปฏิเสธ จากยอดนักขายอันดับหนึ่งในญี่ปุ่น ผู้พลิกฟื้นบริษัทที่เกือบล้มละลายได้ภายในเวลาแค่ 9 เดือน จนปัจจุบันมีรายได้ถึง 300 ล้านเยน



การบริหารคนด้วยหลัก 5 ธาตุ
ผู้เขียน : เปี่ยมศักดิ์ คุณากรประทีป
สำนักพิมพ์ : สุขภาพใจ
ราคา 250 บาท
ศาสตร์โบราณที่ไม่เคยล้าสมัยกับคนทุกวงการ เพื่อรู้จักธาตุแท้อย่างหมดเปลือก เหมาะกับคนทุกองค์กร ทุกวงการ ทุกระดับ ปรับใช้ได้จริง ทำให้เป็นผู้เข้าใจและบริหารคนอย่างยอดเยี่ยมได้ไม่ยาก!



การบริหารพนักงานดาวเด่น
ผู้เขียน : จตุรงค์ นภาธร
สำนักพิมพ์ : จุฬาฯ
ราคา 200 บาท
การบริหารพนักงานดาวเด่นเป็นหัวข้อที่ได้รับการกล่าวถึงเป็นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งพนักงานดาวเด่นนี้ถือเป็นสินทรัพย์อันทรงคุณค่ายิ่งสำหรับองค์การ และองค์การจำเป็นต้องบริหารกลุ่มพนักงานเหล่านี้อย่างมีประสิทธิผล




กำลังโหลดความคิดเห็น