xs
xsm
sm
md
lg

กลางวันไม่ตื่น กลางคืนเริงร่า : โรคร้ายเร่งวันตาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลางวันไม่ตื่น กลางคืนไม่นอน โรคที่หนุ่มสาววัยมหาวิทยาลัยและคนวัยทำงานจำนวนไม่น้อยกำลังประสบพบเจอซึ่งเกิดมาจากพฤติกรรมกับการทำงานตอนดึกๆ หามรุ่งหามค่ำ ติดซีรีส์ละคร สังสรรค์โต้รุ่ง หากทำซ้ำเป็นประจำอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ฮอร์โมนผิดปกติและระบบนาฬิกาชีวิตเปลี่ยน ยากต่อการแก้ไขจนกระทั่งสายเกินไปจนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคร้ายมะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม และโรคเบาหวาน ที่เกิดจากพฤติกรรมของเรา

สุขภาพพัง
 
โดยสาเหตุของอันตรายจากโรคร่าเริงที่ส่งผลต่อชีวิต เกิดจาก ร่างกายของมุนษย์โดยปกติพื้นฐานเราทุกคนล้วนมีการหลั่งฮอร์โมนตามนาฬิกาชีวิต คือ ช่วงเวลา 22.00-02.00 น. เป็นช่วงเวลาที่โกรทฮอร์โมนจะหลั่งออกมาในขณะที่เราหลับเพื่อฟื้นฟูร่างกาย หากอดหลับอดนอนในช่วงเวลาดังกล่าวจะส่งผลต่อระบบของโกรทฮอร์โมนที่ทำงาน ซึ่งโกรทฮอร์โมนนั้นเป็นฮอร์โมนสำคัญตัวหนึ่งของร่างกายที่จะขาดไปไม่ได้เนื่องจากมีหน้าที่ช่วยซ่อมเซลล์ ทำให้ร่างกายแข็งแรง และหากเราผิดวงจรชีวิตนอกจากจะทำให้ฮอร์โมนผิดเพี้ยน ระบบต่างๆ ของร่างกายหลักใหญ่อย่างสมอง หัวใจ หลอดเลือด ต่อมไร้ท่อ ภูมิคุ้มกันร่างกาย ทำงานไม่เป็นปกติอีกด้วย นั่นย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องในวงกว้าง
 
ก่อให้เกิดโรคต่างๆ อาทิ ลำไส้ โรคในกลุ่มการเผาผลาญอาหาร (Metabolic Disorders) เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต เนื่องจากการรับประทานอาหารผิดเวลา อย่างการรับประทานอาหารในมื้อเช้าจะเป็นการกระตุ้นลำไส้ให้เกิดการขับถ่าย ถ้าผ่านช่วงเวลาที่ลำไส้ควรได้รับการกระตุ้นไปแล้วและไม่ได้รับประทานอาหารมื้อเช้าก็จะส่งผลให้เกิดอาการท้องผูก มีปัญหาในเรื่องของการขับถ่าย โรคความเครียด ซึ่งการนอนดึกหรืออดนอนจะทำให้ผิวพรรณขาดความชุ่มชื่น ไม่สดใส เพราะการเผาผลาญพลังงานน้อยลงเนื่องจากฮอร์โมนทำงานได้ไม่เต็มที่ เกิดความอยากในการรับประทานของหวาน ส่งผลทำให้อ้วนอันเป็นบ่อเกิดของโรค ที่สำคัญภัยร้ายแฝงอย่างแยบคาย คือ พฤติกรรมการ ติดกาเฟอีน จำพวกชา-กาแฟ ที่ดื่มมากๆ แล้วก็จะก่อให้เกิดโรคกระดูกพรุน โรคหัวใจ โรคเส้นเลือดสมองตีบ
หน้าที่การงานเจ๊ง
 
เพราะ ไม่ได้พักผ่อน ไม่สดชื่น ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยังส่งผลต่อพฤติกรรมการขี้เหวี่ยงขี้วีน หงุดหงิดง่าย บุคลิกภาพแปรปรวน ทำงานร่วมกับคนอื่นไม่ได้ในท้ายที่สุด

โดยทั้งหมดทั้งมวลสามารถแก้ไขได้จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
 
1. เข้านอนตั้งแต่หัวค่ำ ไม่ควรเกิน 22.00 น. พร้อมทั้งตั้งนาฬิกาปลุกเวลาเดิมทุกๆ วันในตอนเช้า เพื่อสร้างความเคยชิน
 
2. หลีกเลี่ยงแป้ง น้ำตาล เพิ่มเนื้อสัตว์ในมื้อกลางวัน เพราะแป้งและน้ำตาลนั้นเป็นตัวกระตุ้นให้สมองหลั่งสารเซโรโทนินมากเกินไปซึ่งทำให้ง่วงนอน
 
3. งดแอลกอฮอล์ก่อนเข้านอน
 
4. ฟังเพลงระหว่างวัน เพื่อเพิ่มความตื่นตัวแก้ง่วง ดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำประเภทอื่นๆ  เนื่องจากทำให้สมองแล่น และเป็นตัวลดความหนืดของเลือดที่จะส่งผลให้ง่วงนอนในเวลากลางวัน
 
5. ออกกำลังกาย ท้ายที่สุด การออกกำลังกายเป็นประจำ นอกจากช่วยให้หลับง่ายเนื่องจากร่างกายได้ใช้แรง ยังช่วยในเรื่องของสุขภาพภายในของระบบต่างๆ ทำงานอย่างเป็นปกตินั่นเอง



กำลังโหลดความคิดเห็น