xs
xsm
sm
md
lg

เฉลยปริศนา ทำไมวัดความดันโลหิตที่โรงพยาบาล “สูงกว่า”ที่บ้านทุกทีเลย !? / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

องค์การอนามัยโลกได้เคยเผยแพร่รายงานว่าความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างยิ่งสำหรับโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และโรคเส้นโลหิตสมองโดยมีการคาดการณ์ว่าภาวะความดันโลหิตสูงจะมีมากถึง 25% หรือคิดเป็นประชากรประมาณ 1,560 ล้านคนทั่วโลกภายในปี พ.ศ. 2568 [1]
ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ศุภชัย ไชยธีระพันธ์ จากสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย ได้เคยกล่าวถึงโรความดันโลหิตสูงในประเทศไทยความตอนหนึ่งว่า...

“ในช่วงทศวรรษที่ผ่านไปการศึกษาระบาดวิทยาแสดงข้อมูลที่ชัดเจนว่าโรคความดันโลหิตสูงมีอุบัติการณ์สูง ขี้นมากในประชากรไทยในผู้ที่มีอายุเกิน 40 ปี วัยกลางคน และโดยเฉพาะประชากรสูงอายุเกิน 65 ปี ซึ่งมีอัตราการเพิ่มตัวอย่างรวดเร็ว เป็นกลุ่มที่พบอุบัติการณ์โรคความดันโลหิตสูงเป็นทวีคูณ ความดันโลหิตสูงเป็นโรคเงียบและมักไม่ค่อยมี อาการ อาการแรกสุดอาจเป็นภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือโรคหัวใจวายเฉียบพลัน หรือไตพิการ และมักเกิดร่วมกับภาวะโรคอื่น เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต กลุ่มโรคอ้วนลงพุง ฯลฯ” [2]

โดยทั่วไปแล้ว โรคความดันโลหิตสูง (hypertension) หมายถึง ระดับความดันโลหิตซิสโตลิก (systolic blood pressure,SBP) ที่คนทั่วไปมักเรียกว่า “ความดันตัวบน” มากกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท และ/หรือความดันโลหิตไดแอสโตลิก(diastolicbloodpressure, DBP) ซึ่งคนทั่วไปมักเรียกว่า “ความดันตัวล่าง” มากกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท

สำหรับประเทศไทยแล้ว ได้เคยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งได้เผยแพร่ในวารสาร Global Journal of Health Science. เมื่อปี พ.ศ. 2556 ว่าได้มีสำรวจประชากรผู้ซึ่งเป็นนักเรียนในมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชเมื่อปี พ.ศ. 2548 จำนวน 87,134 คน ซึ่งส่วนใหญ่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี (แต่ก็มีผู้สูงวัยด้วย)พบเรื่องทีน่าสนใจว่า [3] :

“ผู้ชายส่วนใหญ่มีความดันโลหิตสูงกว่าผู้หญิง โดยผลการวินิจฉัยของแพทย์ระบุในงานวิจัยชิ้นนี้พบว่า ผู้ชายมีความดันโลหิตสูง 6.4% ในขณะที่ผู้หญิงมีความดันโลหิตสูง 2.6% และทั้งชายและหญิงเมื่ออายุมากขึ้นความดันโลหิตสูงก็จะเพิ่มมากขึ้นตามวัย

ผู้ชายที่สมรสแล้วมีแนวโน้มที่จะมีความดันโลหิตลดลง ในขณะที่ผู้หญิงที่อายุน้อยและสมรสแล้วกลับมีความดันโลหิตสูงขึ้น

กลุ่มประชากรทั้งชายและหญิงที่มีปริญญาบัตรอยู่แล้ว 1 ใบก่อนที่จะมาเรียนที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชก็จะมีความดันโลหิตต่ำกว่าคนที่ยังไม่เคยได้รับปริญญาบัตรมาก่อน

ประชากรชายที่มีรายได้ต่อเดือนสูงกว่าจะมีแนวโน้มที่ความดันโลหิตสูงกว่าประชากรชายที่มีรายได้ต่ำกว่า แต่ประเด็นปัจจัยรายได้กลับไม่ได้มีผลต่อความดันโลหิตของประชากรหญิง

และความดันโลหิตสูงจะสูงขึ้นสัมพันธ์กับค่าดัชนีดีมวลกายเพิ่มขึ้น โดยพบว่าในกลุ่มคนที่เข้าข่ายภาวะโรคอ้วนมักจะมีภาวะความดันโลหิตสูงร่วมด้วย 11%

ความดันโลหิตจะลดน้อยลง (โดยเฉพาะประชากรชายที่สูงวัยมากขึ้น) ถ้าทำงานบ้านหรือทำสวน ในทางตรงกันข้ามผู้ชายที่นั่งมากกว่าการเคลื่อนไหวขยับตัวมีโอกาสที่จะมีความดันโลหิตสูงมากกว่า แต่ผู้หญิงที่นั่งมากกว่าเคลื่อนไหวขยับตัวกลับไม่มีผลต่อความดันโลหิตสูง

นอกจากนั้นยังพบว่าคนที่มีโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ทั้งชายและหญิงก็จะมีผลทำให้เป็นโรความดันโลหิตสูงร่วมด้วย ประชากรทั้งชายและหญิงที่มีประวัติเป็นโรคไตก็มีลักษณะจะมีความดันโลหิตสูงเช่นกัน (ยกเว้นหญิงที่สูงวัย)

ในการสำรวจครั้งนี้ยังพบว่าผู้ชายที่สูบบุหรี่จะมีแนวโน้มที่จะมีความดันโลหิตสูงมากกว่าชายที่ไม่สูบบุหรี่ แต่ปัจจัยการสูบบุหรี่กลับไม่ผลแตกต่างกันในกลุ่มประชากรหญิง ส่วนการดื่มแอลกอฮอล์มีผลต่อความดันโลหิตสูงขึ้นกับวัยหนุ่มสาว ในขณะที่มีผลตรงกันข้ามกับผู้สูงวัยซึ่งความดันโลหิตลดลง

โดยภาพรวมประชากรที่สำรวจ (โดยเฉพาะผู้หญิงที่อายุน้อย) พบว่าหากบริโภคอาหารสำเร็จรูป หรืออาหารปิ้งย่างมากเท่าไหร่ ก็จะทำให้ความดันโลหิตสูงมากขึ้น ส่วนชายสูงวัยที่บริโภคสิ่งเหล่านี้ 3-6 ครั้งต่อสัปดาห์มีแนวโน้มที่จะมีความดันโลหิตสูงกว่าชายสูงวัยที่บริโภคสิ่งเหล่านี้ 1 ครั้งต่อเดือน

ดังนั้น โรคความดันโลหิตสูงมักจะเป็น “ผลลัพธ์” ที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุอื่น ทางแก้ไขก็ควรจะแก้ปัญหาต้นเหตุที่แท้จริง มิใช่แก้ไขในเรื่องความดันโลหิตสูงซึ่งเป็นปลายเหตุแต่เพียงอย่างเดียว

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าความดันโลหิตสูงมาจากภาวะอ้วนเกิน การลดน้ำหนักด้วยการควบคุมการรับประทานอาหารและออกกำลังกายก็จะลดความอ้วนลงได้ และจะส่งผลทำให้ความดันโลหิตก็จะลดลงมาเอง อันเป็นการลดความดันโลหิตสูงจากต้นเหตุที่แท้จริง

ถ้ามาจากโรคเบาหวานแล้วส่งผลทำให้หลอดเลือดหนาตัวขึ้น ก็ควรจะต้องแก้ไขต้นเหตุของโรคเบาหวานด้วยการลดแป้งงดน้ำตาลเพื่อเอาชนะโรคเบาหวานให้ได้ โรคความดันโลหิตสูงก็จะดีขึ้นเอง

หรือถ้ามาจากหลอดเลือดอักเสบก็ต้องระมัดระวังอาหารที่สร้างการอักเสบของหลอดเลือด ได้แก่ ไขมันทรานส์ การผัดทอดด้วยไขมันไม่อิ่มตัว (การผัดทอดด้วยความร้อนสูงในน้ำมันไม่อิ่มตัวได้แก่ น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันรำข้าว)

หรือถ้ามาจากความเครียด ก็ต้องหาทางในการบำบัดลดความเครียดให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายอย่างพอดี หรือหากิจกรรมหรือหาวิธีคิดที่ทำให้ผ่อนคลายความเครียดที่เหมาะสมสำหรับแต่ละคน

อย่างไรก็ตาม ก็ต้องดูว่า “การเป็นความดันโลหิตสูง” นั้นเกิดขึ้นเฉพาะที่มีการตรวจที่โรงพยาบาลเท่านั้นหรือเปล่า เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นก็ถือว่าเป็นการมีภาวะความดันโลหิตสูงชั่วคราวที่เกิดขึ้นเฉพาะอยู่ต่อหน้าหมอหรือพยาบาลเท่านั้น

ภาวะความดันโลหิตสูงเฉพาะเมื่อวัดต่อหน้าหมอนั้นถูกเรียกว่า ความดันโลหิตสูงต่อหน้าชุดขาว (ของหมอและพยาบาล) ภาษาอังกฤษเรียกว่า “White Coat Hypertention” ที่เป็นเช่นนั้นได้ก็เพราะมีตัวแปรจากหลายสาเหตุ เช่น ช่วงเวลาการวัดความดัน จิตวิทยาในเรื่องความวิตก กังวล ฯลฯ

และถ้าเราจะรู้ได้ ทุกครัวเรือนควรจะมีเครื่องวัดประจำบ้านเอาไว้อย่างน้อย 1 เครื่อง เพื่อจะได้เปรียบเทียบว่ามีความตรงกับที่วัดต่อหน้าหมอหรือพยาบาลตามคลีนิกหรือโรงพยาบาลหรือไม่?

ผลการวิจัยในวารสารโรคหัวใจในยุโรป European Heart Journal และวารสาร Hypertension เมื่อปี พ.ศ. 2556 พบว่าประชากรทั่วไปมีโอกาสจะพบภาวะโรคความดันโลหิตสูงขึ้นเมื่ออยู่ต่อหน้าหมอและพยาบาล ประมาณ 10% และอาจพบในผู้ป่วยอีก 30% [4] [5]

ถึงแม้จะมีการระบุว่าผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงต่อหน้าหมอและพยาบาลจะเกิดขึ้นจริง แต่ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2560 วารสารเกี่ยวกับความดันโลหิตสูง Journal of Hypertention ได้เปิดผลการวิจัยระบุว่าผู้ที่มีความดันโลหิตสูงขึ้นเมื่ออยู่ต่อหน้าหมอและพยาบาลก็ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาการโรคหลอดเลือดและการเสียชีวิตได้มากกว่าประชากรที่มีความดันโลหิตปกติอยู่ดี [6]

แต่ในความเป็นจริงแล้ว สถิติภาวะความดันโลหิตสูงที่เกิดขึ้นต่อหน้าหมอและพยาบาลมากกว่าการตรวจวัดที่บ้าน ของแต่ละประเทศอาจไม่เหมือนกัน ด้วยวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสังคมจิตวิทยาที่แตกต่างกัน และด้วยความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคนไข้ในประเทศไทยเอง ก็อาจถูกตั้งข้อสงสัยว่า มีโอกาสที่คนไข้จะตื่นเต้น วิตกกังวลได้บ่อยกว่า หรือ รุนแรงกว่างานวิจัยที่ปรากฏในประเทศสหรัฐอเมริกาหรือยุโรปหรือไม่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปรากฏข้อความในรายงานเอกสารของ สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ของประเทศไทยระบุเอาไว้เนื่องในวันความดันโลหิตสูง เมื่อปี พ.ศ. 2556 ยอมรับว่า...

“ค่าความดันโลหิตในขณะวัดที่บ้านมักจะมีค่าน้อยกว่าที่วัดเมื่อมาพบแพทย์” [7]

ดังนั้น ทุกครัวเรือนควรจะต้องมีเครื่องวัดความดันโลหิตสำหรับเพื่อเปรียบเทียบกับการวัดที่คลีนิกหรือโรงพยาบาล เพื่อทำให้แน่ชัดว่าเรามีภาวะความดันโลหิตสูงชั่วคราวต่อหน้าหมอและพยาบาลหรือไม่ เพื่อทำให้ไม่วิตกเกินเหตุหรือรีบรับประทานยาลดความดันโดยไม่สอดคล้องกับความดันโลหิตในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการวัดต่อหน้าหมอและพยาบาลมีภาวะความดันโลหิตสูงแต่วัดที่บ้านเป็นปกติ

แต่ก็ต้องไม่ประมาทเช่นกันในกรณีที่วัดต่อหน้าหมอและพยาบาลแล้วความดันโลหิตสูงมากกว่าที่วัดที่บ้าน แต่เมื่อวัดที่บ้านแล้วก็ยังมีภาวะความดันโลหิตสูงเกินมาตรฐานอยู่เป็นประจำ ก็ควรจะต้องเร่งหาสาเหตุและปรับพฤติกรรมและการบริโภคที่เป็นปัญหาต้นเหตุของภาวะความดันโลหิตสูงของคนๆ นั้นด้วย

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต
อ้างอิง:
[1] World Health Organization.Global Health Observatory (GHO) Data: Raised Blood Pressure—Situation and Trends.2016.http://www.who.int/gho/ncd/risk_factors/blood_pressure_prevalence_text/en/[Ref list]

[2] ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ศุภชัย ไชยธีระพันธ์, แนวทางการรักษาโรความดันโลหิตสูง ในเวชปฏิบัติทั่วไป, สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย, ฉบับปรับปรุง 2558

[3] Thawornchaisit P, de Looze F, Reid CM, Seubsman S, Sleigh A, Thai Cohort Study Team. Health-Risk Factors and the Prevalence of Hypertension: Cross-Sectional Findings from a National Cohort of 87 143 Thai Open University Students. Global Journal of Health Science. 2013;5(4):126-141. doi:10.5539/gjhs.v5n4p126.

[4] Mancia G, Fagard R, Narkiewicz K, Redón J, Zanchetti A, Böhm M, et al. 2013 ESH/ESC guidelines for the management of arterial hypertension: the Task Force for the Management of Arterial Hypertension of the European Society of Hypertension (ESH) and of the European Society of Cardiology (ESC). Eur Heart J 2013; 34:2159-2219. [PubMed] [Ref list]

[5] Franklin SS, Thijs L, Hansen TW, O’Brien E, Staessen JA. White-coat hypertension: new insights from recent studies.Hypertension 2013; 62:982-987. [PubMed][Ref list]

[6] Huang Y, Huang W, Mai W, et al. White-coat hypertension is a risk factor for cardiovascular diseases and total mortality. Journal of Hypertension. 2017;35(4):677-688. doi:10.1097/HJH.0000000000001226.

[7] ธาริณี พังจุนันท์ และนิตยา พันธุเวทย์, ประเด็นสารรณรงค์ วันความดันโลหิตสูงโลก 2556, สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค



กำลังโหลดความคิดเห็น