xs
xsm
sm
md
lg

กรณีศึกษาจักษุแพทย์ไทย “ผู้ป่วย 3 ราย หายตาบอดด้วยการนวดตา” / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โรคต้อหินเรื้อรัง เป็นโรคที่มีการทำลายขั้วประสาตาไปเรื่อยๆ จนตาบอดในที่สุด ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง ทราบแต่เพียงว่าความดันลูกตาสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่ง ดังนั้นการรักษาจึงมีเป้าหมายในการลดความดันลูกตา ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยา การผ่าตัด หรือการใช้เลเซอร์
อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 10 ของผู้ป่วยโรคต้อหินเรื้อรังยังคงตาบอดแม้จะได้รับการรักษาควบคุมความดันลูกตาอย่างดีแล้วก็ตาม ขณะนี้ศูนย์วิจัยโรคต้อหินในต่างประเทศหลายแห่ง กำลังคิดค้นการรักษาในแนวทางทฤษฎีระบบไหลเวียนเลือด และพยายามพัฒนาตัวยาที่จะเพิ่มการไหลเวียนเลือดเข้าไปในลูกตา แต่ยังไม่สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม ด้วยแนวความคิดของจักษุแพทย์ไทยท่านหนึ่งคือ นายแพทย์สมเกียรติ อธิคมกุลชัย แผนกจักษุวิทยา โรงพยาบาลเอกชัย สมุทรสาคร ได้ค้นพบนวัตกรรมการนวดตา (Palm Pressure therapy) ที่สามารถเพิ่มการไหลเวียเลือดเข้าไปในลูกตา และพบว่าสามารถหยุดการดำเนิน (Progression) ของโรคต้อหินเรื้อรังได้ และยังสามารถฟื้นฟูการมองเห็นในผู้ป่วยที่ตาบอดแล้ว 3 ราย ให้กลับมามองเห็นอีกครั้งหนึ่ง ด้วยแนวทางนี้ คาดว่าจะสามารถพัฒนาเพื่อลดจำนวนโรคที่ทำให้ตาบอดในอนาคตอันใกล้นี้

นวัตกรรมดังกล่าวนั้นคือการใช้ “อุ้งมือ” กดลงที่เบ้าตาจนเห็นแสงแล้วกดค้างไว้ 2 นาทีต่อหนึ่งครั้ง และวันหนึ่งให้ทำหลายครั้งให้ได้มากที่สุด มาประกอบการรักษา

ที่จริงเรื่องดังกล่าวนี้ผู้เขียนได้เคยเผยแพร่ในนิตยสารผู้จัดการสุดสัปดาห์ถึง 5 ตอนระหว่างวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2557 - 16 มกราคม พ.ศ. 2558 ในหัวข้อ “ทำไมยังไม่ยอมวิจัยเรื่อง การกดนวดตาเพื่อรักษาโรคต้อหินเรื้อรังและจอประสาทตาเสื่อม !?” (ตอนที่ 1, 2,3, ตอนจบ) ซึ่งมีอุปสรรคทั้งการขัดขวาง การไม่ให้ความร่วมมือ และการต่อต้านการวิจัยเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

มีคำถามว่าทำไมไม่วิจัยเอง ก็เพราะการวิจัยจะต้องกระทำและติดตามผลโดยศูนย์การตรวจวัดและเครื่องมือของจักษุแพทย์ ดังนั้นหากไม่ได้เกิดความร่วมมือกับวงการจักษุแพทย์แล้ว ก็เป็นเรื่องยากที่จะทำให้เกิดงานวิจัยได้

แต่แม้เวลาจะผ่านไป 4 ปี เศษแล้วก็ยังไม่ปรากฏว่าจะเกิดงานวิจัยเพื่อหาข้อเท็จจริงนี้ได้แต่ประการใด

ผ่านไป 4 ปีเศษ ในที่สุดวารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปีที่ 16 ฉบับที่ 1 มกราคม - เมษายน 2541 ก็ได้ตัดสินใจให้มีการตีพิมพ์เผยแพร่รายงานผู้ป่วย 3 ราย ที่ตาบอดแล้วกลับมามองเห็นอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเขียนการรายงานโดย นายแพทย์สมเกียรติ อธิคมกุลชัย โดยเป็นลักษณะเป็นรายงานกรณีศึกษา (Case Report) ของผลการรักษาของผู้ป่วยที่ถึงขั้นตาบอดแล้วกลับมามองเห็นได้ 3 ราย สรุปโดยย่อ (รายละเอียดการตรวจทาการแพทย์อ่านได้ที่เอกสารต้นฉบับ) ดังนี้

รายที่ 1 ผู้ป่วยชายไทยอายุ 82 ปี ภูมิลำเนา อยู่ที่ กิ่งอำเภอเขาคิชกูฏ จังหวัดจันทบุรี มีประวัติรักษาต้อหินเรื้อรังตาขวามากว่า 5 ปี ตาซ้ายสูญเสียจากอุบัติเหตุตั้งแต่หนุ่ม รับการรักษาโรงพยาบาลใกล้บ้านด้วยยาหยอดยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งติดตามผลและควบคุมความดันตาได้ดีมาตลอด

3 วันก่อนมาโรงพยาบาลตาขวาค่อยๆมืดลงจนดับสนิท จักษุแพทย์ในพื้นที่แจ้งว่า เกิดจากประสาทตาขาดเลือด จากการตรวจในครั้งแรกในหลายมิติได้รับการวินิจฉัยว่าตาบอด “Blindness from advanced POAG” เมื่อได้รับการร้องจากผู้ป่วยและญาติ นายแพทย์สมเกียรติจึงใช้วิธีเปลี่ยนยาหยอดและใช้ยารับประทานยาแล้วสอนใช้วิธีกดดนวดตาดังกล่าวปรากฏว่า ด้วยระบวนการรักษาดังกล่าวประมาณเดือนเศษ ผลการตรวจวัดพบว่าผู้ป่วยสามารถกลับมามองเห็นได้จนใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม

รายที่ 2 ป่วยหญิงไทย อายุ 60 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีประวัติ 4 วันก่อนมาโรงพยาบาล มีอาการตามัวลง เห็นไฟสลัวลง มองหน้าคนดำไปหมด ไม่เห็นรายละเอียดของใบหน้า ไปตรวจรักษาโรงพยาบาล 2-3 แห่ง พบว่าเป็นต้อหิน ความดันลูกตาสูง ทั้งๆที่ใช้ยาลดความดันลูกตาอยู่แล้ว

ผลปรากฏว่าผลการใช้การกดนวดตาผสมผสานกับการรักษา ก็พบจากผลตรวจต่อเนื่องตลอดระยะกว่าปีครึ่ง พบว่าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นเป็นลำดับ และลดทั้งยาหยอดและลดยารับประทานด้วย

รายที่ 3 ผู้ป่วยหญิงไทย อายุ 59 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่ เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร มีประวัติพบต้อหินทั้ง 2 ตา มาเป็นเวลา 1 ปี รับการรักษาด้วยาหยอดตามาอย่างต่อเนื่อง ประมาณ 3 เดือนก่อนมาโรงพยาบาล ตาทั้ง 2 ข้างค่อยๆบอด แม้จะใช้ยาหยอดตา 2 ชนิด และได้รับการวินิจฉัยว่าตาบอดเป็น Blindness from advanced POAG

หลังการเปลี่ยนยาควบคู่ไปกับการนวดตาพบว่าผู้ป่วยความดันตาดีขึ้น ตั้งแต่เดือนแรก จนเวลาผ่านไปการมองเห็นดีขึ้นจนทำให้ผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิตเป็นปกติได้

จากกรณีดังกล่าวนายแพทย์สมเกียรติ อธิคมกุลชัย จึงได้สรุปว่า ผู้ป่วยทั้ง 3 ราย ที่การมองเห็นดีขึ้น จากการรักษาโดยใช้มุมมองและแก้ปัญหาตามทฤษฎีระบบไหลเวียนเลือด ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องใหม่ในวงการจักษุวิทยา โดยเฉพาะประเทศไทย หากได้มีการศึกษาร่วมมือกัน ระดมสมอง มาพัฒนาในแนวทางนี้ อาจนำไปสู่การค้นพบวิธีต่อสู้กับโรคตาบอดได้ดีขึ้นในอนาคต

จากการยอมรับและให้ตีพิมพ์โดยวารสารของกระทรวงสาธาณสุขครั้งนี้ ถึงเวลาหรือยังที่ประเทศไทยจะต้องละอคติ ละผลประโยชน์ แล้วช่วยกันแสวงหาข้อเท็จจริง โดยวิจัยเรื่อง การกดนวดตาเพื่อรักษาโรคต้อหินเรื้อรังและจอประสาทตาเสื่อมอย่างจริงจังเสียที
ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต


กำลังโหลดความคิดเห็น