xs
xsm
sm
md
lg

“คิดนอกกรอบ” ตัวช่วยให้มีทางออก / ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากคอลัมน์ Inspiration
โดย ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล (suwatmgr@gmail.com)
เซกชั่น Good Health & Well Being
นิตยสารผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 มิ.ย. - 1 ก.ค.2561

ทุกวันนี้ เราล้วนถูกผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ขณะที่สิ่งแวดล้อมก็อยู่ในระดับวิกฤตทางธรรมชาติที่ทั่วโลกก็รับรู้ผลกระทบทั้งกรณีดิน น้ำและอากาศ

การปรับตัวเพื่อเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ของโลกที่ไม่เหมือนเดิม เพื่อจะให้มีชีวิตและการงานที่จะพัฒนาอย่างยั่งยืนได้จึงเป็นเรื่องสำคัญ

ทางการศึกษาของไทยยุคนี้ มีการพูดถึงการสร้างนักเรียน นักศึกษาให้รู้จักคิด ไม่ใช่เอาแต่ท่องจำ หรือให้คิดเป็น-ทำเป็น

ในการวิเคราะห์และวางแผน ก็มักมีการเสนอให้คำนึงถึง “ความคิดนอกกรอบ” และพิจารณาให้รอบด้าน เพื่อให้เกิดมุมมองใหม่ ก็จะดูดีถ้าหากมีการทำได้จริง

ผมจึงขอเชิญชวนท่านผู้อ่านมาเรียนรู้แนวคิดของ เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน (Edward De Bono) ปรมาจารย์ด้านความคิดสร้างสรรค์และแนวความคิดใหม่ที่ทั่วโลกยอมรับ ซึ่งมีผลงานเป็นหนังสือหลายเล่ม และมีการแปลเป็นภาษาต่างๆ 34 ภาษา

จะว่าไปแล้วมีคำศัพท์ที่มีความหมายใกล้เคียงและเกี่ยวเนื่องกันอยู่หลายคำ ที่ล้วนมีความหมายต่อการพัฒนาสังคม

ความคิดนอกกรอบ (Lateral Thinking) เป็นการสร้างวิธีการคิดที่กระตุ้นสมองให้สร้างสรรค์ความคิดใหม่ๆ ที่ง่ายๆ และเป็นธรรมชาติ

ความคิดแนวตั้งหรือแบบตรรกวิทยา (Vertical Thinking) ซึ่งเป็นหลักคิดที่สั่งสอนกันมานาน คือ คิดแบบมีปัจจัยเหตุและนำไปสู่ผล (คิดแบบตรงๆ ตามที่มีแนวความคิดกันไว้แล้ว)

เดอ โบโน ชี้ให้เห็นว่า แนวความคิดนอกกรอบที่มุมมองที่แปลกออกไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะถูกขวางกั้นด้วยความคิดแนวตั้งแบบตรรกวิทยาจนดูขัดแย้งหรือ เป็นความคิดที่อยู่ตรงข้ามกัน

ดังเช่นกรณีในประวัติศาสตร์ที่กาลิเลโอ เสนอความคิดว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ (ขัดกับความเชื่อของศาสนจักรที่สอนกันมาว่าโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล) กาลิเลโอจึงโดนเล่นงาน ถูกดำเนินคดีเป็นผู้ต้องหา

เมื่อโลกดำเนินมาถึงยุคปัจจุบัน มีการส่งเสริมให้มีความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) เป็นแขนงหนึ่งของ “ความคิดนอกรอบ” และเป็นการพัฒนากระบวนคิดของสมอง ให้คิดได้หลากหลายและแปลกใหม่หรือมีคุณภาพ ประสิทธิภาพดีกว่าเดิม ซึ่งนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม (Innovation) ที่อาจเป็นผลิตภัณฑ์และกระบวนการจัดการ เป็นต้น

บทบาทของการคิดนอกกรอบ จึงอยู่ที่วิธีการที่ไม่มองตรงๆ ตามแบบฉบับที่เคยเป็นมา แต่อาจมองมุมข้าง มองมุมเฉียง หรือมองด้วยมุมตรงข้าม ก็อาจจะเห็นผลลัพธ์หรือทางออกที่แตกต่าง เพราะมองมุมใหม่

“โดยธรรมชาติของคนเรา ก็มักจะคิดตามแนวที่มีอยู่หรือตามหลักการที่คนทั่วๆ ไปคิดกัน เพราะมันง่ายกว่าการไปคิดแบบนอกกรอบ ซึ่งต้องใช้ความพยายามหนักขึ้น”

เดอ โบโนบอกเหตุผลเช่นนั้นและยืนยันว่า “ความคิดนอกกรอบ” จึงเป็นวิธีการที่จะฝึกให้สมองใช้แนวทางที่ต่างออกไป เพื่อสร้างระบบการคิดในสมอง ให้ได้คิดและรู้มากขึ้น

ตัวอย่างเรื่องหนึ่งของการรู้จัก “คิดอีกแบบ มองอีกมุม” ก็คือ มีพ่อค้าเป็นหนี้ก้อนใหญ่ เศรษฐีเงินกู้ทวงหนี้จนเบื่อ เลยเสนอให้พ่อค้ายกลูกสาวให้เป็นการปลดหนี้

เศรษฐีเฒ่าจึงเรียกลูกหนี้และลูกสาวไปพบที่บ้าน แล้วเสนอให้ตัดสินใจง่ายเข้าโดยจะเสี่ยงโชค ให้ลูกสาวล้วงหยิบก้อนกรวดที่มี 2 ลูกในถุงผ้า ถ้าหยิบได้สีดำ ลูกสาวพ่อค้าต้องมาเป็นภรรยาเศรษฐี แต่ถ้าหยิบได้สีขาว ถือว่าโชคดี เธอยังอยู่กับพ่อและยกหนี้ให้

เผอิญช่วงที่เศรษฐีเจ้าเล่ห์ก้มหยิบก้อนลูกกรวดสีดำทั้ง 2 ลูกใส่ถุงผ้า ลูกสาวพ่อค้าตาไว ก็มองเห็นเธอจะทำอย่างไร

ถ้าคิดแบบตรรกวิทยาที่คิดจากความจริงตรงๆ ลูกสาวพ่อค้ามี 3 ทางออก

1.ปฏิเสธที่จะล้วงก้อนกรวดเพื่อเสี่ยงทาย (เพราะรู้อยู่ว่าหยิบอย่างไรก็เจอสีดำ)

2.โวยว่าเศรษฐีเฒ่าขี้โกงเพราะในถุงมีแต่กรวดสีดำ 2 ลูก

3.ยอมล้วงถุงผ้าหยิบก้อนกรวดก็จะได้สีดำแน่ แล้วเธอก็ต้องเป็นเมียเศรษฐี เพื่อแลกกับการช่วยพ่อไม่ต้องติดคุก

ถ้าคิดแบบตรรกวิทยา แม้เลือกข้อไหนก็ไม่เป็นประโยชน์ต่อเด็กสาว แต่เมื่อคิดแบบนอกกรอบ (ไม่เอาทั้ง 3 ข้อ) เธอตรงเข้าไปหาเศรษฐีล้วงมือเข้าไปในถุงผ้าแล้วดึงก้อนกรวดลูกหนึ่งออกมาอย่างรวดเร็ว (เธอแกล้งทำ) ก้อนกรวดลูกหนึ่งหล่นจากมือไปปนกับก้อนกรวดอื่นๆ บนพื้น ซึ่งมีทั้งสีขาวและสีดำ

แล้วเธอก็ร้องบอกว่า “ตายแล้ว หนูซุ่มซ่ามจริงๆ เลย ไม่รู้ว่าหยิบก้อนกรวดสีอะไร แต่ไม่เป็นไร คุณพี่ช่วยกรุณาดูอีกก้อนในถุงว่าเป็นสีอะไร ก็จะรู้ว่าหนูหยิบได้สีขาวหรือสีดำ”

เศรษฐีเฒ่าย่อมรู้แก่ใจว่า ลูกกรวดในถุงเป็นสีดำอยู่แล้ว ก็แสดงว่าเด็กสาวหยิบได้ก้อนสีขาว...แฮปปี้เอนดิ้งครับ

จะเห็นได้ว่า “ความคิดนอกกรอบ” ไม่ใช่การ “มโน” หรือเพ้อฝัน เพราะยังต้องอิงหลักความจริง

เมื่อเปรียบเทียบกับความคิดแนวตั้ง หรือคิดตามแบบแผน ใช้หลักความจริง เป็นเหมือน กฎเกณฑ์

ขณะที่การคิดนอกกรอบใช้หลักความจริง เป็นเหมือนสมมติฐาน ใช้พลังของ “พรสวรรค์” (หากใครที่มี) ส่วนคนที่ไม่มีพรสวรรค์ก็ต้องหา “พรแสวง” ด้วยความตั้งใจเรียนรู้แนวทางในการคิด และฝึกฝนความคิดนอกกรอบ

แม้ส่วนใหญ่คนจะใช้การคิดแบบตรรกะ ซึ่งเห็นผลลัพธ์และกติกา แต่การคิดนอกกรอบจะเป็นตัวเสริมและเป็นทางเลือก เมื่อการคิดแบบปกติไม่ได้ผลหรือไม่มีทางออก

............
ข้อคิด

ในสังคมโลกยุคดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ ที่เรียกว่าปกติใหม่ (New Normal) ทั้งด้านการผลิต การค้าและบริการ โดยเฉพาะพฤติกรรมการบริโภคยุคโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลสูงขึ้นทุกวัน

ไม่ว่าคนวัยเด็กหรือวัยผู้ใหญ่สูงอายุก็ล้วนมีการสร้างมุมมองด้วยการคิดนอกกรอบ เพื่อการรับรู้และเรียนรู้กันได้

ขณะที่โลกยุคนี้มีการแข่งขันกันทั้งด้านผู้ขายและผู้ซื้อ ก็ต้องหาวิธีการใหม่ๆ หาเทคนิคและช่องทางลัด (อย่าให้ผิดกฎหมาย) เพื่อหาคำตอบใหม่ๆ ไปใช้ในการดำเนินกลยุทธ์ที่มีประสิทธิผล

การเพิ่มความสามารถในการคิดด้วย “การคิดนอกกรอบ” เพื่อให้ได้กลยุทธ์การปรับตัวที่เหมาะกับสถานการณ์จึงจำเป็นมากสำหรับคนที่ต้องการความสำเร็จ
ข้อมูลจากหนังสือ : มองนอกกรอบ (Lateral Thinking)
ผู้เขียน : เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน
ผู้แปล : สมชาย พิทยาอุดมฤกษ์
สำนักพิมพ์ : ซีเอ็ดยูเคชั่น


แนะนำหนังสือ



พ่อรวยสอนลูก เงินของฉันหายไปไหน
ผู้เขียน : โรเบิร์ต ที. คิโยซากิ
ผู้แปล : นพพล วราไพบูลย์
สำนักพิมพ์ ซีเอ็ดยูเคชั่น
ราคา 220 บาท
เรียนรู้วิธีทำให้เงินของคุณหมุนเร็วขึ้น โดยไม่ปล่อยให้เงินของคุณนอนนิ่งๆ อยู่ในอุ้งมือของคนอื่น



ความสำเร็จไม่ได้เสร็จในวันเดียว
ผู้เขียน : โซทาโร่ คุชิ
ผู้แปล : ณิชยา รักเกียรติงาม
สำนักพิมพ์ Shortcut
ราคา 195 บาท
31 ข้อคิดที่จะช่วยให้คุณพิชิตความร้อนรน ช่วยไขข้อสงสัย สลัดความร้อนรน แล้วจงคว้าอิสระในตัวคุณมาให้ได้



อ่านก่อนแก่ ดูแลก่อนป่วย
ผู้เขียน : นสพ.ดร.มงคล แก้วสุทัศน์
สำนักพิมพ์ ศูนย์หนังสือจุฬา
ราคา 200 บาท
วิถีทางห่างไกลโรคด้วยศาสตร์ชะลอวัย เรียนรู้ดูแลสุขภาพของเราเพื่อป้องกันการเสื่อมของเซลล์และลดความเสี่ยงของการเกิดโรคด้วยตัวเราเอง



แจ๊ค หม่า ร้องเท้ากังฟู
กับหลักคิดในการทำธุรกิจ
ผู้เขียน : หวังลี่เฟิน, หลี่เสียง
ผู้แปล : ดร.ภูวกร ฉัตรบำรุงสุข
สำนักพิมพ์วีเลิร์น
ราคา 270 บาท
ความลับ จุดพลิกผัน และบททดสอบสำคัญ ที่หล่อหลอมตัวตนและวิธีคิดของนักธุรกิจอันดับหนึ่งของเอเชีย



คู่มือปลูกเลี้ยงแคคตัสและไม้อวบน้ำ
ผู้เขียน : ภวพล ศุภนันทนานนท์
สำนักพิมพ์บ้านและสวน
ราคา 269 บาท
เรียนรู้วิธีปลูกเลี้ยงแคคตัสและไม้อวบน้ำให้สำเร็จ ตอบทุกข้อข้องใจ ไขทุกปัญหา พร้อมสอนวิธีปลูกง่ายๆ แต่ใช้ได้จริง




กำลังโหลดความคิดเห็น