xs
xsm
sm
md
lg

แวกซ์ในบะหมี่ ส่งผลเสียต่อร่างกายจริงหรือ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อพูดถึง “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ที่ถูกบรรจุภัณฑ์มาในถ้วยลักษณะต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีการลงแวกซ์หรือขี้ผึ้งเอาไว้กันรั่วซึม บางท่านอาจจะมีความสงสัยว่า ถ้าเรารับประทานสิ่งนี้เข้าไปในร่างกายจะไปทำลายสุขภาพของเราหรือไม่ ฉะนั้น เรามาดูคำตอบของข้อสงสัยนี้ไปพร้อมกัน

บะหมี่ชนิดถ้วย มีขี้ผึ้งเคลือบอยู่จริงหรือ

ถ้าถามว่า ขี้ผึ้งที่เคลือบอยู่ด้านในบรรจุภัณฑ์นั้นจริงหรือไม่ คำตอบที่ได้ คือ ไม่จริง เพราะถ้วยของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นถ้วยกระดาษลามิเนตพลาสติก ชนิด PE Food Grade หรือ Polyethylene ซึ่งไม่มีการเคลือบแวกซ์หรือผลิตภัณฑ์แต่อย่างใด ส่วนที่มีการลื่นๆ ด้านในถ้วยนั้นจะเป็นพลาสติกชนิดทนร้อนที่ใส่ไว้ด้านในของถ้วยเพื่อทำให้ถ้วยคงรูป และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองว่าสามารถใช้กับอาหารได้อย่างปลอดภัย และยังนำเข้าไมโครเวฟได้ด้วย

ชนิดของภาชนะสำหรับบรรจุภัณฑ์

1.ถ้วยกระดาษลามิเนตพลาสติกชนิด Polyethylene

ถ้วยชนิดนี้ เป็นฟิล์มเคลือบบนผิวกระดาษด้านในของถ้วย ซึ่งเมื่อเติมน้ำร้อนก็ยังสามารถถือถ้วยได้โดยที่ไม่ร้อนมือ เนื่องจากถ้วยมีการออกแบบให้ปลอกกระดาษชั้นนอกที่พิมพ์ฉลากสวมทับไว้ ทำให้เป็นฉนวนอากาศป้องกันไม่ให้ความร้อนในถ้วยออกไปสู่ภายนอก สามารถนำเข้าไมโครเวฟ และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะใช้เวลาย่อยสลายน้อยกว่าถ้วยชนิดอื่น แต่ก็มีข้อด้อยตรงที่ถ้วยอาจจะมีการอ่อนตัวลงบ้างอันเนื่องมาจากไอน้ำ ฉะนั้นจึงควรถืออย่างระมัดระวัง

2.ถ้วยพลาสติก (Polypropylene)

ถ้วยพลาสติกจะเป็นการขึ้นรูปโดยการหลอมเม็ดพลาสติก PP Food Grade แล้วยิงขึ้นรูปถ้วย ซึ่งพลาสติกประเภทนี้สามารถใช้กับผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโดยการเติมน้ำร้อนหรือน้ำธรรมดาและเข้าไมโครเวฟก็ได้ แถมมีความแข็งแรงและป้องกันความชื้นกับกลิ่นได้ดี

3.ถ้วยโฟม (Polystyrene)

ถ้วยโฟมเกิดจากการขึ้นรูปโดยการหลอมพลาสติก PS แล้วขึ้นรูปถ้วย ซึ่งจะมีลักษณะเป็นเม็ดโฟมเล็กๆ เกาะกันแน่น โดยมีข้อดีคือ เป็นฉนวนความร้อน เมื่อมีการชงน้ำร้อนในบะหมี่แล้ว บะหมี่จะมีความร้อนที่นาน แล้วการถือถ้วยจะไม่มีความรู้สึกร้อน แต่ถ้วยลักษณะนี้จะไม่สามารถทนความร้อนระดับ 100 องศาเซลเซียส จึงไม่สามารถที่จะนำเข้าไมโครเวฟได้ แถมยังไม่สามารถย่อยสลายได้ด้วยวิธีทางชีวภาพโดยจุลินทรีย์ และถ้วยโฟมมีการพิมพ์สีภายนอกที่ไม่สวยงาม จึงต้องมีการอาศัยหุ้มพลาสติกอีกชั้นหนึ่งเพื่อเป็นพื้นที่ฉลากอาหาร

“ขี้ผึ้ง” มีผลเสียต่อกระเพาะอาหารหรือไม่

ถ้าหากมีการรับประทานอื่นๆ ที่มีบรรจุภัณฑ์มีการเคลือบขี้ผึ้งอยู่จริงๆ ก็มีขี้ผึ้งที่สามารถรับประทานได้อยู่เช่นกัน เช่น ขี้ผึ้งที่ใช้ในการเคลือบผักและผลไม้ เพื่อยืดระยะเวลาการเก็บรักษาให้ยาวนาน ป้องกันโรคราและแมลง รักษาน้ำหนัก รสชาติ และการสูญเสียวิตามิน ดังนั้นควรจะเลิกรับประทานจากผู้ผลิตที่น่าเชื่อถือ และได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตอย่างถูกต้องจึงจะปลอดภัยต่อผู้รับประทานเองได้ในที่สุด



กำลังโหลดความคิดเห็น