xs
xsm
sm
md
lg

“ดื่มชาร้อนจัด” : เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งหลอดอาหาร!? / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ : ธรรมชาติบำบัด
ผู้เขียน : ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต
นิตยสารฟรีก็อบปี้ Good Health & Well-Being ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 - 18 ก.พ./ถุๅ

เครื่องดื่มชานั้นเป็นที่นิยมในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะชาวเอเชีย ในอดีตที่ผ่านมานั้นนิยมการดื่มชามากกว่าการดื่มกาแฟ และด้วยกลุ่มสารประกอบโพลีฟีนอลซึ่งมีอยู่ในชา เช่น แคเทชิน (catechins) และ ธีอะฟลาวินส์ (Theaflavins) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระนั้น มีส่วนในการช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งหลายชนิด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยเราที่มีการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับสูงเป็นอันดับหนึ่งมากกว่าโรคมะเร็งชนิดอื่น การดื่มชาก็อาจจะมีส่วนช่วยในการลดความเสี่ยงโรคมะเร็งตับได้ด้วย

ตัวอย่างปรากฏในวารสารด้านโภชนาการและมะเร็งอย่าง Nutrition and Cancer เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2560 ได้เผยแพร่ผลการศึกษาการวิเคราะห์อภิมานเกี่ยวข้องกับการดื่มชาเขียว พบว่า กลุ่มผู้ที่ดื่มชาเขียวสูงที่สุด คือมากกว่าวันละ 5 ถ้วย จะลดความเสี่ยงการเป็นโรคมะเร็งตับได้ 38% เมื่อเทียบกับกลุ่มประชากรที่ไม่ได้ดื่มเลย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มผู้ที่ดื่มเกิน 20 ปีขึ้นไป รวมถึงการดื่มชาเขียวได้ 4 ถ้วยต่อวัน ก็จะช่วยลดการเป็นโรคมะเร็งตับได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น [1] ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวก็มีความสอดคล้องกับรายงานผลการศึกษาก่อนหน้านี้ในวารสารทางการแพทย์ European Journal of Cancer Prevention เมื่อปี พ.ศ.2554 ซึ่งได้ระบุในผลการวิเคราะห์อภิมานว่าการ “ดื่มชา”ช่วยลดความเสี่ยงการเป็นโรคมะเร็งตับได้ [2]

การดื่มชาเขียวตามงานวิจัยข้างต้นคือการดื่มชาเขียวในปริมาณเข้มข้น ไม่ใช่การดื่มชาเขียวบรรจุขวดอย่างที่นิยมดื่มในปัจจุบันซึ่งมีปริมาณชาเขียวที่เจือจางจนเหลือน้อยมากๆ อีกทั้งยังใส่น้ำตาลจำนวนมาก โดยปริมาณน้ำตาลที่ใส่ในชาเขียวบรรจุขวดส่วนใหญ่มีมากกว่าน้ำอัดลม และสูงกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดเอาไว้ด้วย ซึ่งก่อให้เกิดโรคภัยหลายชนิด ได้แก่ โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไขมันแทรกตับ โรคมะเร็ง ฯลฯ

สำหรับการดื่มชาเพื่อป้องกันมะเร็งนั้นยังได้ปรากฏเป็นรายงานผลการศึกษาจำนวนมากกว่า 4,000 ชิ้น ในสารบบของวารสารทางการแพทย์ PubMed ถึงสรรพคุณของชาในการป้องกันหรือลดความเสี่ยงหรือช่วยบรรเทาโรคมะเร็งในมนุษย์ได้หลายชนิด ซึ่งรวมถึงโรคมะเร็งผิวหนัง [3] - [5], โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก [6] - [12], โรคมะเร็งปอด [13]-[18], โรคมะเร็งเต้านม [19] -[24], และโรคมะเร็งลำไส้ [25], [26]

ตัวอย่างข้างต้นทำให้หลายคนคิดว่าเราควรจะดื่มชาเป็นประจำทุกวัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว แต่ประเด็นที่จะต้องมีความตระหนักอยู่ในขณะนี้ก็คือ “โรคมะเร็งหลอดอาหาร”

ความจริงแล้วมีงานวิจัยระบุเอาไว้ในวารสารของสถาบันมะเร็งแห่งชาติสหรัฐอเมริกาได้รายงานผลการศึกษาในประเทศจีนพบว่า “ชาเขียว”ช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งหลอดอาหารได้ [27]

แต่ในอีกด้านหนึ่งที่จะต้องระมัดระวังด้วย นั่นก็คือ “อุณหภูมิ” การดื่มชา เพราะหากดื่มร้อนเกินพอดีก็จะเสี่ยงกับโรคมะเร็งหลอดอาหารได้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ไม่ใช่เฉพาะชาร้อนมากเท่านั้นแต่ยังรวมถึงเครื่องดื่มร้อนทุกชนิดที่ร้อนเกินพอดีด้วย

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2559 สำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศที่เรียกว่า International Agency for Research on Cancer (IARC) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งขององค์การอนามัยโลกได้จัดประชุมนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญจำนวน 23 คน เมื่อศึกษาผลการวิจัยแล้ว จึงประกาศให้เครื่องดื่มร้อนมาก คือมากกว่า 65 องศาเซลเซียส “มีความเป็นไปได้”ที่จะเป็นสารก่อมะเร็ง (กลุ่ม 2 A) ทำให้เป็นโรคมะเร็งหลอดอาหาร

การที่ประกาศผลการประชุมดังกล่าวนั้น ก็เพราะมีเหตุว่าพบความสัมพันธ์ระหว่างโรคมะเร็งทางเดินอาหารกับการดื่มเครื่องดื่มที่ร้อนมาก อันได้มาจากผลการศึกษาในประเทศจีน อิหร่าน ตุรกี และอเมริกาใต้ ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีประเพณีการดื่มเครื่องดื่มร้อนมากประมาณ 70 องศาเซลเซียส

แม้ว่าบุหรี่เป็นสาเหตุหลักทำให้เป็นโรคมะเร็งหลอดอาหาร แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่าประเทศที่เป็นมะเร็งหลอดอาหารนั้น ส่วนใหญ่จะพบได้ในหลายประเทศในเอเชีย อเมริกาใต้ และแอฟริกาตะวันออก ซึ่งมีพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มอุณหภูมิร้อนมากเป็นปกติด้วย [28] ซึ่งในเวลานั้นนักวิจัยเองก็ยังไม่เข้าใจดีพอถึงเงื่อนไขในปรากฏการณ์ดังกล่าว

แต่ความชัดเจนมีเพิ่มมากขึ้นไปอีกระดับหนึ่งเมื่อวารสารทางการแพทย์ที่มีชื่อว่า Annals of Internal Medicine ได้เผยแพร่ผลการศึกษา ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา จากคณะวิจัยซึ่งศึกษาประชากรในประเทศจีนจำนวน 456,155 คน อายุระหว่าง 30-79 ปี จากการติดตามผลเป็นเวลา 9.2 ปี ปรากฏรายงานบันทึกเป็นหลักฐานว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งหลอดอาหารจำนวน 1,731 คน และพบความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และดื่มชาร้อนได้อย่างน่าสนใจดังนี้

1. ประชากรผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่แล้วดื่มน้ำชาร้อนมาก (มากกว่า 65 องศาเซลเซียส) จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งหลอดอาหารมากกว่ากลุ่มประชากรที่ดื่มน้ำชาร้อนแต่เพียงอย่างเดียว

2. ประชากรผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์วันละ 15 กรัมขึ้นไป เมื่อดื่มน้ำชาร้อนด้วยจะเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งหลอดอาหารมากขึ้นเป็น 5 เท่าตัว เมื่อเทียบกับกลุ่มประชากรที่ดื่มแอลกอฮอล์น้อยกว่าวันละ 15 กรัม

3. ประชากรที่สูบบุหรี่หากดื่มน้ำชาร้อนด้วยจะเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งหลอดอาหารมากขึ้นประมาณกว่า 2 เท่าตัว

งานวิจัยดังกล่าวนี้ได้สรุปเอาไว้ว่าการดื่มชาที่มีอุณหภูมิร้อนมากสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งหลอดอาหารเมื่อรวมกับการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินหรือสูบบุหรี่

จากบทเรียนข้างต้นผู้บริโภคนิยมการดื่มชาเพื่อสุขภาพจึงควรวัดอุณหภูมิไม่ให้ชานั้นร้อนเกิน 65 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะคนที่ดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ด้วยแล้วหากดื่มน้ำชาร้อนจัดเป็นประจำด้วยก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งหลอดอาหารมากขึ้นไปอีก

เลิกแอลกอฮอล์ เลิกบุหรี่ หากจะดื่มชา กาแฟและเครื่องดื่มอื่นๆ อย่าให้ร้อนจัดก็จะช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งหลอดอาหารได้

อ้างอิง
[1] Chen-Xu Ni, et al. Green Tea Consumption and the Risk of Liver Cancer: A Meta-Analysis. Nutrition and Cance. Volume 69, 2017 - Issue 2. Pages 211-220 Published online: 17 Jan 2017.

[2] Mélanie Fon Sing, et al.Epidemiological studies of the association between tea drinking and primary liver cancer: a meta-analysis. European Journal of Cancer Prevention. 20(3):157–165, MAY 2011

[3] Hakim IA, Harris RB. Joint effects of citrus peel use and black tea intake on the risk of squamous cell carcinoma of the skin. BMC Dermatol. 2001;1:3. [PMC free article][PubMed]

[4] Naldi L, et al. Risk of melanoma and vitamin A, coffee and alcohol: a case-control study from Italy. Eur J Cancer Prev. 2004;13:503–8. [PubMed]

[5] Stockfleth E, Beti H, Orasan R, et al. Topical Polyphenon E in the treatment of external genital and perianal warts: a randomized controlled trial. Br J Dermatol. 2008;158:1329–38. [PubMed]

[6] Jatoi A, Ellison N, Burch PA, et al. A phase II trial of green tea in the treatment of patients with androgen independent metastatic prostate carcinoma. Cancer. 2003;97:1442–6. [PubMed]

[7] Jian L, et al. Protective effect of green tea against prostate cancer: a case-control study in southeast China. Int J Cancer. 2004;108:130–5. [PubMed]
[8] Choan E, Segal R, Jonker D, et al. A prospective clinical trial of green tea for hormone refractory prostate cancer: an evaluation of the complementary/alternative therapy approach. Urol Oncol. 2005;23:108–13. [PubMed]
[9] Bettuzzi S, et al.Chemoprevention of human prostate cancer by oral administration of green tea catechins in volunteers with high-grade prostate intraepithelial neoplasia: a preliminary report from a one-year proof-of-principle study. Cancer Res. 2006;66:1234–40. [PubMed]
[10]Kurahashi N, et al.Green tea consumption and prostate cancer risk in Japanese men: a prospective study. Am J Epidemiol. 2008;167:71–7. [PubMed]
[11]. McLarty J, et al.Tea polyphenols decrease serum levels of prostate-specific antigen, hepatocyte growth factor, and vascular endothelial growth factor in prostate cancer patients and inhibit production of hepatocyte growth factor and vascular endothelial growth factor in vitro. Cancer Prev Res (Phila Pa) 2009;2:673–82. [PubMed]
[12]. Nguyen MM, Ahmann FR, Nagle RB, et al. Randomized, double-blind, placebo-controlled trial of polyphenon E in prostate cancer patients before prostatectomy: evaluation of potential chemopreventive activities. Cancer Prev Res (Phila) 2012;5:290–8.[PMC free article] [PubMed]
[13] Mendilaharsu M, et al.Consumption of tea and coffee and the risk of lung cancer in cigarette-smoking men: a case-control study in Uruguay. Lung Cancer. 1998;19:101–7.[PubMed]
[14] Zhong L, et al.Chemoprevention of human prostate cancer by oral administration of green tea catechins in volunteers with high-grade prostate intraepithelial neoplasia: a preliminary report from a one-year proof-of-principle study. Cancer Res. 2006;66:1234–40. [PubMed]
[15] Hakim IA, Harris RB, Brown S, et al. Effect of increased tea consumption on oxidative DNA damage among smokers: a randomized controlled study. J Nutr. 2003;133:3303S–3309S. [PubMed]
[16] Kubik AK, Zatloukal P, Tomasek L, et al. Dietary habits and lung cancer risk among non-smoking women. Eur J Cancer Prev. 2004;13:471–80. [PubMed]
[17] Laurie SA, et al. Phase I study of green tea extract in patients with advanced lung cancer. Cancer Chemother Pharmacol. 2005;55:33–8.[PubMed]
[18] Lin IH, Ho ML, Chen HY, et al. Smoking, green tea consumption, genetic polymorphisms in the insulin-like growth factors and lung cancer risk. PLoS One. 2012;7:e30951. [PMC free article] [PubMed]
[19] Nakachi K, et al. Influence of drinking green tea on breast cancer malignancy among Japanese patients. Jpn J Cancer Res. 1998;89:254–61. [PubMed]
[20] Sun CL, et al.Green tea, black tea and breast cancer risk: a meta-analysis of epidemiological studies. Carcinogenesis. 2006;27:1310–5.[PubMed]
[21] Zhang M, et al. Green tea and the prevention of breast cancer: a case-control study in Southeast China. Carcinogenesis. 2007;28:1074–8.[PubMed]
[22] Ogunleye AA, et al.Green tea consumption and breast cancer risk or recurrence: a meta-analysis. Breast Cancer Res Treat. 2010;119:477–84.[PubMed]
[23] Iwasaki M, Inoue M, Sasazuki S, et al. Green tea drinking and subsequent risk of breast cancer in a population-based cohort of Japanese women. Breast Cancer Res. 2010;12:R88. [PMC free article] [PubMed]
[24] Crew KD, Brown P, Greenlee H, et al. Phase IB randomized, double-blinded, placebo-controlled, dose escalation study of polyphenon E in women with hormone receptor-negative breast cancer. Cancer Prev Res (Phila) 2012;5:1144–54. [PMC free article] [PubMed]
[25] Su LJ, Arab L. Tea consumption and the reduced risk of colon cancer -- results from a national prospective cohort study. Public Health Nutr. 2002;5:419–25. [PubMed]
[26] Yang G, Zheng W, Xiang YB, et al. Green tea consumption and colorectal cancer risk: a report from the Shanghai Men’s Health Study. Carcinogenesis. 2011;32:1684–8. [PMC free article] [PubMed]
[27] Gao YT, et al. Reduced risk of esophageal cancer associated with green tea consumption.Journal of the National Cancer Institute National Cancer Institute (US); National Institutes of Health (US)1994 Jun 1;86(11):855-8.
[28] the International Agency for Research on Cancer Monograph Working Group. Carcinogenicity of drinking coffee, mate, and very hot beverages. The Lancet Oncology. Volume 17, No. 7, p877-878, July 2016.
[29] Canqing Yu,et al. Effect of Hot Tea Consumption and Its Interactions With Alcohol and Tobacco Use on the Risk for Esophageal Cancer: A Population-Based Cohort Study. Annals of Internal Medicine, 6 February 2018.



กำลังโหลดความคิดเห็น