xs
xsm
sm
md
lg

วัณโรคดื้อยา...อย่าวางใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

By: Pharmchompoo
วัณโรคยังเป็นปัญหาที่สำคัญของโลก โดยที่มีตัวเลขว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 10.4 ล้านคนต่อปี และมีผู้เสียชีวิตจากวัณโรค 1.8 ล้านคนต่อปี สาเหตุที่วัณโรคยังมีปัญหาอยู่คือปัญหาการดื้อยาและการกลับมาระบาดซ้ำ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง

การดื้อยารักษาวัณโรคนับเป็นปัญหาอย่างมาก เพราะการดื้อยาจะทำให้อัตราการหายขาดลดลง และกระทบต่อค่าใช้จ่ายในรักษา เมื่อดูตัวเลขในผู้ที่ไม่มีปัญหาการดื้อยา อัตราการหายขาดคือ 98-100% และมีค่าใช้จ่ายในการรักษาต่อรายประมาณ 2,000 - 4,000 บาท

แต่หากเป็นกลุ่มที่ดื้อยาแบบ MDR (multi-drug resistant TB) อัตราการหายขาดจะลงมาเหลือ 60-80% และค่าใช้จ่ายในการรักษาต่อรายจะอยู่ที่ประมาณ 200,000 บาท

ในกรณีที่รุนแรงที่สุดคือกลุ่มที่ดื้อยาแบบ XDR (extensive drug resistant TB) อัตราการหายขาดจะเหลือเพียง 44-50% และค่าใช้จ่ายในการรักษาอยู่ที่ประมาณ 1 ล้าน 5 แสนบาท

สาเหตุของการดื้อยารักษาวัณโรคนั้นมีจากหลายสาเหตุ เช่น มีการติดเชื้อมาจากแหล่งที่มีความชุกของเชื้อวัณโรคดื้อยาสูงอยู่เดิม (เช่น เรือนจำ ค่ายอพยพ จากสถานประกอบการที่มีแรงงานอพยพทำงานอย่างแออัด) ความสามารถใช้ยาตามสั่งได้ของผู้ป่วย เนื่องจากการรักษาวัณโรคนั้นต้องใช้ระยะเวลานาน (อย่างน้อย 6 เดือน) กินยาหลายชนิดในช่วงเวลาหนึ่ง (ในช่วงแรกของการรักษาจะใช้ยาตามสูตรมาตรฐาน 4 ชนิด และกินยาหลายเม็ดต่อวัน) ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเบื่อหน่ายต่อการรักษา รักษาไม่ต่อเนื่อง จนพัฒนาจากกลุ่มที่รักษาง่ายจนกลายเป็นรักษาได้ยาก

สาเหตุอีกประการที่ทำให้ผู้ป่วยไม่ติดตามการรักษา หรือไม่ใช้ยาต่อเนื่องคือ อาการข้างเคียงจากยา ซึ่งต้องยอมรับว่า ยารักษาวัณโรคทำให้เกิดอาการข้างเคียงสูง จนผู้ป่วยหลายคนทนไม่ได้ เช่น isoniazid (INH) ทำให้ชาตามร่างกาย มีเรื่องตับอักเสบ rifampicin ทำให้ปัสสาวะเปลี่ยนสี ทำให้ตับอักเสบได้ pyrazinamide ทำให้เกิดการอ่อนเพลีย มีอาการปวดข้อ เกาต์กำเริบได้ เป็นต้น

แพทย์และเภสัชกรสามารถช่วยเหลือให้ผู้ป่วยมีความสามารถใช้ยาตามสั่งได้ โดยการอธิบายให้ผู้ป่วยทราบถึงขั้นตอนการรักษา ผลข้างเคียง ประโยชน์ที่จะได้จากการรักษา หรือหากลยุทธ์ในการส่งเสริมให้ผู้ป่วยสามารถใช้ยาตามสั่งได้มากขึ้น การค้นหาผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยงและนำมาเข้าสู่กระบวนการรักษา

ประเด็นหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการตรวจสุขภาพประจำปี เพราะมีข้อมูลว่าส่วนใหญ่ภายหลังการติดเชื้อวัณโรค มักไม่แสดงอาการ ส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันที่ยังเป็นปกติอยู่ เมื่อมีการติดเชื้อซ้ำๆ หรือระบบภูมิคุ้มกันลดประสิทธิภาพลงก็จะก่อให้เกิดโรคได้

ดังนั้น ในประชากรกลุ่มเสี่ยง เช่น บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องสัมผัสติดต่อกับผู้ป่วย คนในบ้านที่บุคคลในบ้านพบว่ามีการป่วยเป็นวัณโรค ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ติดเชื้อเอชไอวี เบาหวาน โรคหัวใจ โรคเลือด โรคปอด ผู้ที่ได้รับยาเคมีบำบัด ยากดภูมิคุ้มกัน (เช่น หลังการปลูกถ่ายอวัยวะ) จำเป็นที่ต้องเอกซเรย์ปอดประจำปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อดูความผิดปกติ อย่างไรก็ตาม หากมีอาการอื่นๆ เช่น ไข้ต่ำๆ ในช่วงเย็น เบื่ออาหาร เพลีย น้ำหนักตัวลดลง ควรพบแพทย์ทันที
หมายเหตุ : Pharmchompoo เป็นนามปากกาของเภสัชกรท่านหนึ่งซึ่งเรียนจบมาทางด้านเภสัชศาสตร์โดยตรง ปัจจุบันประจำอยู่ที่โรงพยาบาลชื่อดังแห่งหนึ่ง และบทความเชิงสาระความรู้เพื่อการตระหนักเกี่ยวกับการใช้ยาให้ถูกต้องเหมาะสม จะมาพบกับคุณผู้อ่านเป็นประจำอย่างน้อยสองครั้งต่อเดือน

อ้างอิง : ภฤศภัค พยุงและกำพล สุวรรณพิมลกุล. วัณโรคดื้อยาขนานเดียวหรือดื้อยามากกว่าหนึ่งขนาน. ใน: จักกพัฒน์ วนิชานันท์ และ เลลานี ไพฑูรพงษ์ (บรรณาธิการ). Combat The Resistance. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: ปริ้นท์แอนด์มอร์, 2561. น. 389-410.


กำลังโหลดความคิดเห็น