xs
xsm
sm
md
lg

กฎเหล็กต้องรู้!! การกินยาลดความดันโลหิตสูง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

By: Pharmchompoo

ผู้อ่านที่ติดตามข่าวสารด้านสุขภาพ อาจจะได้ยินว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ทาง American College of Cardiology / American Heart Association ประกาศปรับเกณฑ์ cut-off ที่จะบอกว่าเป็นความดันโลหิตสูงหรือไม่ จากเดิมคือ 140/90 ลงมาเป็น 130/80 (หน่วยคือ มม.ปรอท) ผลจากการปรับเกณฑ์ลงครั้งนี้ทำให้พลเมืองสหรัฐฯ เข้าเกณฑ์ที่จะต้องได้รับการรักษาเพิ่มขึ้นอีก 31 ล้านคน
การปรับลดเกณฑ์ครั้งนี้เชื่อว่าจะทำให้มีผู้ที่เข้าสู่กระบวนการรักษาและควบคุมความดันได้เร็วขึ้น ป้องกันอาการแทรกซ้อน (complications) ในระยะยาวได้ดีขึ้น เพราะความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญมากๆ สำหรับการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคไต ตามมา ซึ่งหากควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ดีมากขึ้นเท่าไร หรือควบคุมไม่ให้ความดันโลหิตสูงขึ้นๆ ลงๆ ก็จะลดความเสี่ยงในระยะยาวต่ออวัยวะสำคัญๆ ต่างๆ ได้มากทีเดียว

แรกเริ่มเดิมที ในการควบคุมความดันโลหิต แพทย์จะให้ปรับพฤติกรรมก่อนเรียกว่า lifestyle modification ถ้าดูจริง ๆ ก็คือวิถีการดูแลสุขภาพโดยทั่วไป เช่น ไม่ให้อ้วน (ไม่ให้ดัชนีมวลกายมากกว่า 25 กก./เมตร2) ลดเค็ม ออกกำลังกายแบบแอโรบิคอย่างสม่ำเสมอ ลดแอลกอฮอล์ (รายละเอียดสามารถดูได้จากแนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูงในเวชปฏิบัติทั่วไป (ฉบับปรับปรุง) พ.ศ. 2558)

หากปรับพฤติกรรมแล้วยังไม่สามารถลดความดันโลหิตลงสู่เป้าที่ต้องการได้ แพทย์ก็จะให้ยาเพื่อลดความดัน ซึ่งในปัจจุบันมียาหลากหลายมากมาย เช่น ยากลุ่ม beta-blockers (atenolol, bisoprolol) ยากลุ่ม angiotensin converting enzyme inhibitors (ACEIs) เช่น enalapril, ramipril ยากลุ่ม calcium antagonists เช่น nifedipine, amlodipine, manidipine ยากลุ่ม angiotensin receptor blockers (ARBs) เช่น losartan, irbesartan ซึ่งมีลักษณะ ความสามารถในการลดความดันโลหิตแตกต่างกัน มีอาการข้างเคียงที่แตกต่างกัน

ยาบางกลุ่มมีอาการข้างเคียงเด่นชัดเฉพาะตัว เช่นยากลุ่ม ACEIs ที่กินแล้วไอแห้ง ๆ ไอบ่อยโดยเฉพาะกลางคืน แบบนี้ก็ต้องแจ้งแพทย์แล้วเปลี่ยนยา หรืออย่างยากลุ่ม beta-blockers ที่บางคนกินแล้วซึมกะทือ ง่วงเหงาหาวนอน หัวไม่แล่นเหมือนสมองไม่ได้สับสวิตช์เปิดอะไรประมาณนั้น ก็ต้องแจ้งแพทย์

แต่ที่พบบ่อยยอดฮิตมากที่สุดคือยาที่ลงท้ายด้วย -dipine ทั้งหลาย ที่บางคนกินแล้วขาบวมฉึ่ง บางคนพาลเข้าใจว่าโรคไตกำเริบ หรือยาไปทำให้เป็นโรคไต แต่แท้จริงแล้ว ยาออกฤทธิ์ให้หลอดเลือดขยายตัว ความดันจึงลง เลือดที่ไปยังอวัยวะส่วนปลายไหลกลับไม่สะดวก ขาจึงบวม บางคนทุกข์ใจมากจนไม่กินยาต่อก็มี กรณีแบบนี้ก็ต้องพบแพทย์เช่นกัน

เนื่องจาก concept การรักษาความดัน ไม่เชิงว่าเป็นการ “รักษา” (treatment) แต่เป็นการ “ควบคุม” (control) มากกว่า ดังนั้น การกินยาลดความดันทั้งหลายมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมให้ความดันโลหิตในระยะยาวอยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายและลดความเสี่ยงในการเกิดอาการแทรกซ้อนในระยะยาวให้ได้มากที่สุด ยานี้จึงไม่ใช้กินเป็นครั้งคราวเพื่อให้ความดันลดแล้วก็แล้วกัน ยาลดความดันในปัจจุบันยังมีศักยภาพทำได้มากกว่าแค่ลดความดัน เช่น ชะลอไม่ให้ไตเสื่อมเร็ว หรือช่วยชะลอกล้ามเนื้อหัวใจโดยเฉพาะห้องล่างซ้ายไม่ให้โต ดังนั้น ในปัจจุบัน เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นความดันโลหิตสูง ก็ต้องกินยากันไปตลอดในชั่วระยะเวลาหนึ่งของชีวิต

สิ่งที่ควรคำนึงเมื่อต้องกินยาลดความดันโลหิต คือ

ยาพวกนี้ไม่กัดกระเพาะ คนที่ไม่กินข้าวเช้าก็กินยาได้ ขอให้กินให้ตรงเวลา เช่น ทุกเช้าเวลากี่โมง เพื่อให้ระดับยาคงที่ ผลในการลดความดันจะได้สม่ำเสมอ (เพราะมีรายงานการวิจัยชี้ชัดว่า ความดันที่ขึ้น ๆ ลง ๆ เพิ่มอัตราการตาย)

ยาที่ต้องกิน 2 เวลา ก็ควรกินให้สม่ำเสมอ ทุก 12 ชั่วโมงเลยก็ยิ่งดี เช่น 8 โมงเช้ากับ 2 ทุ่ม late ไปก็ไม่ควรจะเกิน 30 นาที หรือ 1 ชั่วโมง ด้วยเหตุผลแบบข้อที่ 1.

การกินยาแล้วมีอาการข้างเคียง (เช่น ไอแห้ง ๆ ขาบวม) ต้องปรึกษาแพทย์ โดยเฉพาะช่วงที่กินยาใหม่ๆ เพราะความดันกำลังเริ่มลง การหยุดยาเองแล้วไม่ไปพบแพทย์ เมื่อยาหมดฤทธิ์ ความดันจะกระฉูดกลับ (rebound) ในรายที่ความดันเริ่มต้นเดิมสูงอยู่ อาจเกิดหลอดเลือดในสมองแตก เป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ยาบางอย่างที่มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือด อาจจะรู้สึกวูบๆ ที่ศีรษะ มึน เวียน หรือปวดตุบๆ ที่ศีรษะ เป็นอาการข้างเคียง แต่ถ้าไม่ทุเลาทั้งๆ ที่ผ่านมาแล้วเป็นสัปดาห์ อาจปรึกษาแพทย์ได้

ในผู้ที่กินยาลดความดันหลายตัว หลังจากที่กินยาไปแล้ว 1-2 ชั่วโมงอาจจะต้องระวังอาการวูบ หน้ามืด เป็นลมได้ เวลาเปลี่ยนอิริยาบถ ลุก-นั่ง ต้องระวังเป็นพิเศษ

ยาลดความดันบางชนิด เป็นยาใหม่ที่อาจจะหายากในต่างจังหวัด ผู้สูงอายุที่ยังชอบท่องเที่ยวเดินทาง ควรติดยาเผื่อไปด้วยเสมอ การกินยาชนิดอื่นๆ ที่แพทย์ไม่ได้สั่ง ไม่สามารถทดแทนได้

ห้ามปรับขนาดยาเอง ถ้าแพทย์ไม่ได้บอกล่วงหน้า คนไข้หลายคนเอาสะดวกเข้าว่า หารู้ไม่ว่าการกินยาไม่ถึงเป้าหมายการออกฤทธิ์ก็ไม่ช่วยในการควบคุมอาการให้ดีขึ้น

หากลืมกินยามื้อเช้า และเป็นยาที่กินวันละครั้ง ให้กินทันทีที่นึกได้ แต่ถ้านึกได้เมื่อเลยเวลาเที่ยงวันไปแล้วก็ให้ข้ามมื้อนั้นไปเลย ไม่ควรกินแบบ double

หากสงสัยว่ากินยาไปแล้วหรือยัง (พบบ่อยในผู้สูงอายุที่จัดยากินเองและกินยาหลายอย่าง) ไม่ต้องกินยาที่สงสัยนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการได้ยาแบบ double dose หากลืมบ่อยๆ อาจจะต้องหาอุปกรณ์ช่วยเตือนความจำ

หากปฏิบัติได้ตามนี้ ก็จะสามารถอยู่กับโรคความดันโลหิตสูงได้อย่างสบายใจ
หมายเหตุ : Pharmchompoo เป็นนามปากกาของเภสัชกรท่านหนึ่งซึ่งเรียนจบมาทางด้านเภสัชศาสตร์โดยตรง ปัจจุบันประจำอยู่ที่โรงพยาบาลชื่อดังแห่งหนึ่ง และบทความเชิงสาระความรู้เพื่อการตระหนักเกี่ยวกับการใช้ยาให้ถูกต้องเหมาะสม จะมาพบกับคุณผู้อ่านเป็นประจำอย่างน้อยสองครั้งต่อเดือน

เอกสารอ้างอิง
Hfocus. สหรัฐฯ ปรับลดระดับความดันโลหิตสูง กับสถานการณ์ในโลกแห่งความเป็นจริง (https://www.hfocus.org/content/2017/12/15103 Accessed on Jan 18, 2018.)
สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย. แนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูงในเวชปฏิบัติทั่วไป (ฉบับปรับปรุง) พ.ศ. 2558 ( http://www.thaihypertension.org/files/GL%20HT%202015.pdf Accessed on Jan 18, 2018.)


กำลังโหลดความคิดเห็น