xs
xsm
sm
md
lg

“อายุร่างกาย” กับ “อายุจริง” สิ่งที่ทำให้เราดู “แก่ไม่เท่ากัน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันบางคนจึงมีหน้าตาและผิวพรรณที่ดูอ่อนกว่าอายุจริง หรือทำไมบางคนโดนทักว่าแก่กว่าอายุจริง

นั่นก็เพราะว่า ความจริงแล้ว คนเรามี 2 อายุ คือ “อายุตามปฏิทิน” (Calendar Age) หรืออายุตามวัน เดือน ปีเกิด ที่เพิ่มขึ้นทุกปี และ “อายุร่างกาย” (Body Age) เป็นอายุสุขภาพที่บอกได้ถึงความแก่และความเสื่อมสภาพของระบบการทำงานในร่างกาย ซึ่งสามารถตรวจวัดได้ด้วยเครื่องมือแพทย์

โดยคนที่มีสุขภาพดี จะมีอายุร่างกายน้อยกว่า หรือเท่าอายุปฏิทิน แต่ถ้าหากอายุร่างกายมากกว่าอายุตามปฏิทิน แสดงว่าร่างกายเกิดความเสื่อมสภาพก่อนวัยจริง อาจเป็นผลมาจากองค์ประกอบของร่างกาย และพฤติกรรมด้านสุขภาพที่ไม่เหมาะสม จนนำไปสู่ความชรากว่าอายุจริง รวมทั้งเป็นโรคต่างๆ

ปัจจุบันมีวิธีการวัด 2 วิธี

วิธีแรกเป็นการประเมินอายุร่างกาย โดยใช้แบบสอบถาม เพื่อรวบรวมข้อมูล เช่น ภาวะสุขภาพ พฤติกรรมการกินและการออกกำลังกาย การดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ การนอนหลับพักผ่อน ภาวะ อารมณ์ความเครียด แล้วนำข้อมูลเหล่านี้มาประเมิน เป็นอายุร่างกาย

คนที่สุขภาพดีมากจะมีอายุร่างกายน้อยกว่าอายุปฏิทินหรืออายุจริง แต่หากอายุร่างกายของคุณมากกว่าอายุจริง แสดงว่าระบบเผาผลาญของร่างกายคุณเสื่อมสภาพและเซลล์ต่างๆ แก่เกินวัย อันเป็นผลมาจากองค์ประกอบร่างกายและพฤติกรรมการอยู่การกินที่ไม่เหมาะสม ซึ่งจะนำไปสู่ความเสี่ยงในการเกิดโรคชราต่างๆ ได้

อีกวิธีหนึ่งในการวัดอายุร่างกายที่แม่นยำมากขึ้นคือ ใช้เครื่องมือช่วยในการประเมินสมรรถภาพของร่างกาย ได้แก่

1. วัดอัตราการเผาผลาญพลังงานขณะอยู่นิ่งๆ โดยใช้เครื่องวัดองค์ประกอบร่างกาย (Body Composition Analyzer) ซึ่งอัตราการเผาผลาญพลังงานขณะอยู่นิ่งๆ จะคำนวณจากน้ำหนักเปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกาย และเปอร์เซ็นต์กล้ามเนื้อโครงร่าง เพื่อใช้ในการพิจารณาว่าอายุร่างกายมาก หรือน้อยกว่าอายุโดยเฉลี่ยที่แท้จริง

2. วัดความยืดหยุ่นของผิวหนัง (CutoAge) ด้วยเครื่องคิวโตมิเตอร์ (Cutometer) โดยใช้งาน ร่วมกับหัววัดประเภทต่างๆ เช่น คอร์นิโอมิเตอร์ (Corneometer) ใช้วัดความชุ่มชื้น เมซามิเตอร์ (Mexameter) วัดปริมาณเม็ดสี ซีบูมิเตอร์ (Sebumeter) วัดปริมาณความมัน วัดความแข็งของหลอดเลือดแดง (Arterial stiffness Test) ซึ่งเป็นที่นิยมวัดในปัจจุบันทั้งในแง่ของการวิจัย และการนำไปใช้ในการตรวจวินิจฉัยทางคลินิกนั้น จะเน้นวิธีที่ไม่รุนแรง และไม่เจ็บปวด โดยการวิเคราะห์คลื่นความดันเลือด (Pulse Wave Analysis)

3. วัดความยาวเทโลเมียร์ (Telomere Length) หรือส่วนที่อยู่บริเวณปลายสุดของโครโมโซม ทำหน้าที่เสมือนส่วนหุ้มโครโมโซม คล้ายกับปลอกพลาสติกที่หุ้มปลายเชือกรองเท้า เพื่อป้องกันไม่ให้เชือกรองเท้าลุ่ยนั่นเอง โครโมโซม (Chromosome) เปรียบเสมือนที่เก็บหน่วยพันธุกรรม ในการแบ่งเซลล์แต่ละครั้ง ร่างกายจะมีการจำลองโครโมโซมขึ้น ซึ่งจะทำให้เทโลเมียร์หดสั้นลง ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงสามารถวิเคราะห์การเสื่อมของเซลล์ หรืออายุขัยได้จากขนาดของเทโลเมียร์ที่หดสั้นลง เปรียบเสมือนเป็นดัชนีชี้วัดความแก่ของเซลล์

สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้อายุร่างกาย มากกว่าอายุตามปฏิทิน 

1. การอักเสบเรื้อรัง ฆาตกรเงียบ เป็น Hot Topic ในวงการแพทย์ ถูกขนานนามว่า “The Silent Killer” หรือ ฆาตกรเงียบ เชือดนิ่มๆ เพราะแอบแทงข้างหลังเราแบบไม่รู้ตัว การอักเสบเรื้อรังเป็นการอักเสบเล็กๆ น้อยๆ (Subtle) เหมือนไฟที่ลุก และคอยเผาเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกายตลอดเวลา เป็นสาเหตุของโรค ตั้งแต่โรคหัวใจ และหลอดเลือด โรคอัลไซเมอร์ โรคมะเร็ง สิว ผื่น ผิวหนังอักเสบ โรคสะเก็ดเงิน ซึ่งสาเหตุของการอักเสบเรื้อรังคือ ไม่ออกกำลังกายแล้วอ้วนมีไขมันสะสม ความเครียด กินน้ำตาล กินไขมัน แปลงรูปหรือไขมันทรานส์เป็นประจำ อนุมูลอิสระ แต่ยังโชคดีที่เรามีวิธีดับไฟแห่งการอักเสบเรื้อรังได้ เพียงแค่เปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิต

2. น้ำตาลกระตุ้นสารเร่งแก่ (Sugar The Devil & AGE) น้ำตาลกลูโคสที่ลอยไปมาในกระแสเลือด สามารถไปจับกับโปรตีนต่างๆ ในร่างกาย ทำให้โปรตีนเสื่อมสภาพ ทำงานต่อไม่ได้ เช่น ถ้าน้ำตาลไปจับกับคอลลาเจนที่ผิว ทำให้คอลลาเจนแข็งตัว ไม่ยืดหยุ่น เสื่อมสภาพ ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า “ไกลเคชั่น(Glycation) หรือ ไกลโคซิเลชั่น (Glycosylation)” และโมเลกุลที่เกิดจากการจับตัวกันของน้ำตาลกลูโคส และโปรตีนเรียกว่า “Advanced Glycation End Products” นักวิทยาศาสตร์ให้ชื่อเล่นว่า "AGE" หรือ "สารเร่งแก่" เป็นคำย่อที่เหมาะเจาะ เพราะยิ่งมี AGE มาก ก็ทำให้เรายิ่งแก่มาก

3. อนุมูลอิสระ ก่อเกิดสนิมแก่ “อนุมูลอิสระ” เป็นผลพลอยได้จากกระบวนเมทาบอลิซึ่มในร่างกาย คือ อาหารที่รับประทานเข้าไปถูกเผาผลาญ โดยอาศัยออกซิเจนที่เราหายใจเข้าไปเป็นตัวช่วยได้เป็นพลังงานออกมา แต่ในขณะเดียวกัน จะได้อนุมูลอิสระออกมาด้วย อนุมูลอิสระเป็นโมเลกุลที่มีอิเล็กตรอนไม่ครบคู่ จึงต้องออกไปแย่งอิเล็กตรอนจากโมเลกุลอื่นๆ เช่น จากเยื่อหุ้มเซลล์ และสารพันธุกรรมของเซลล์หรือ "ดีเอ็นเอ (DNA)" ทำให้เซลล์เกิดความเสียหาย

ปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระคือ การรับประทานอาหารแคลอรี่สูง ปรุงอาหารที่ใช้ความร้อนสูง จำพวกปิ้งทอดย่าง สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ทานอาหารที่ปนเปื้อนสารเคมี เครียด ไม่ออกกำลังกาย อนุมูลอิสระถือได้ว่าเป็นต้นตอของปัญหาที่เลวร้ายมาก เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ และหลอดเลือด เบาหวาน ความดันโลหิตสูง อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน และต้อกระจก เป็นต้น

วิธีที่ทำให้อายุร่างกายเหมาะสมกับอายุจริง หรือมีอายุร่างกายน้อยกว่าอายุจริง 

หากคุณอยากให้ร่างกาย และผิวพรรณอยู่เคียงคู่กัน หรือกลับมามีอายุร่างกาย น้อยกว่าอายุจริง ก็สามารถทำได้ด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ รักษาอารมณ์ให้สดใส ไม่เครียด และเลือกกินอาหารที่ดีมีประโยชน์ สุดท้ายคือ การดูแลผิวหน้าด้วยผลิตภัณฑ์บำรุงผิวในกลุ่ม Anti Aging ก็สามารถช่วยได้ เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องยาก และไม่ใช่ว่าทุกคนไม่รู้ แต่เป็นเพราะเรามองข้ามประโยชน์ของมันไปต่างหาก

อายุเป็นเพียงตัวเลข ซึ่งมันจะเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่ผิวพรรณ และหน้าตาที่ดูอ่อนกว่าวัยนั้น เป็นไปตามการดูแลรักษา และความเอาใจใส่ของเรา



กำลังโหลดความคิดเห็น