xs
xsm
sm
md
lg

“ดื่มกาแฟ” อย่างไร ลดความเสี่ยงโรคเบาหวานได้!? / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ : ธรรมชาติบำบัด
ผู้เขียน : ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต
นิตยสารฟรีก็อบปี้ Good Health & Well-Being ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 17 ธันวาคม 2560

กาแฟได้กลายเป็นเครื่องดื่มที่มาแรงอย่างมากในช่วง 20 ปีมานี้ และเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนรุ่นปัจจุบันและในอนาคต สังเกตได้จากความสำเร็จของร้านขายกาแฟที่เจริญเติบโตขยายตัวอย่างรวดเร็วทั่วโลก แม้แต่ประเทศจีนและญี่ปุ่นซึ่งเคยมีชาเป็นเครื่องดื่มประจำวัฒนธรรมของประเทศ แต่ร้านขายกาแฟกลับเจริญเติบโตขยายกิจการมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในปี 2559 - 2560 ประมาณการว่า ทั่วโลกบริโภคกาแฟขนาดกระสอบละ 60 กิโลกรัม ประมาณ 154 ล้านกระสอบ [1] แม้ว่าประเทศที่ดื่มกาแฟต่อหัวประชากรมากที่สุดในโลกส่วนใหญ่จะอยู่ในยุโรป แต่กลับปรากฏว่าประเทศในแถบเอเชียมีอัตราการดื่มกาแฟเพิ่มมากขึ้นกว่าโซนอื่นของโลก

โดยในปี 2556 มีการสำรวจพบว่า ประเทศที่ดื่มกาแฟมากที่สุดในโลกคือประเทศฟินแลนด์ ซึ่งดื่มกาแฟต่อปีประมาณ 9.6 กิโลกรัมต่อหัวประชากร ในขณะที่คนไทยดื่มกาแฟประมาณอันดับ 41 ของโลก ดื่มกาแฟต่อปีประมาณ 1.6 กิโลกรัมต่อหัวประชากร [2]

คำถามที่หลายคนสงสัยว่า การดื่มกาแฟที่เพิ่มมากขึ้นนั้นจะเป็นผลดีหรือผลเสียต่อสุขภาพกันแน่?

คำถามนี้มีความน่าสนใจต่อทั้งนักวิจัยและผู้อ่านทั่วโลก สังเกตได้จากการกล่าวถึงเรื่อง “Coffee” (กาแฟ) ที่เกี่ยวกับทางการแพทย์ทั่วโลกปรากฏในสารบบของ Pubmed ในต้นเดือนธันวาคม 2560 พบว่ามีจำนวนมากถึง 13,084 รายงาน ซึ่งรวมถึงงานวิจัยทางคลินิกถึง 691 รายการ และเป็นบททบทวนหรือวิจารณ์อีก 1,043 รายการ [3]

โดยตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา มีการโต้แย้งกันทางการแพทย์มาโดยตลอดในเรื่องผลกระทบต่อโรคเรื้อรังหลายชนิด และนับวันก็เริ่มมีความชัดเจนจากองค์ความรู้ในทางเภสัชศาสตร์ที่มีมากขึ้น ซึ่งส่งผลทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นว่ากาแฟกลายเป็นเครื่องดื่มที่ไม่ได้มีผลร้ายต่อสุขภาพอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจแต่เดิม (ถ้าดื่มอย่างถูกวิธี)

องค์ความรู้ทางเภสัชศาสตร์นี้เองทำให้การศึกษาจำนวนมากให้ความสนใจในองค์ประกอบของกาแฟหลายชนิด เช่น คาเฟอีน สารโพลีฟีนอล ฟีโนลิก กรดคลอโรเจนิก วิตามินบี 3 องค์ประกอบของน้ำมันในกาแฟ ฯลฯ ความสนใจส่วนใหญ่ให้ความสำคัญในฤทธิ์ที่ต้านอนุมูลอิสระ และยังกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ในการต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย [4] [5]

แต่ในอีกด้านหนึ่งที่อาจทำให้เกิดความวิตกกังวลก็คือสารประกอบไฮโดรคาร์บอนในกาแฟ ที่เรียกว่า ไดเทอร์พีน (Diterpene) ซึ่งมีงานวิจัยพบว่าสามารถทำให้คอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และแอลดีแอลเลือดสูงเพิ่มขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นกาแฟที่ผ่านกระดาษกรองแล้วก็จะลดปัญหาดังกล่าวได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับชนิดของกาแฟที่ไม่มีการกรองเลย [6]

ในการวิจัยในมนุษย์เกี่ยวกับการดื่มกาแฟกับความเสี่ยงในการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจนั้น งานวิจัยหลายชิ้นมีความขัดแย้งและสร้างความสับสนมาโดยตลอด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะรายละเอียดของกาแฟไม่เหมือนกัน เช่น การใช้กระดาษกรอง การใส่น้ำตาล การใส่ครีมเทียม ฯลฯ

แต่อย่างน้อยที่สุด โรคเบาหวานที่เป็นสาเหตุหนึ่งจากหลายสาเหตุที่สามารถนำไปสู่การเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจนั้น ค่อนข้างชัดเจนว่า “กาแฟดำ” ที่ไม่ใส่น้ำตาลและครีมเทียม อาจช่วยลดความเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ !!!

งานวิจัยที่ปรากฏในวารสารทางการแพทย์เกี่ยวกับการดูแลโรคเบาหวานที่ชื่อว่า Diabetes Care เมื่อปี พ.ศ.2557 ได้ทำการวิเคราะห์อภิมานและทบทวนอย่างเป็นระบบครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างที่ทำการ 1,109,272 คน ซึ่งมีผู้เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 45,335 คน พบว่า :

“คนที่ดื่มกาแฟ 6 ถ้วยต่อวัน มีความเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ลดลงไป 33% เมื่อเทียบกับกลุ่มคนที่ไม่ดื่มเลย และกาแฟทั้งมีคาเฟอีนและไม่มีคาเฟอีนก็ให้ผลช่วยลดความเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในระดับใกล้เคียงกัน” [7]

งานวิจัยที่ปรากฏในวารสารโภชนาการคลีนิกของอเมริกัน The American Journal of Clinic Nutrition ฉบับเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2555 ได้ออกรายงานการสำรวจความสัมพันธ์ของการดื่มกาแฟกับโรคเรื้อรังหลายชนิด โดยการศึกษาประชากร 42,659 คน ด้วยการตอบแบบสอบถาม และติดตามผลระยะเวลา 8.9 ปี พบว่า

“การดื่มกาแฟไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดโรคเรื้อรัง แต่อาจจะช่วยลดความเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ โดยคนที่ดื่มกาแฟแบบ “มีคาเฟอีน” 4 ถ้วยต่อวัน ลดความเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ลงไป 23% เทียบกับคนที่ดื่มกาแฟน้อยกว่า 1 ถ้วยต่อวัน ในขณะที่คนที่ดื่มกาแฟแบบ “ไม่มีคาเฟอีน” 4 ถ้วยต่อวัน ลดความเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ลงไป 30% เทียบกับคนที่ดื่มกาแฟน้อยกว่า 1 ถ้วยต่อวัน” [8]

วารสารเวชศาสตร์ครอบครัวของเกาหลี Korean Journal of Family Medicine ได้เผยแพร่รายงานเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2559 ซึ่งทำการคัดกรองกลุ่มคนที่มีระดับน้ำตาลสูงมีความเสี่ยงจะเป็นโรคเบาหวานจำนวน 3,497 คน เพื่อมาดูความสัมพันธ์กับการดื่มกาแฟกับความเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 แล้วพบว่า

“การดื่มกาแฟดำแบบไม่ใส่น้ำตาลและครีมเทียม 3 ถ้วยต่อวัน จะช่วยลดความเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ และให้ผลดีกว่าการดื่มกาแฟแบบใส่น้ำตาลและใส่ครีมเทียม แม้ว่าจะแตกต่างกันไม่มากก็ตาม” [9]

แต่ถึงแม้ว่ากาแฟดำ 2-4 ถ้วย และต้องผ่านกระดาษกรองจะเป็นประโยชน์ต่อการลดความเสี่ยงโรคเบาหวาน แต่ก็มิได้หมายความว่าใครจะดื่มเท่าไหร่ก็ได้ เพราะความจริง การดื่มกาแฟก็มีความเสี่ยงและผลข้างเคียงที่ต้องระวังด้วย เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นเร็ว นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย วิตกกังวล ปวดศีรษะ ติดกาแฟ เป็นต้น

โดยเฉพาะคนที่ดื่มเป็นครั้งคราว อาจต้องระวัง เพราะร่างกายปรับตัวไม่ทัน จึงอาจเกิดปัญหาความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น, และในบางกรณีสามารถเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันได้ แต่ความเสี่ยงดังกล่าวนี้มักจะไม่เกิดขึ้นกับคนที่ดื่มกาแฟประจำอยู่แล้ว

ส่วนคนที่ไม่ควรดื่มได้แก่ คนที่เป็นต้อหิน เพราะกาแฟอาจทำให้ความดันตาเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงสตรีตั้งครรภ์ และเด็ก เพราะอาจทำให้น้ำหนักตัวน้อยลง และผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุนก็ไม่ควรดื่ม เพราะกาแฟจะขับแคลเซียมออกมาทางปัสสาวะมากขึ้น

และกรณีการดื่มที่มีคาเฟอีนจะขับแคลเซียมออกจากร่างกายนั้น ยิ่งแสดงให้เห็นว่าคนดื่มกาแฟมากจะต้องตระหนักการบริโภคอาหารที่ช่วยเสริมสร้างแคลเซียมอย่างเพียงพอและสมดุลด้วย เพื่อลดความเสี่ยงในเรื่องมวลกระดูกที่จะลดลงด้วย หรือไม่เช่นนั้นก็หันมาดื่มกาแฟที่มีคาเฟอีนต่ำ หรือปราศจากคาเฟอีนแทน

แต่เรื่องที่น่าจับตานั้นก็คือการมองในมิติกาแฟเป็น “สมุนไพร” ที่มี “รสขม” ซึ่งตรงกับการวิเคราะห์การใช้สมุนไพรหรืออาหาร “รสขม” เป็นส่วนหนึ่งที่ใช้บำบัดโรคเบาหวานในมุมมองผู้เชี่ยวชาญการแพทย์แผนไทยด้วย ซึ่งหมายความว่าไม่ได้มีแต่กาแฟที่จะช่วยลดความเสี่ยงโรคเบาหวานเท่านั้น !!!

มธุเมโห (เบาหวาน) เป็นอาการที่มีสมุฏฐานมาจากเสมหะกําเริบพิการไป เป็นเหตุให้ปิตตะหย่อน หรือเกิดจากสมุฏฐานปิตตะหย่อน-พิการ เป็นเหตุให้เสมหะกําเริบ...

ใช้อาหารรสขม จืด เผ็ด หอม, ใช้ยารสขม เมา เผ็ด-ร้อน การนวด อบ ประคบ ตํารับยา รสประธาน (คุณสมบัติสุขุม) พิกัดสมุฏฐานเสมหะกําเริบ พิกัดสมุฏฐานพัทธะปิตตะหย่อน-พิการ เครื่องยารสขม เมา ฝาด หลักการตั้งตํารับเบาหวาน แก้ในกอง สมุฏฐานเสมหะกําเริบ และกองโรคเป็นหลักไปพร้อมกัน สรรพคุณของยา ถ่ายน้ําเหลืองเสีย เสริมปิตตะ (เพื่อกระจายเลือดลม) บํารุงเลือด” [10]

อย่างไรก็ตาม อย่าคิดว่าดื่มกาแฟหรือมีสมุนไพรดีเพียงอย่างเดียวแล้วจะรักษาโรคเบาหวานได้ ขอย้ำว่างานวิจัยที่กล่าวมาข้างต้นเป็นการสำรวจเพียงแค่ว่าการดื่มกาแฟ “ช่วยลดความเสี่ยง” โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เท่านั้น

แต่ต้นเหตุของการบริโภคเกินทั้งหลาย เช่น กินน้ำตาลมาก ดื่มหวานมาก กินแป้งขัดขาวมาก กินไขมันทรานส์และครีมเทียมมาก กินของผัดทอดด้วยไขมันไม่อิ่มตัวประจำ (น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันรำข้าว ฯลฯ) รวมถึงพฤติกรรมความเครียด พักผ่อนน้อย อ้วนเกิน ขาดการออกกำลังกาย คือต้นเหตุของความเสี่ยงของโรคเบาหวานในยุคปัจจุบันทั้งสิ้น ซึ่งโรคที่เกิดจากการกินและพฤติกรรมนั้นต้องแก้ไขที่การบริโภคและพฤติกรรมอันเป็นสาเหตุที่แท้จริงด้วย


อ้างอิง
[1] International Coffee Organization, World Coffee Consumption in thousand 60 kg bags, Data as at July 2017 - next update January 2018

[2] Euromornitor International (www.euromornitor.com) 2013 data revealed about the amount of coffee consumed by country per capita (per person on average).

[3] Pubmed Website, US National Library Medicine, US National Istitutes of Health https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed

[4] Liang N, Kitts DD. Antioxidant property of coffee components: assessment of methods that define mechanisms of action. Molecules 2014; 19: 19180-19208

[5] Gomez-Ruiz JA, Leake DS, Ames JM. In vitro antioxidant activity of coffee compounds and their metabolits. J Agr Food Chem 2007; 55: 6962-6969

[6] Naidoo N, Chen C, Rebello SA, Speer K, Shyong Tai E, Lee J, Buchmann S, Koelling-Speer I, van Dam RM.
Cholesterol-raising diterpenes in types of coffee commonly consumed in Singapore, Indonesia and India and associations with blood lipids: a survey and cross section study. Nut J 2011; 10: 48-58

[7] Ding M, Bhupathiraju SN, Chen M, van Dam RM, Hu FB. Caffeinated and decaffeinated coffee consumption and risk of type 2 diabetes: a systematic review and a dose-response meta-analysis. Diabetes Care 2014; 37: 569-586

[8] Floegel A, Pischon T, Bergmann MM, Teucher B, Kaaks R, Boeing H. Coffee consumption and risk of chronic disease in the European Prospective Investigation into Cancer and Nutrition (EPIC)-Germany study. Am J Clin Nutr 2012; 95: 901-908

[9] Ji-Ho Lee, Mi-Kyeong Oh, Jun-Tae Lim, Haa-Gyoung Kim, and Won-Joon Lee. Effect of Coffee Consumption on the Progression of Type 2 Diabetes Mellitus among Prediabetic Individuals. Korean Journal of Family Medicine. 2016;37(1):7-13. doi:10.4082/kjfm.2016.37.1.7.

[10] แสงสิทธิ์ กฤษฎี, “เบาหวาน (มธุเมโห) ตามหลักการแพทย์แผนไทย” การประชุมวิชาการและนําเสนอผลงานวิจัย ระดับชาติและนานาชาติ ครั้งที่ 6 กลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา 28-29 เมษายน 2558


กำลังโหลดความคิดเห็น