ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้โรคไตเป็นอีกโรคหนึ่งที่คุกคามคนไทยและเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน ผู้ป่วยจะต้องเสียทั้งสุขภาพ และเงินทอง เพื่อดูแลรักษาตนเอง หากแต่ที่ผ่านมาคนไข้ต้องเข้าคิวรอรับการรักษาในโรงพยาบาลต่าง ๆ เป็นเวลานาน หรือแม้แต่ในคลินิกที่เปิดขึ้นบางแห่งก็อาจจะไม่สามารถดูแลคนไข้ได้อย่างทั่วถึง
จุดนี้เองจึงทำให้ ‘โรงพยาบาล สถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์’ถือกำเนิดขึ้น โดยความตั้งใจของ ‘คุณเจริญ - คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี และครอบครัวสิริวัฒนภักดี’ เพื่อถวายแด่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ในโอกาสครองราชย์ครบ 60 ปี
จุดเริ่มต้น การก่อตั้ง รพ.โรคไต
‘ศ.เกียรติคุณ นพ.ธีรชัย ฉันทโรจน์ศิริ’ ในฐานะผู้อำนวยการ โรงพยาบาล สถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการก่อตั้งโรงพยาบาลคือคุณเจริญ - คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี และครอบครัวสิริวัฒนภักดี ต้องการสร้างขึ้นเพื่อถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในโอกาสพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เดือนมิถุนายน 2549 เนื่องจากเห็นว่าโรคไตเป็นปัญหาเรื้อรังทำให้ประชาชนที่ป่วยด้วยโรคนี้จะต้องมาทำการรักษาที่โรงพยาบาลจำนวนมาก ขณะที่การรักษาพยาบาลก็ไม่เพียงพอ โรงพยาบาลของรัฐก็เต็มหมด ส่วนของเอกชนก็ราคาแพง จึงต้องไปฟอกเลือดตามคลินิก ห้องแถว ซึ่งบางแห่งก็ดูแลไม่ทั่วถึง นอกจากนี้สถาบันฯ ยังมีความมุ่งมั่นในการลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องฟอกเลือดด้วยไตเทียมลง โดยทำการศึกษาในเรื่องของการป้องกันโรคไตเรื้อรัง
หลังจากที่ได้ข้อสรุปเรื่องของโรงพยาบาลเฉพาะทางโรคไตแล้ว ก็ได้เริ่มวางแผนดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลขึ้นในปี 2553 เสร็จเมื่อต้นปี 2555 ตั้งอยู่บนหัวมุมถนนพญาไท ติดกับสำนักงานเขตราชเทวี บนเนื้อที่ 12 ไร่ 3 งาน 45.27 ตารางวา โดยกองทัพบกได้ยินดีมอบสิทธิ์การใช้ที่ดินราชพัสดุกรมธนารักษ์ ของกรมแพทย์ทหารบก บริเวณโรงเรียนเสนารักษ์ ถนนพญาไท เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติในครั้งนี้ อยู่ใกล้เคียงกับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ถึง 9 แห่ง อันจะเป็นผลดีแก่การประสานงานระหว่างกัน เนื่องจากผู้ป่วยไตวายมักจะเป็นจากโรคแทรกซ้อนหลายโรค อาทิ โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ลักษณะอาคารเป็นอาคารสูง 9 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 24,800 ตารางเมตร มีหอผู้พักป่วยขนาด 128 เตียง เริ่มต้นมีเตียงสำหรับฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม 50 ชุด ห้องตรวจผู้ป่วยนอก 20 ห้อง ห้องผ่าตัด 6 ห้อง ห้องไอซียู 12 ห้อง นอกจากนี้ยังมีห้องประชุมสำหรับ 250 คน 1ห้อง ห้อง 50 คน 1 ห้อง และ ห้อง 30 คน 1 ห้อง ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้จะมีการเพิ่มเตียงและเครื่องฟอกไตอีก 18 เตียง และมีการเปิดชั้น 7 เพื่อให้บริการฟอกเลือดกลางคืนโดยเฉพาะจากเดิมที่ใช้ฟอกเลือดช่วงกลางคืนในห้องไอซียู
รพ.สถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ มีลักษณะเป็นมูลนิธิไม่แสวงหาผลกำไร โดยมีสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานมูลนิธิฯ และได้ทรงพระราชทานนามของมูลนิธิฯ โดยใช้พระนามของในหลวงรัชกาลที่ 9 สมาสกับพระนามของสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทำให้กรมบัญชีกลาง ได้อนุมัติให้ข้าราชการที่มาใช้บริการ โรงพยาบาลนี้สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้เสมือนหนึ่งเป็นโรงพยาบาลของรัฐ ขณะที่คนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นข้าราชการก็สามารถมารักษาได้ด้วยราคาค่าบริการที่ต่ำกว่าเอกชนถึง 30% - 50 %
‘วิสัยทัศน์ของเราคือต้องการเป็นสถาบันชั้นนำของเอเชียในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคไตอย่างครบวงจร ตลอดจนมีการวิจัยและพัฒนาการป้องกันการเกิดโรคไตเรื้อรังของคนไทยอย่างมีประสิทธิภาพ’
ภายใต้พันธกิจที่สำคัญคือ การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไตในทุกช่วงอายุอย่างเป็นองค์รวมและมีประสิทธิภาพ ที่ไม่ได้มุ่งเป็นรักษาเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการศึกษาหาแนวทางป้องกัน และชะลอการเกิดโรคไตเรื้อรัง ตลอดจนสนับสนุนงานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคไตทั้งในด้านการป้องกันและการดูแลรักษา รวมไปถึงการฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ทุกระดับเพื่อเพิ่มศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคไต
อุปกรณ์ครบวงจร ทันสมัย
สำหรับการจัดการรักษาผู้ป่วยนั้น โรงพยาบาลมีบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะทางเช่น อายุรแพทย์โรคไต โรคหัวใจ โรคต่อมไร้ท่อ ศัลยแพทย์ทั่วไป ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการผ่าตัดไต และทางเดินปัสสาวะ ศัลยแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้วยการผ่าตัดเส้นเลือด นอกจากนี้มีเครื่องและอุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัย เช่น Ultrasound , CT scan , MRI ห้องผ่าตัดและเจ้าหน้าที่พยาบาล ที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีสำหรับดูแลผู้ป่วยที่ห้องฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม นอกจากนี้มีเครื่องไตเทียมที่ทันสมัยสามารถเชื่อมต่อกับระบบคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในการเก็บข้อมูลผู้ป่วยและสั่งการรักษา สามารถให้การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมทั้งแบบปกติและแบบ online HDF
วิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ต่อยอดการรักษา
เนื่องจากปัญหาทางเทคนิคในเรื่ององค์ความรู้ด้านโรคไตในประเทศไทยยังมีอีกมาก ที่ต้องค้นคว้าวิจัย เพื่อให้ได้คำตอบที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือ โรงพยาบาลจึงมีความมุ่งมั่นในการหาองค์ความรู้ดังกล่าวผ่านฝ่ายวิจัยเพื่อนำความรู้มาประยุกต์ใช้ทำให้เกิดการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ในการช่วยประเทศได้
โรงพยาบาลจึงได้จัดสรรพื้นที่ของอาคารจำนวนหนึ่งเพื่อใช้ในการปฎิบัติงานด้านการวิจัย การวิเคราะห์สารตัวอย่างเลือด ปัสสวะ การจัดระบบฐานข้อมูลการติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ในงานสารสนเทศ รายการเครื่องมือที่จัดซื้อมาแล้ว เช่น ตู้แช่เยือกแข็ง (-80 C) สำหรับเก็บสารตัวอย่าง เครื่องตรวจ ELISA ตู้อบฆ่าเชื้อ ตาชั่งอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปั่นเหวี่ยงความเร็วสูง กล้องจุลทรรศน์ เครื่องตรวจสมดุล กรด ด่าง (pH meter) เครื่องดูดสารละลาย เครื่องเขย่าตัวอย่างสาร เครื่องอุ่นตัวอย่างสาร เป็นต้น ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้จะนำมาใช้เพื่อวิเคราะห์สารตัวอย่างเลือดและปัสสวะของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง เพื่อนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทยต่อไป
นอกจากนี้ยังมีการจัดงานระดมสมองในทีมแพทย์ที่เชี่ยวชาญโรคไตด้วยกัน การทำโครงการวิจัยโรคไต เช่น โครงการวิจัยโรคไตที่จังหวัดกำแพงเพชร การฝึกอบรมบุคลากรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
ผู้ป่วยให้การยอมรับ เลือกรักษาโรคอื่นด้วย
นับตั้งแต่เปิดให้บริการมาตั้งแต่ เดือนกันยายน 2555 จนถึง เดือนตุลาคม 2560 โรงพยาบาลได้รับการตอบรับจากผู้ป่วยจำนวนมาก โดยมีผู้ป่วยนอกทั้งสิ้น 279,135 ครั้ง จำนวนรอบผู้ป่วยฟอกเลือด 151,302 รอบ ผู้ป่วยผ่าตัดเกี่ยวกับเส้นเลือด 1,493 คน ผู้ป่วยผ่าตัดส่องกล้องทางเดินปัสสวะ 255 คน ผู้ป่วยผ่าตัดเกี่ยวกับโรคไต 379 คน ผู้ป่วยผ่าตัดแก้ไขเส้นเลือดอุดตัน 238 คน ผู้ป่วยผ่าตัดเกี่ยวกับต่อมลูกหมาก 192 คน ผู้ป่วยผ่าตัดทำเส้นเลือดเทียมถวายสมเด็จพระเทพฯ 83 คน (ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย) การปลูกถ่ายไต 3 คน และการผ่าตัดอื่นๆ 454 คน
มาตรฐานของโรงพยาบาลคือ เน้นที่ความปลอดภัย การให้บริการ และ จะต้องมีเวลาให้ ดังนั้นแต่ละครั้งคนไข้ที่มาฟอกเลือดที่นี่ทุกครั้งจะต้องมีแพทย์เยี่ยมเพื่อจะดูว่าฟอกไตกลับไปแล้วไปทานอะไรมาบ้าง น้ำหนักเพิ่มขึ้นแค่ไหน น้ำเกินมาเยอะหรือไม่ ผลเลือด เกลือ เกลือแร่ มีความผิดปกติแค่ไหน คนไข้จะปรับพฤติกรรมการกินให้ถูกต้อง โดยแพทย์และนักกำหนดอาหารจะให้คำแนะนำควบคู่กับการรักษาไปด้วย
“การทำงานของโรงพยาบาลจะเริ่มตั้งแต่การมีจุดคัดกรอง คนเป็นโรคไตแต่ละคนมีอาการไม่เหมือนกัน ตัวบวม ซีด เหนื่อย หรือ ปัสสวะเป็นฟอง ต้องรีบมาตรวจคัดกรอง จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นการรักษา หากเป็นไม่มาก หมอจะให้การรักษาและป้องกันไม่ให้ไตเสื่อมเร็วขึ้นโดยการแนะนำวิธีการกิน ควรกินเค็มน้อยลง ลดการใช้ยาต้องห้าม และกินน้ำมากขึ้น แต่หากเป็นมาก ก็ต้องฟอกเลือด หรือดีที่สุดคือการปลูกถ่ายไตก่อนฟอกเลือด จะเป็นการรักษาที่ดีที่สุด”
ด้วยศักยภาพของการให้บริการ โรงพยาบาลกำลังอยู่ระหว่างการขยายการให้การบริการให้ทั่วถึง “สถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์เป็นโรงพยาบาลที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการทำความดีเพื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ถึงแม้ว่าพวกเราจะไม่ได้ทำงานใกล้ชิดพระองค์ท่าน แต่การทำงานภายในสถาบันของพระองค์ท่านก็ต้องทำให้ดี ถือเป็นการรับใช้พระองค์ท่านทางหนึ่ง
สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่โทร 02-765-3000
หรือ www.brkidney.org
และ www.facebook.com/Bhumirajnakarin