บทความโดย แพทย์หญิง วารีรัตน์ โขมศิริ ผู้บริหาร นีโอเลเซอร์ คลินิก และผู้บริหาร บริษัท อินโนเวทีฟ เฮลท์ จำกัด |
เชื่อแน่ว่า นี่คืออีกหนึ่งเรื่องที่ก่อกวนจิตใจของใครหลายคน เมื่อพูดถึง “ติ่งเนื้อ” หรือ “ตุ่ม” หรือ “ปุ่มปม” บนผิวหนัง แม้จะมีขนาดเล็กเพียงใด แต่หลายคนก็อดคิดมากไม่ได้ และที่ยิ่งไปกว่านั้น บางคนเป็นกังวลถึงขั้นที่ว่า มันอาจจะเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็ง หรือเปล่า?
วันนี้ หมอมีคำตอบมาฝากกันค่ะ
อันที่จริง การมี “ติ่งเนื้อ” บนผิวหนัง เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ตามปกติ อย่างตอนวัยรุ่น ถ้ามีตุ่มเม็ดๆ เกิดขึ้นบนใบหน้า เราก็จะเรียกว่า “สิว” แต่พออายุมากขึ้น 30 - 40 ปีขึ้นไป ก็จะมีติ่งเนื้อเกิดขึ้นตามผิวหนังเป็นธรรมดา ซึ่งไม่ใช่ “ไฝ” หรือ “ขี้แมลงวัน”
ภาษาอย่างเป็นทางการ เรียกติ่งเนื้อพวกนี้ว่า “สกิน แท็ก” (Skin Tag) และไม่สามารถหาสาเหตุที่แท้จริงได้ว่าติ่งเนื้อเหล่านี้เกิดมาจากอะไร เพียงแค่รู้ว่าเป็นสิ่งที่เกิดได้ เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น โดยติ่งเหล่านี้มักจะเกิดตรงบริเวณที่มีการเสียดสีบ่อยๆ เช่น ที่ลำคอ (เพราะการใส่สร้อยคอเป็นประจำ) หรือตรงข้อพับแขนที่มีการเสียดสีบ่อยๆ ขณะที่บางคนก็เกิดที่รอบดวงตา หรือบนใบหน้า
คำถามก็คือว่า แล้วติ่งเนื้อเหล่านี้ มีความอันตรายหรือเปล่า?
คำตอบง่ายๆ ก็คือ ถ้าเป็นติ่งเนื้อธรรมดา ก็ไม่อันตราย
แล้วทีนี้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ติ่งเนื้อนั้นๆ เข้าข่ายอันตรายหรือไม่
สำหรับหมอ จะบอกคนไข้ที่มักมาปรึกษาอยู่เป็นประจำว่า ให้ใช้วิธีการสังเกต คือถ้าเป็นติ่งเนื้อเล็กๆ ก็ไม่อันตรายอะไร ถ้ามันไม่โตเร็ว ไม่ผิดรูป ไม่เปลี่ยนสี ไม่มีขนขึ้น ไม่มีเลือดออก ก็คือไม่อันตราย
แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามที่ติ่งเนื้อนั้นๆ มันโตเร็ว มีการเปลี่ยนสี มีขนขึ้น หรือมีเลือดออก ควรจะรีบไปพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์ดูว่ามันคืออะไรกันแน่ เพราะมันไม่ได้มีแค่สกินแท็กอย่างเดียว อย่างเช่น “ไฝ” ที่บางคนอาจจะคิดว่าเป็นแค่ไฝธรรมดา แต่ถ้าเป็นไฝแล้วมีเลือดออก มีการเปลี่ยนสี ไฝโตเร็ว ไฝมีขนเยอะๆ มันก็อาจจะเปลี่ยนเป็นเมลาโนม่า (Melanoma) หรือเป็นมะเร็งของเม็ดสีได้ ดังนั้น จึงควรไปพบแพทย์ เพราะมีโอกาสเป็นมะเร็งได้
สำหรับวิธีจัดการพวกติ่งเนื้อธรรมดาๆ ไม่อันตรายอะไร ซึ่งบางคนอยากเอาออก เพราะคิดว่ามันดูไม่สวยหรือรำคาญ บางทีก็อาจจะคัน วิธีการก็ง่ายๆ คือถ้าเป็นเม็ดเล็กๆ ก็ใช้เลเซอร์กำจัดทิ้งไป แต่ถ้าเป็นเม็ดใหญ่หน่อย ก็ใช้วิธีผ่าตัดออก
อย่างไรก็ตาม ถ้าเราสงสัยว่าติ่งเนื้อนั้นๆ เป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็ง ก็ควรจะต้องไปตรวจชิ้นเนื้อด้วย ต้องผ่าตัด เพราะการเลเซอร์จะทำให้ติ่งเนื้อนั้นหายไปเฉยๆ โดยไม่สามารถตรวจชิ้นเนื้อได้ เพราะฉะนั้น ถ้ามีติ่งเนื้อที่น่าสงสัย ก็ควรจะไปพบแพทย์ ให้แพทย์พิจารณา
ข้อสำคัญที่สุด ไม่ควรจะเอากรรไกรไปตัดเอง และไม่ควรจะไปดึงๆๆ ติ่งเนื้อนั้นเอง เพราะอย่างที่เราทราบว่า การระคายเคืองผิวมากๆ นานๆ มีโอกาสจะทำให้เกิดเป็นมะเร็งได้ แทนที่มันจะไม่เป็น มันกลับจะเป็น เพราะมะเร็งก็คือการอักเสบนานๆ (Chronic Inflammation)
เมื่อไหร่ก็ตามที่ส่วนหนึ่งส่วนใดในร่างกายของเราเกิดการอักเสบนานๆ มันจะทำให้เซลล์เปลี่ยนไป และจากเซลล์ปกติที่เปลี่ยนไป ก็มีโอกาสสูงมากที่มันจะกลายเป็นมะเร็งได้ เหมือนทุกส่วนในร่างกายนะคะ เช่น ถ้าเราเป็นโรคกระเพาะ เราเป็นแผลในกระเพาะ เป็นนิดๆ กินยารักษาก็หาย แต่ถ้าเป็นมากๆ นานๆ มันเปลี่ยนนะคะ เซลล์มันเปลี่ยนได้ กลายพันธุ์ไปเป็นมะเร็งได้ เพราะฉะนั้น อะไรที่ไประคายเคืองมันนานๆ ก็มีโอกาสเป็นมะเร็งได้ และสำหรับติ่งเนื้อ เราก็ไม่ควรจะไปแคะไปแกะมัน ไม่ควรจะไปขยี้มัน ดึงมัน หรือตัดมัน
หมอได้เห็นวิธีที่เขาแชร์ๆ กันทางอินเตอร์เน็ตว่าสามารถจัดการกับติ่งเนื้อได้ด้วยวิธีการแบบนั้นแบบนี้ เช่น ใช้น้ำมะนาว น้ำส้มสายชู น้ำมันละหุ่ง ฯลฯ ถามว่า รักษาได้มั้ย ก็รักษาได้นะคะ ถ้ามันเป็นติ่งเล็กๆ แต่สิ่งที่หมอทุกคนกลัว ก็คือกลัวว่ามันจะไม่สะอาด แล้วมีโอกาสที่จะติดเชื้ออะไรอีกได้
เดี๋ยวนี้ การตัดติ่งเนื้อ หรือเลเซอร์ ไม่ได้แพง และไม่ยุ่งยาก หากต้องการกำจัดออกจริงๆ หมอแนะนำว่าให้ไปพบแพทย์ดีกว่า เพื่อความชัวร์ เพราะถ้าไปทำเองอะไรเอง เดี๋ยวเกิดเป็นแผลหนองและอักเสบ จะยุ่งเข้าไปอีก หรือเกิดเป็นรอยแผลเป็น เรื่องเล็กจะกลายเป็นเรื่องใหญ่