xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิตใหม่ที่ดีกว่าเดิม แค่ปรับก็เปลี่ยนได้ / ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากคอลัมน์ Inspiration
โดย ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล (suwatmgr@gmail.com)
เซกชั่น Good Health & Well Being
นิตยสารผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 - 26 พฤศจิกายน 2560
นี่ก็ใกล้จะสิ้นปีแล้ว คนที่รู้จักวางแผนชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการงานหรือชีวิตส่วนตัวและครอบครัว จะเริ่มคิดถึงวิถีทางสำหรับปีใหม่ที่กำลังจะมาเยือน

การต้อนรับศกใหม่ด้วยความหวัง และยินดีกับปีปฏิทินใหม่จึงไม่ใช่แค่การเตรียมฉลองอย่างรื่นรมย์ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ดูดีก็ดีอยู่ แต่ก็แค่บรรยากาศช่วงไม่กี่วันเท่านั้น

แต่โลกแห่งความเป็นจริงคือสิ่งที่เราต้องเผชิญแน่ ๆ อีกทั้งปีและตลอดชีวิตที่เหลืออยู่ ที่เราควรให้ความสำคัญในการวางแผนให้เป็นเวลาที่สร้างสรรค์คุณค่าและมูลค่าต่อตัวเอง ครอบครัว องค์กร และสังคมได้ดีมิใช่หรือ

ผมสะดุดตากับปกหนังสือ BETTER THAN BEFORE

แม้ความจริง การใฝ่ดี ใฝ่พัฒนา และการเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ทั้งการดำเนินชีวิตและการทำงานนั้น สามารถเริ่มต้นได้ทุกเวลาทุกวันอยู่แล้ว

แต่เมื่อมีข้อคิดหรือแรงบันดาลใจจากการได้รับรู้จากช่องทางการสื่อสารแบบไหนก็ตาม ผมจะย่อประเด็นและบันทึกในสมุดส่วนตัวเสมอ การได้แบ่งปันสู่ท่านผู้อ่านก็เป็นความสุขอย่างหนึ่งครับ

หนังสือ BETTER THAN BEFORE ฉบับภาษาไทย “แค่ปรับ ก็เปลี่ยน” ของ Gretchen Rubin จึงน่าสนใจ ไม่ใช่เพียงเพราะมียอดขายแล้ว 2 แสนเล่มในสหรัฐอเมริกาและมีฉบับแปลมากกว่า 18 ภาษาทั่วโลก

แต่ประเด็นที่น่าอ่านก็คือการเป็นแรงกระตุ้นให้มีการเปลี่ยนแปลง เพื่อเป้าหมาย “ทำให้ดีกว่าเดิม”

เพราะถ้า “รู้จุดผิด - รู้จักแก้ - ก็ไม่แย่ตลอดไป”

แต่คนประเภทที่ใช้ชีวิตหรือทำงานแบบเดิมๆ แล้วหวังจะให้ผลแตกต่างหรือดีขึ้น คงเป็นไปได้ยาก อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยกล่าวไว้ทำนองนี้

เกรตเซน รูบิน เป็นนักเขียนหนังสือขายดีแนวให้ข้อคิดและเป็นที่ยอมรับเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาอุปนิสัย ความสุขและธรรมชาติของมนุษย์ เธอเขียนหนังสือเล่มนี้จากผลการวิจัยเกี่ยวกับภาวะก่อนและหลังการเปลี่ยนแปลง (Before and After)

ประเด็นสำคัญที่ตกผลึกจากการศึกษาก็พบว่า “ถ้าอยากจะเข้าใจว่าคนเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไร ก็ต้องเข้าใจอุปนิสัยของคนนั้นก่อน”

การสร้าง “อุปนิสัย” (Habits) ที่ดีจึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อชีวิตและผลงาน เพราะเป็นตัวการสำคัญในการตัดสินใจหรือพูดอีกแบบก็คือ “ขาดการตัดสินใจ” เพราะทำจนเคยชิน เช่น “ต้องแปรงฟันตอนตื่นนอน?” “ต้องกินยา?”

เพราะอุปนิสัย หมายถึง พฤติกรรมที่เกิดซ้ำๆ โดยอาศัยบริบทเฉพาะที่เกี่ยวข้อง ทั้งโดยไม่ตั้งใจหรือจงใจให้เกิดก็ตาม เมื่อเกิดพฤติกรรมบ่อยๆ ซ้ำๆ ก็กลายเป็นอุปนิสัย

ในหนังสือ Willpower ของ รอย บาวไมสเตอร์ และ จอห์น เทียร์นีย์ ได้กล่าวถึงผลวิจัยว่าคนที่ควบคุมจิตใจได้ดี แทบไม่ต้องใช้เวลาฝืนความต้องการของตัวเองเลย และเป็นประโยชน์ในการพัฒนาอุปนิสัยและกิจวัตรประจำวันให้เกิดประสิทธิภาพได้ แต่ถ้าทำจนเป็นอุปนิสัย ก็ไม่จำเป็นต้องควบคุมจิตใจหรือฝืนความรู้สึก

แสดงว่ามันเป็นเหตุและเป็นผลต่อกัน เพราะอุปนิสัยนี่เอง ทำให้เราควบคุมจิตใจได้ แต่การจะมีอุปนิสัยที่ดีได้นั้น ก็ต้องควบคุมจิตใจให้ได้ก่อน และเมื่อเรามีอุปนิสัยที่ดีแล้ว เราก็แทบไม่ต้องใช้ความพยายามในการทำสิ่งใดที่เป็นวิถีที่ดี

ตัวอย่างการสร้างอุปนิสัยที่ดี เช่น

1. กินและดื่มเพื่อสุขภาพมากขึ้น (เลิกกินน้ำตาล กินผักมาขึ้น ลดหรือเลิกดื่มแอลกอฮอล์)

2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

3. ออมเงิน ใช้เงิน และหาเงินอย่างชาญฉลาด (เก็บออมเงินประจำ ลดหรือไม่ก่อหนี้ ไม่ใช้จ่ายเกินงบที่เราตั้งไว้ บริจาคตามสมควร)

4. นอนหลับ พักผ่อน ทำกิจกรรมผ่อนคลาย (เลิกดูทีวีบนเตียง ปิดโทรศัพท์มือถือ เข้าหาธรรมชาติ อยู่กับความสงบ เข้านอนใกล้ช่วงนาทีทอง 22.00 น.)

5. เพิ่มทักษะให้ตัวเอง เลิกผัดวันประกันพรุ่ง (ฝึกเล่นดนตรี หาความรู้พัฒนางาน พัฒนาภาษา ทำงานที่มีคุณค่าต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม)

6. เลิกทำตัวยุ่งเหยิง จัดระเบียบสิ่งของ รักษาความสะอาด

7. ผูกสัมพันธ์กับคนที่เกี่ยวข้องมากขึ้น (ให้เวลากับครอบครัวมากขึ้น ติดต่อกับเพื่อนๆ เป็นอาสาสมัครสังคม)

อย่างไรก็ตาม ผู้คนมีหลากหลายประเภท พฤติกรรมและอุปนิสัยย่อมแตกต่างกัน การจะเปลี่ยนอุปนิสัยไปสู่วิถีที่ส่งผลดีต่อชีวิตและการงานให้มีผลิตภาพ (Productivity) คือ มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และคุณธรรม

ทางแก้นั้นย่อมแตกต่างกัน จึงต้องเลือกทุกทางเลือกที่เป็นไปได้

ขอเพียงรู้จักแยกแยะว่าแบบไหนเป็น “อุปนิสัยที่ดี” ที่ยังอยากฝึกฝนพัฒนา และแบบไหนคือ “อุปนิสัยที่ไม่ดี” ที่อยากขจัดทิ้งไป

การ “รู้จักตนเอง” (Self - Knowledge) จึงเป็นเรื่องสำคัญหากต้องการพัฒนาอุปนิสัยให้สำเร็จ เพราะเมื่อรู้จักตัวตนของเราดี เราก็สามารถจัดการตัวเองได้ดีขึ้น ขณะเดียวกันเมื่อต้องทำงานร่วมกับผู้อื่น และรู้จักยอมรับว่าคนเราย่อมแตกต่างกันด้านอุปนิสัยและพฤติกรรม เราก็จะเข้าใจเขาได้ดีขึ้น

จากการสังเกตของผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ พบว่าคนเราทุกคนต้องเป็น 1 ใน 4 กลุ่มอุปนิสัยที่ต่างกันเหล่านี้แน่

1. นักยึดติด ตอบสนองทันทีต่อทั้งความคาดหวังจากภายนอกและภายใน

2. นักซักถาม ตั้งแง่กับความคาดหวังทั้งปวง และจะทำตามความคาดหวังใดๆ ก็ต่อเมี่อพวกเขาเชื่อว่ามันยุติธรรมดี แต่มักทำตามการคาดหวังภายใน

3. นักฝืนใจ ตอบสนองทันทีต่อความคาดหวังจากภายนอกทว่ายากที่จะตอบสนองต่อความคาดหวังจากภายใน

4. นักกบฏ ปฏิเสธทุกความคาดหวัง ไม่ว่าจะจากภายนอกหรือภายใน

โดยสรุป อุปนิสัยมีผลต่อพฤติกรรมของแต่ละคน และการวิจัยพบว่าคนที่มีอุปนิสัยเหมือนๆกัน ตามแบบที่ระบุไว้ ต่างก็มีความเห็นเรื่องต่างๆ ในแบบเดียวกัน เช่น พวก “นักซักถาม” มักบ่นว่าเกลียดการต่อแถวรอ

ว่าแต่คุณผู้อ่านมีอุปนิสัยแบบไหนครับ
ข้อมูลจากหนังสือ “แค่ปรับ ก็เปลี่ยน”
เขียนโดย Gretchen Rubin
แปลโดย น้ำฝน แสงเป๋า และ อรุโณทัย เขตหาญ
สำนักพิมพ์ ซีเอ็ด

กำลังโหลดความคิดเห็น