คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย
มหาวิทยาลัยรังสิต
ข้อถกเถียงถึงความได้เปรียบเสียเปรียบกับกลุ่มคนที่กินคาร์โบไฮเดรต (แป้งและน้ำตาล) ต่ำ กับกลุ่มที่กินไขมันต่ำนั้นมีมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการทดลองในมนุษย์นั้นยังไม่สามารถทดลองได้นานพอที่จะทำให้เห็นในแง่มุมต่างๆ ในระยะยาวได้
งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่การทดลองเปรียบเทียบกลุ่มคนกินอาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำกับกลุ่มที่กินอาหารไขมันต่ำต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งน่าจะเป็นการทดลองเปรียบเทียบในระยะเวลานานที่สุด คืองานวิจัยที่มีชื่อว่า “Weight and Metabolic Outcomes After 2 Years on a Low-Carbohydrate Versus Low-Fat Diet” โดย ดร.แกรี่ ดี. โฟสเตอร์ และคณะ ตีพิมพ์ในวารสาร Annals of internal medicine เมื่อปี พ.ศ. 2553
งานวิจัยชิ้นนี้ทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างประชากร 307 คน แบ่งคนออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งกินคาร์โบไฮเดรตต่ำ 153 คน กับอีกกลุ่มหนึ่งกินไขมันต่ำ 154 คน
กลุ่มกินคาร์โบไฮเดรตต่ำเริ่มรับประทานคาร์โบไฮเดรตที่ 20 กรัมต่อวัน เป็นเวลา 3 เดือน หลังจากนั้นลดคาร์โบไฮเดรตลงเหลือเพียง 5 กรัมต่อวัน
ส่วนกลุ่มกินไขมันต่ำจำกัดแคลอรี่ไม่เกิน 1,200 - 1,800 กิโลแคลอรี โดยมีไขมันไม่เกิน 30% ของพลังงานที่บริโภค
ผลปรากฏว่า 1 ปีผ่านไป กลุ่มคนทั้ง 2 กลุ่มทั้งกินคาร์โบไฮเดรตต่ำ และกินไขมันต่ำ น้ำหนักลดลงไป 11 กิโลกรัม เทียบจากจุดเริ่มต้น (ลดลงประมาณ 11%)
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการปรับพฤติกรรมการบริโภคนั้น แม้น้ำหนักจะลดลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่แรก แต่ภายหลังเดือนที่ 6 เป็นต้นมา น้ำหนักทั้ง 2 กลุ่มทยอย “เพิ่มขึ้น” (แม้จะบริโภคเหมือนเดิม)
แต่เมื่อสิ้นสุดครบ 2 ปีแล้ว น้ำหนักทั้ง 2 กลุ่มก็ยังลดลงไป 7 กิโลกรัมเทียบจากจุดเริ่มต้น (ลดลงประมาณ 7%) โดยตลอดระยะเวลาตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดงานวิจัย ทั้ง 2 กลุ่ม ทั้งลดคาร์โบไฮเดรตและกลุ่มลดไขมัน ไม่มีความแตกต่างกันมากนักในเรื่องน้ำหนัก, สัดส่วนรูปร่าง, ความหนาแน่นของแร่ธาตุในกระดูก
ในช่วง 3-6 เดือนแรก กลุ่มที่กินคาร์โบไฮเดรตต่ำจะมีผลการตรวจไตรกลีเซอร์ไรด์ และไลโปโปรตีนหนาแน่นต่ำมาก วีแอลดีแอล (VLDL) “ลดลงเร็วกว่า” กลุ่มกินไขมันต่ำอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ไลโปโปรตีนหนาแน่นต่ำ (LDL) หรือที่มักจะเรียกกันว่าไขมันตัวเลวของกลุ่มกินคาร์โบไฮเดรตต่ำใน 3 เดือนแรกกลับเพิ่มขึ้น หลังจากนั้นจึงลดลงตามลำดับ
เมื่อผ่านไปภายหลัง 6 เดือนกลับพบว่าทั้งกลุ่มกินคาร์โบไฮเดรตต่ำและกลุ่มกินไขมันต่ำทั้งในส่วนของ น้ำหนัก ไตรกลีเซอร์ไรด์ ไลโปโปรตีนหนาแน่นต่ำมาก (VLDL) และไลโปโปรตีนหนาแน่นต่ำ แอลดีแอล (LDL,ไขมันตัวเลว) ที่ลดลงมาตลอด 6 เดือนกลับทยอยเพิ่มสูงขึ้น แสดงให้เห็นว่า “ร่างกายมีการปรับตัวระบบการเผาผลาญใหม่”
เมื่อสิ้นสุด 2 ปีผ่านไป ภาพรวมดัชนีสำคัญทั้ง 4 ตัว คือ น้ำหนัก ไตรกลีเซอร์ไรด์, ไลโปโปรตีนหนาแน่นต่ำมาก (VLDL) และไลโปโปรตีนหนาแน่นต่ำ แอลดีแอล (LDL) ลดลงเมื่อเทียบกับจุดเร่ิมต้น และไม่แตกต่างกันมากนักระหว่างกลุ่มกินคาร์โบไฮเดรตต่ำ กับ กลุ่มกินไขมันต่ำ
อย่างไรก็ตาม จุดแตกต่างที่เห็นได้ชัดตลอด 2 ปีที่มีการทดลองดังกล่าวคือ “กลุ่มกินคาร์โบไฮเดรตต่ำกับมีไลโปโปรตีนหนาแน่นสูง หรือที่มักเรียกว่า เอชดีแอล (HDL) ที่คนทั่วไปมักเรียกว่าไขมันตัวดี เพิ่มสูงขึ้นมากกว่ากลุ่มกินไขมันต่ำ” [1]
งานวิจัยชิ้นนี้กำลังพบเบาะแสสำคัญอย่างยิ่ง เพราะถ้าในวิจัยในยุคหลัง พบว่าวิธีการตรวจวัดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจของผู้สูงวัย ไม่ใช่การวัดคอเลสเตอรอล หรือการตรวจวัดค่า แอลดีแอล, LDL (ที่คนทั่วไปมักเรียกว่าไขมันตัวเลว เพราะในงานวิจัยพบว่าในผู้สูงวัยที่มีแอลดีแอลต่ำ จะมีอายุสั้นกว่าคนที่มีแอลดีแอลสูง) ดังนั้น วิธีการตรวจวัดดีที่สุดกลับเป็นตัวเลข “สัดส่วน “ โดยการนำผลตรวจวัดค่า “คอเลสเตรอล มาหารด้วย เอชดีแอล (HDL)” [2]
ตัวเลข “คอเลสเตรอล มาหารด้วยเอชดีแอล (HDL)” ยิ่งน้อยยิ่งดี ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตโดยรวมลดลง รวมถึงโรคหลอดเลือดหัวใจด้วย ตราบใดถ้า “คอเลสเตรอล มาหารด้วย เอชดีแอล (HDL) ไม่เกิน 5” ถือว่ายังไม่มีความเสี่ยงการเสียชีวิตโดยรวมและโรคหัวใจ
ดังนั้น งานวิจัยที่ทดลองในเรื่องการลดการกินคาร์โบไฮเดรตให้น้อยนั้นเห็นผลการเพิ่มเอชดีแอล (HDL) อย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับกลุ่มที่กินไขมันต่ำ เป็นการบอกนัยยะว่าการลดคาร์โบไฮเดรตให้ต่ำลงจะช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องโรคหลอดเลือดหัวใจได้ดีกว่าการลดไขมันให้ต่ำลง
แม้การลดคาร์โบไฮเดรตจะช่วยลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจก็ตาม แต่การกินไขมันผิดก็จะทำให้เกิดความเสี่ยงในเรื่องโรคหลอดเลือดหัวใจให้สูงขึ้นได้ด้วย โดยเฉพาะงานทบทวนงานวิจัยการสำรวจประชากรของมลรัฐมินิโซต้าที่เกิดขึ้นเมื่ปี 2559 ของ ดร. คริสโตเฟอร์ อี. รัมส์เดน พบอย่างชัดเจนว่าไขมันไม่อิ่มตัวที่มีเรียกชื่อว่าไลโนเลอิก หรือที่เรียกว่าไขมันโอเมก้า 6 มีความสัมพันธ์โดยตรงที่จะเพิ่มความเสี่ยงเสียชีวิตเรื่องโรคหลอดเลือดหัวใจให้สูงขึ้นอย่างชัดเจนด้วย [3]
และไขมันไลโนเลอิก หรือที่เรียกว่าไขมันโอเมก้า 6 ที่ก่อให้เกิดปัญหาหลอดเลือดพบมากที่สุดในน้ำมันพืชดังต่อไปนี้ น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกทานตะวัน มีไขมันโอเมก้า 6 ประมาณ 60% และน้ำมันรำข้าวจะมีไขมันโอเมก้า 6 อยู่ที่ 37%
ในทางตรงกันข้าม ไขมันไลโนเลอิก หรือที่เรียกว่าไขมันโอเมก้า 6 จะพบน้อยมากๆในน้ำมันมะพร้าว และเนยเหลว(ไม่ถึง 1% - 2%) และพบน้อยรองลงมาในน้ำมันปาล์ม (11%), น้ำมันมะกอก (14%) ฯลฯ
ดังนั้น การงดแป้งข้ดขาว งดน้ำตาล งดน้ำมันพืชไม่อิ่มตัว งดไขมันทรานส์ งดไขมันไม่อิ่มตัวที่มีไขมันโอเมก้า 6 สูง งดสิ่งเหล่านี้ได้ ความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจก็จะลดลงอย่างแน่นอน
[1] Foster GD, Wyatt HR, Hill JO, et al. Weight and Metabolic Outcomes After 2 Years on a Low-Carbohydrate Versus Low-Fat Diet: A Randomized Trial. Annals of internal medicine. 2010;153(3):147-157. doi:10.1059/0003-4819-153-3-201008030-00005.
[2] Ravnskov U, Diamond DM, Hama R, et al. Lack of an association or an inverse association between low-density-lipoprotein cholesterol and mortality in the elderly: a systematic review. BMJ Open. 2016;6(6):e010401. doi:10.1136/bmjopen-2015-010401.
[3] Ramsden CE, Zamora D, Majchrzak-Hong S, et al. Re-evaluation of the traditional diet-heart hypothesis: analysis of recovered data from Minnesota Coronary Experiment (1968-73). The BMJ. 2016;353:i1246. doi:10.1136/bmj.i1246.