xs
xsm
sm
md
lg

รีบเช็ก!! “ยาลดความอ้วน” พวกนี้ ถ้าเจอ ต้องหลีก!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

By: Pharmchompoo
รูปร่างที่ดีก็เป็นสิ่งที่ใครก็ปรารถนา โลกเราไม่เคยมีความสมดุล คนอ้วนอยากผอม คนผอมอยากอ้วน คนบทจะอ้วน ทำไงก็อ้วน กินนิดกินหน่อยก็อ้วน ลดก็ลดยาก คนบทจะผอม กินให้ตายก็น้ำหนักขึ้นนิดหน่อย

กระแสนิยมในเรื่องความผอม ไม่เคยจางไปจากสังคมไม่ว่าจะไทยหรือเทศ ทำให้หลายคนพยายามที่จะมีรูปร่างที่ดี โดยเฉพาะถ้ายิ่งบอกว่า กินได้ตามใจปากแล้วไม่อ้วนยิ่งดี หรือมีอะไรที่กินแล้วมาช่วยเผาผลาญแบบที่ไม่ต้องออกกำลังกายอะไรเลยยิ่งดี หรืออยากลดก็ลดได้ตามใจปรารถนา หลายคนจึงพยายามหาตัวช่วย ทั้งๆ ที่รู้ว่ามันเสี่ยง !!!

โดยปกติ หลักการของการลดน้ำหนักนั้นจะต้องให้แคลอรี่ที่เผาผลาญมากกว่าแคลอรี่ที่ได้รับเข้าไป เพื่อให้เกิดการเผาผลาญไขมันที่เก็บสะสมไว้ (โดยเฉพาะไขมันที่เป็น visceral fat) ทำให้น้ำหนักตัวลดลง หรือร่วมกับการจำกัดแคลอรี่ที่ได้รับ

เพราะฉะนั้น โดยทฤษฎีคนที่จะลดน้ำหนักได้สำเร็จคือ คนที่ควบคุมอาหารร่วมกับการออกกำลังกายตามความเหมาะสม แต่เนื่องจากมันยุ่งยาก ไม่มีเวลา ฯลฯ หลายคนจึงพยายามหาตัวช่วย โดยเฉพาะยาที่จะมายับยั้งความอยากอาหารบ้าง ยาที่จะช่วยเผาผลาญบ้าง จนเกิดเป็นสูตรยาลดน้ำหนักมากมาย

ในสมัยก่อน sibutramine เป็นยาตัวหนึ่งที่มีความนิยมมาก โดยออกฤทธิ์เกี่ยวข้องกับสารเคมีในสมองที่ควบคุมพฤติกรรมความอยากอาหาร ต่อมาพบว่ายาตัวนี้มีผลข้างเคียงต่อหัวใจและหลอดเลือด และพบว่ามีความเสี่ยงมากกว่าประโยชน์ที่จะได้รับ จึงมีการเพิกถอนทะเบียนโดยสมัครใจไปเป็นเวลานานเกือบ 10 ปีแล้ว แต่ในปัจจุบันก็ยังพบการปลอมปน sibutramine ลงในผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักต่างๆ ที่ขายในเว็บ เช่นปลอมปนในกาแฟลดน้ำหนัก

Phentermine เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 2 ทำให้ต้องมีการควบคุมการสั่งใช้และจ่ายอย่างเข้มงวดและรัดกุม แต่ก็พบการลักลอบใช้โดยไม่ได้อยู่ในการดูแลของผู้ประกอบวิชาชีพ ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงต่อผู้ใช้ เช่น ภาวะซึมเศร้า นอนไม่หลับ กระวนกระวายและภาวะน้ำหนักกลับมาเกินเมื่อหยุดยา (Yo-yo effect)

นอกจากนั้นแล้วยังพบการใช้ยาที่หวังผลลดน้ำหนักจากผลข้างเคียงของยานั้น ๆ ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้ใช้ด้วย เช่น การใช้ยาขับปัสสาวะ furosemide เพื่อให้เกิดการขับน้ำและน้ำหนักตัวลดลง (อย่างหลอกๆ) ผลร้ายจากการใช้ยาขับน้ำมาลดน้ำหนักคือ จะเกิดการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย เสียน้ำ เสียเกลือแร่ที่สำคัญ เช่น โซเดียม โปรแทสเซียม แคลเซียม และอาจเกิดผลเสียที่สำคัญต่อกล้ามเนื้อ เช่น เป็นตะคริว และการเต้นของหัวใจ

นอกจากยาขับปัสสาวะ ยังมีการใช้ ฮอร์โมนไทรอกซิน (thyroxine) ด้วยคุณสมบัติของฮอร์โมนนี้ที่เกี่ยวข้องกับการการควบคุมการใช้พลังงานในร่างกาย และยังมีหน้าที่อื่น ๆ อีก เช่นการทำงานของทางเดินอาหาร ความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อ การพัฒนาของสมอง ด้วยเหตุที่ไทรอกซินเกี่ยวของกับการเผาผลาญสารอาหารเพื่อให้เกิดความร้อนขึ้นในร่างกาย จึงมีคนหัวใสนำมาใช้เป็นยาลดน้ำหนัก ซึ่งการใช้ thyroxine เสริมเกินความต้องการของร่างกายนั้นทำให้เกิดผลเสียหลายประการ เช่น เกิดการเผาผลาญที่มากเกินของร่างกาย หัวใจเต้นเร็วเกิน หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหัวใจวาย กระดูกพรุน

ยาอีกกลุ่มที่มีการนำมาใช้ในทางที่ผิดคือ ยากลุ่มรักษาอาการซึมเศร้าชนิด SSRIs (selective serotonin reuptake inhibitors) โดยที่ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดซึมของสารเคมีในสมองที่เรียกว่า เซอโรโทนิน ซึ่งเป็นสารเคมีที่มีบทบาทควบคุมเรื่องความหิว ความอิ่ม การนอน อารมณ์ ของมนุษย์ ยากลุ่มนี้มีอาการข้างเคียงที่สำคัญคือ ทำให้เบื่ออาหาร ลดความอยากอาหาร จึงทำให้เป็นที่นิยมนำมาให้กับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก เพื่อหวังผลทำให้เกิดความเบื่ออาหาร ซึ่งในคนปกติที่ได้รับยาที่มีผลรบกวนสารเคมีในสมอง อาจทำให้เกิดความผิดในเรื่องการกิน การนอนหลับ อารมณ์แปรปรวนได้

ในปัจจุบันมีคลิกนิกเฉพาะทางด้านการควบคุมน้ำหนัก เช่น คลินิกโภชนบำบัด ซึ่งผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักอย่างจริงจัง สามารถไปขอคำปรึกษาได้ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะสามารถให้คำแนะนำด้านการออกกำลังกาย การออกแบบมื้ออาหารที่เหมาะสมในการลดน้ำหนัก ซึ่งจะปลอดภัยและเห็นผลชัดเจนในระยะยาว
หมายเหตุ : Pharmchompoo เป็นนามปากกาของเภสัชกรท่านหนึ่งซึ่งเรียนจบมาทางด้านเภสัชศาสตร์โดยตรง ปัจจุบันประจำอยู่ที่โรงพยาบาลชื่อดังแห่งหนึ่ง และบทความเชิงสาระความรู้เพื่อการตระหนักเกี่ยวกับการใช้ยาให้ถูกต้องเหมาะสม จะมาพบกับคุณผู้อ่านเป็นประจำอย่างน้อยสองครั้งต่อเดือน

อ้างอิง : กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค. การเพิกถอนผลิตภัณฑ์ยา “ไซบูทรามีน” 20 ตุลาคม 2553 [Online]. Available at: http://elib.fda.moph.go.th/fulltext2/word/41633/41633.pdf Accessed on: Sep 24, 2017
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. ข้อควรรู้เกี่ยวกับยาลดความอ้วน phentermine [Online]. Available at: http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/7/%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%94%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%99-%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81-Phentermine-%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%87/. Accessed on Sep 24, 2017.
ปรุฬห์ รุจนธำรงค์. สถานะทางกฏหมายของ phentermine [Online]. Available at: http://rparun.blogspot.com/2013/06/phentermine.html Accessed on Sep 24, 2017.
กำลังโหลดความคิดเห็น