xs
xsm
sm
md
lg

ทำผิดมาตั้งนาน ห้ามเก็บยาไว้ในรถยนต์โดยเด็ดขาด!! เพราะเหตุนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

By: Pharmchompoo
ยารักษาโรคก็เหมือนกันกับสินค้าอื่นๆ ทั่วไปที่ต้องมีสภาวะ วิธีการเก็บรักษาเฉพาะตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยาบางชนิดที่มีวิธีการเก็บรักษาที่ละเอียดอ่อนและจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพื่อรักษาประสิทธิภาพในการรักษาของยาเอาไว้

1. ยาเม็ดสำหรับกิน และยาน้ำทั่วไปสำหรับกิน
ไม่จำเป็นต้องเก็บในตู้เย็นทั้งก่อนและหลังการเปิดใช้ ยกเว้นฉลากยาจะระบุให้เก็บในตู้เย็นหลังการผสม (เช่น ยาน้ำเชื่อมแขวนตะกอนที่เป็นยาปฏิชีวนะรูปแบบผงผสมน้ำ โดยมากจะต้องเก็บในตู้เย็นหลังการผสมและใช้ให้หมดตามระยะเวลาที่กำหนด) การเก็บยาเม็ดในตู้เย็น ความชื้นในตู้เย็นจะทำให้เม็ดยาชื้น ร่วน แตกและเสื่อมสภาพ ยาน้ำบางชนิดมีส่วนผสมของน้ำตาล การเก็บในตู้เย็นจะทำให้น้ำตาลตกผลึกและอาจไม่ละลายกลับได้

2. ยาฉีดอินซูลิน (insulin) ยาฉีดเพิ่มเม็ดเลือดแดงที่มักใช้ในผู้ป่วยโรคไตวาย (erythropoietin) ยาฉีดเพิ่มเม็ดเลือดขาวที่มักใช้ในกลุ่มผู้ที่ต้องให้เคมีบำบัด (G-CSF)
วัคซีนเป็นยาที่ต้องเก็บรักษาอย่างดีในตู้เย็น และการหอบหิ้วไปไหนมาไหน เช่นรับยาจากห้องยากลับไปบ้าน หรือหิ้วจากบ้านไปให้คลินิก/โรงพยาบาลฉีดให้ ต้องนำยาเก็บลงในกระติกที่รักษาความเย็นได้ พร้อมกับมีน้ำแข็งหล่อเย็นหรือเจลเย็นในปริมาณที่เพียงพอจะรักษาความเย็นได้ต่อเนื่องจนกว่าจะใช้ ยาเหล่านี้เป็นกลุ่มโปรตีนหรือไกลโคโปรตีนที่มีความไวต่อความร้อน การถูกความร้อนสูงจะทำให้ยาเสื่อมสภาพ ใช้ไม่ได้ผล

3. ยาฉีดอินสุลินที่ใช้กับปากกาฉีด (penfill)
หากก่อนใส่ในปากกา ต้องเก็บยาในตู้เย็น แต่หากใส่ลงในปากกาและมีการฉีดแล้ว ไม่ต้องเก็บปากกาในตู้เย็น

4. ยาหยอดตาไม่ต้องเก็บในตู้เย็น
ยกเว้นยาหยอดตาฆ่าเชื้อกลุ่มคลอแรมเฟนิคอลที่ต้องเก็บเข้าตู้เย็นทั้งก่อนและหลังการเปิดใช้ ยารักษาต้อหินบางชนิดต้องเก็บในตู้เย็นทั้งก่อนและหลังการเปิดใช้ น้ำตาเทียมไม่ต้องเก็บในตู้เย็น เพราะความหนืดจะเปลี่ยนแปลงไปได้

5. ห้ามเก็บยาทุกชนิดในรถยนต์เด็ดขาด
เพราะอุณหภูมิในห้องโดยสารสูงกว่าสภาวะที่ยาจะทนได้ ช่วงที่ยังโดยสารเปิดแอร์ สามารถนำยาไว้ในรถได้ แต่เมื่อถึงที่หมายแล้วต้องเอายาลงจากรถเสมอ ยาที่ผ่านการเก็บค้างคืนไว้ในรถ ไม่ควรนำมาใช้เพราะอาจเสื่อมสภาพแล้ว

6. วัสดุหล่อเย็น ตัวทำความเย็นที่ใช้ในการเก็บยา
แนะนำเป็นน้ำแข็งที่ใช้กินในชีวิตประจำวัน หรือเจล (แบบที่ใช้ประคบ) ในปริมาณเหมาะสม ห้ามใช้น้ำแข็งแห้ง เพราะอุณหภูมิต่ำเกินไป ยาจะเสียสภาพ

7. ตำแหน่งในตู้เย็นที่เหมาะสมสำหรับเก็บยาที่ต้องเก็บในตู้เย็น
คือช่วงกลางของตู้เย็น ไม่ใกล้ช่องแช่แข็งเกินไป และไม่ต่ำลงมาเกินไป ประตูตู้เย็นไม่ใช่สถานที่เก็บยาที่เหมาะสม เพราะมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิตลอดเวลาที่มีการเปิด-ปิด

8. หากตู้เย็นเสีย ดับ และมียาแช่เย็นไว้
ให้ย้ายยาไปไว้ในภาชนะเก็บความเย็นอื่น และแจ้งเภสัชกรทุกครั้งเพื่อประเมินว่ายายังสามารถใช้ได้หรือไม่

9. แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่ายาชนิดไหนควรเก็บในตู้เย็น??
โดยทั่วไปจะมีคำภาษาอังกฤษว่า “Keep in refrigerator” หรือ “Store at 2-8°C” และมักมีคำว่า “Do not freeze” (ห้ามแช่แข็ง) พ่วงท้ายด้วย
หมายเหตุ : Pharmchompoo เป็นนามปากกาของเภสัชกรท่านหนึ่งซึ่งเรียนจบมาทางด้านเภสัชศาสตร์โดยตรง ปัจจุบันประจำอยู่ที่โรงพยาบาลชื่อดังแห่งหนึ่ง และบทความเชิงสาระความรู้เพื่อการตระหนักเกี่ยวกับการใช้ยาให้ถูกต้องเหมาะสม จะมาพบกับคุณผู้อ่านเป็นประจำอย่างน้อยสองครั้งต่อเดือน

กำลังโหลดความคิดเห็น