จากคอลัมน์ Inspiration โดย ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล (suwatmgr@gmail.com) เซกชั่น Good Health & Well Being นิตยสารผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 17 กันยายน 2560 |
ผมโชคดีได้อ่านหนังสือเล่มนี้ แล้วก็เกิดความรู้สึกเห็นดีงามที่จะพัฒนาความคิดและจิตใจเพื่ออยู่ในแนวทางตามชื่อหนังสือที่ว่า “จงมีชีวิตที่เบิกบาน”
เนื้อหาทั้งหมดได้จากการบันทึกและเรียบเรียงสาระจากช่วงเวลา 1 สัปดาห์แห่งการพบปะสนทนาที่ธรรมศาลาในประเทศอินเดียของ 2 ผู้นำเจ้าของรางวัล Nobel สาขาสันติภาพ คือ องค์ทะไลลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวทิเบตและอาร์บิชอป เดสมอนด์ ตูตู อัครมุขนายกเกียรติคุณแห่งแอฟริกาใต้ โดยมี ดักลาส เอบรัมส์ เป็นผู้อำนวยการสนทนาและเรียบเรียงเนื้อความ
น่าสนใจที่คู่สนทนาทั้ง 2 ต่างผ่านกับการทุกข์ยากใหญ่หลวงทั้งทางร่างกายและจิตใจ จากสถานการณ์การเมืองในทิเบตที่ถูกกระทำจากจีน และอีกกรณีการรณรงค์ต่อต้านการคุกคามจากการเหยียดผิว
แต่ท่ามกลางสถานการณ์และความกดดันต่างๆ ที่ท่านทั้ง 2 เผชิญมิได้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตด้วยความเมตตาและเบิกบาน
หัวใจของหนังสือเล่มนี้เน้นไปที่การสร้าง “ความเบิกบาน”
ท่านทะไลลามะ จุดประเด็นตอนต้นว่า “คนเราเกิดมาทำไม...หลังจากใคร่ครวญเรื่องนี้ ฉันเชื่อว่าเราเกิดมาเพื่อแสวงหาความสุข และหนีให้พ้นความทุกข์”
ท่านเห็นว่าที่มาแห่งความสุขพื้นฐานที่สุดนั้น อยู่ภายในตัวเราไม่ใช่เงินทอง ไม่ใช่การมีอำนาจ หรือไม่ใช่สถานภาพทางสังคม ด้วยเหตุนี้เอง บางคนเป็นเศรษฐีพันล้าน แต่กลับมีความทุกข์
เพราะอำนาจและเงินทอง เป็นสมบัติภายนอกที่ไม่สามารถสร้างสันติในใจได้ ไม่สามารถนำความแช่มชื่นเบิกบานที่แท้จริงซึ่งเกิดอยู่ภายในได้
อาร์บิชอป จึงยืนยันว่า “ความเบิกบาน”นั้น ยิ่งใหญ่กว่า “ความสุข” ขณะที่ความสุขมักถูกมองว่าขึ้นกับเหตุการณ์ภายนอก แต่ความเบิกบานนั้นเกิดจากความรู้สึกภายใน
ตัวอย่างแม่ที่กำลังจะคลอดลูก ต้องอยู่ในสภาพเจ็บปวด ทรมานแสนสาหัส แต่แม่ยอมรับได้ เมื่อลูกออกมา ก็เกิดความเบิกบานที่ประเมินค่าไม่ได้เลย
นี่คือ ความเบิกบานเกิดขึ้นได้ทันทีทดแทนความทุกข์
แต่กระนั้น บางครั้งเกิดความคิด ความรู้สึกที่เราสร้างขึ้นเอง ก็มากัดกร่อนทั้งความเบิกบานและความสุข
มันเป็นผลมาจากจิตและการตอบสนองทางอารมณ์ที่โน้มเอียงไปในทางลบ นั่นเอง
หากประมวลประสบการณ์แห่งความเบิกบานนั้น เชื่อมโยงกับความรู้สึกที่หลากหลายมิติ เช่น
• หยดน้ำตาและความปิติสุข เมื่อแม่ให้กำเนิดลูกออกมา
• คนที่หัวเราะทองแข็ง เมื่อได้ฟังเรื่องตลกสุดๆ
• ได้รับรอยยิ้มที่แสดงถึงความพึงพอใจ
ดังกรณีองค์ทาไลลามะ ซึ่งลี้ภัยมาอยู่ที่อินเดียนานถึง 56 ปีแล้ว แต่ท่านก็ไม่เศร้าหมอง แม้ต้องผ่านวิกฤติเพื่อไม่ให้เกิดการนองเลือดที่ทิเบตจึงหลบหนีไปอินเดีย ต้องปลอมตัวหลบการไล่ล่าของทหารจีนฝ่าพายุทรายและปีนเขาสูงรอดมาได้อย่างเหลือเชื่อ
เมื่อมองย้อนหลังไปยังเหตุการณ์เหล่านั้น ก็ไม่ใช่การปฏิเสธความเจ็บปวดและความทุกข์ แต่เป็นการเปลี่ยนมุมมองและความรู้สึกจากการมุ่งที่ตัวเองไปยังผู้อื่น เปลี่ยนจากความโกรธไปสู่ความเมตตา
หลักคิดหนึ่งที่ท่านทะไลลามะเล่าว่า ได้จากคุรุจารย์ชาวอินเดียโบราณสอนให้พิจารณาเมื่อเผชิญสถานการณ์ที่เลวร้าย....
หากมีหนทางใดที่จัดการกับสถานการณ์นั้นได้ จะเศร้าโศกไปทำไม
หากไม่มีหนทางใดจัดการกับสถานการณ์นั้น ไม่สามารถรับมือได้ จะเศร้าโศกไปเพื่ออะไร
แม้เน้นให้มุ่งเป้าหมายชีวิตที่ “ความเบิกบาน” ก็จริง แต่ท่านกลับย้ำว่า “ความเบิกบานและความสุขคื่อผลพลอยได้” และได้สรุปแนวทางการบ่มเพาะเพื่อให้เกิดคุณภาพความคิดและความรู้สึกดังกล่าวก็คือ
หลัก 8 ประการแห่งความเบิกบาน ซึ่งประกอบด้วย
คุณสมบัติทางความคิด (Mind)
1.ปรับมุมมอง มองตัวเองและสถานการณ์หรือด้วยปัญหาของคุณด้วยมุมมองที่กว้างขวางขึ้น ให้ไปในทางบวกยิ่งขึ้นพยายามถอยออกจากตัวเองและปัญหาของคุณ มองดูตัวเองและการดิ้นรนต่อสู้ของคุณเหมือนกับกำลังดูหนังเกี่ยวกับชีวิตของตัวเอง แล้วคิดถึงปัญหานี้ในอนาคตข้างหน้าในระยะหนึ่งปีหรือสิบปีจากนี้
ปัญหาของคุณจะผ่านไป คุณจะสังเกตว่าปัญหาของคุณหดเล็กลงเมื่อคุณมองมันในบริบทของชีวิตที่กว้างขึ้นและการเลือกแนวที่เอื้อเฟื้อต่อผู้อื่นด้วย จะเป็นพื้นฐานของความเบิกบานและความสุข
2.ความอ่อนน้อมถ่อมตน มองตัวเองว่าเป็นมนุษย์คนหนึ่งในเจ็ดพันล้านคน และปัญหาของคุณก็เป็นส่วนหนี่งของความเจ็บปวดและความทุกข์ที่มนุษย์มากมายล้วนประสบ จึงเป็นส่วนหนึ่งของละครชีวิตในโลกของเราที่เกี่ยวเนื่องซึ่งกันและกัน
ความเชื่อมโยงที่คุณมีต่อผู้อื่นทำให้คุณแข็งแกร่งขึ้นและแก้ปัญหาได้ดีขึ้น ปล่อยให้ตัวเองรู้สึกถึงความรักและการชื่นชมต่อผู้อื่นที่มีส่วนในความเป็นคุณและสนับสนุนชีวิตของคุณ
3.มีอารมณ์ขัน ยิ้มและหัวเราะให้กับปัญหา จุดอ่อนและความอ่อนแอของตัวเอง พยายามหาความขบขันในสถานการณ์ต่างๆ และในการต่อสู้ดิ้นรนของคุณ
แม้ว่าจะเป็นสถานการณ์ที่หนักหนาสาหัสมาก แต่บ่อยครั้งที่อารมณ์ขันก็ยังหาได้ในสถานการณ์เหล่านี้ ความสามารถที่จะหัวเราะ ทำให้เรายอมรับชีวิตอย่างที่มันเป็น ที่ไม่มีความสมบูรณ์แบบ แม้ว่าเราจะอยากมีชีวิตที่ดีกว่าหรือโลกที่ดีกว่าก็ตาม
4.การยอมรับ ไม่ใช่การยอมจำนนและการยอมแพ้ แต่ตระหนักว่าคุณก็กำลังต่อสู้ดิ้นรน และยอมรับว่าคุณมีขีดจำกัดของมนุษย์ เตือนตัวเองว่าความเป็นจริงที่เจ็บปวดทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นกับเรา กับคนที่เรารัก และเกิดขึ้นในโลกของเรา ยอมรับว่าคุณไม่อาจรู้ถึงปัจจัยทั้งหลายที่นำไปสู่เหตุการณ์เหล่านี้
ยอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นได้เกิดขึ้นไปแล้ว และคุณไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอดีตได้ แต่เตือนตัวเองว่า “เพื่อทำให้สถานการณ์นี้เป็นไปในทางที่ดีที่สุด ฉันจะต้องยอมรับความจริงตามที่มันเป็น”
คุณสมบัติทางความรู้สึก (Heart)
5.การให้อภัย วางมือไว้ที่หัวใจ และให้อภัยตัวเองไม่ว่าเรื่องใดที่คุณมีส่วนในการก่อปัญหาหรือสถานการณ์นี้ขึ้น ตระหนักว่าคุณเป็นเพียงแค่มนุษย์และย่อมไม่มีอะไรได้ดังหวังเสมอไป ถ้าคุณไม่เป็นผู้ทำร้ายก็เป็นผู้ถูกทำร้าย มองเห็นความเป็นมนุษย์ที่คุณมีร่วมกับผู้อื่น มีส่วนเกี่ยวข้องและให้อภัยพวกเขาเหล่านั้นในส่วนที่พวกเขากระทำและข้อจำกัดในฐานะที่เขาเป็นมนุษย์
ท่านทะไลลามะกล่าวว่า การให้อภัยไม่ได้หมายความว่าจะลืมในสิ่งที่ใครทำอะไรไว้ การไม่ตอบโต้ในทางลบหรือไม่แสดงอารมณ์เชิงลบ ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ตอบสนองต่อการกระทำนั้น หรือยอมให้ตัวเองถูกทำร้ายซ้ำอีก และไม่ได้หมายถึงการไม่แสวงหาความเป็นธรรม หรือผู้ก่อการไม่ต้องโดนลงโทษ
“แต่การให้อภัยเป็นหนทางเดียวที่จะเยียวยาตัวเราและปลดปล่อยเราจากอดีต” อาร์ชบิชอปกล่าวเสริม
6.ความรู้สึกขอบคุณ ขอบคุณในปัญหาที่เกิดขึ้นหรือในชีวิตของคุณตอนนี้ มองเห็นหนทางที่ปัญหาของคุณมีส่วนส่งเสริมชีวิตและการเจริญเติบโตของคุณหรือไม่ มีคนหรือสิ่งใดที่เกื้อหนุนส่งเสริมคุณในการเผชิญหน้ากับความท้าทายนี้ไหม
7.ความเมตตา ต่อตัวเองและต่อการต่อสู้ดิ้นรนของตัวเอง จำไว้ว่าความเมตตาเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาในการเติบโตและเรียนรู้ คุณไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นคนสมบูรณ์แบบ
ความทุกข์เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกหนี มันเป็นส่วนหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานแห่งชีวิต ความขุ่นข้องหมองใจย่อมเกิดขึ้นกับทุกชีวิตเป็นเรื่องธรรมดา เป้าหมายคือ นำมันมาใช้ในทางที่เป็นบวก
8.ความกรุณา รู้สึกถึงความกรุณาอันลึกซึ้งที่อยู่ในหัวใจ ความกรุณาไม่ใช่แค่การสละเงิน แต่การสละเวลาหรือให้ปัญญาผู้อื่น
คุณจะมอบของขวัญของตัวเองให้ผู้อื่นได้อย่างไร คุณจะเปลี่ยนปัญหาของตัวเองให้เป็นโอกาสในการให้แก่ผู้อื่นได้อย่างไร เมื่อเรามอบความเบิกบานให้ผู้อื่น เราก็จะประสบความเบิกบานกับตัวเอง
สรุปได้ว่าท่านทั้ง 2 มีแนวคิดให้ยึดที่ตัวเองเป็นหลัก แต่ให้มองผู้อื่นด้วยความเมตตา และกรุณา จึงเป็น “ความเห็นแก่ตัวอันชาญฉลาด”
ดังที่ท่านทะไลลามะบอกว่า“อันที่จริงแล้ว การห่วงใยผู้อื่น ในท้ายที่สุดแล้วก็คือหนทางในการค้นพบความเบิกบานของตัวเอง และมีชีวิตที่มีความสุข”